เผยแพร่ |
---|
ปัจจุบันชาวนากำลังประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ผลผลิตลดต่ำลง ส่วนหนึ่งเกิดจากเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่มีคุณภาพ การเพิ่มผลผลิตข้าวให้สูงขึ้นโดยการหันมาเลือกใช้เมล็ดข้าวพันธุ์ดีมีคุณภาพ จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับรายได้ให้แก่ชาวนาและยังเป็นการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันทั้งในด้านการเป็นผู้ผลิตและการส่งออกข้าวสู่ตลาดโลก กรมการข้าว จึงมีนโยบายที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มชาวนา โดยให้ความสำคัญกับศูนย์ข้าวชุมชนเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นองค์กรชาวนาที่มีความเข้มแข็งมั่นคงและเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาข้าวและพัฒนาศักยภาพชาวนาในแต่ละท้องถิ่น
นายขจร โนวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการผลิตข้าว เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กรมการข้าวได้รับแจ้งความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วประเทศประมาณ 60 ล้านไร่ หรือประมาณ 1,300,000 ตัน ซึ่งเมล็ดพันธุ์ส่วนนี้ มีผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์จากหลายภาคส่วน อาทิ กรมการข้าว ผลิตอยู่ประมาณ 90,000 – 120,000 ตัน ศูนย์ข้าวชุมชน ประมาณ 110,000 ตัน สหกรณ์การเกษตรประมาณ 40,000 ตัน และภาคเอกชนประมาณ 400,000 ตัน แต่ที่ผ่านมา การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวของเกษตรกรจากผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ที่นอกเหนือจากภาครัฐ ในบางฤดู พบว่ามีการร้องเรียนว่าไม่ได้คุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน จึงทำให้คุณภาพข้าวเปลือกของพี่น้องชาวนาไม่เป็นที่ต้องการของโรงสี ทำให้ชาวนามีรายได้ต่ำ ถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวนามากกว่าเดิม กรมการข้าว จึงเล็งเห็นความสำคัญของสารวัตรข้าว ให้เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุม กำกับ ดูแลภายใต้พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ช่วยให้ชาวนาได้รับความเป็นธรรมในการการเมล็ดพันธุ์สำหรับการเพาะปลูก
“ปัจจุบัน จำนวนของสารวัตรข้าว ซึ่งเป็นข้าราชการของกรมการข้าว ยังมีไม่เพียงพอต่อกลุ่มชาวนาที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 6,000 ตำบล 60,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ ดังนั้น สิ่งที่กรมการข้าวต้องการเป็นอย่างยิ่งคือการสร้างชาวนาอาสา ซึ่ง นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ได้มีนโยบายให้พี่น้องชาวนาเข้ามามีส่วนร่วมกับกรมการข้าว ด้วยการสมัครเป็นชาวนาอาสา กระจายทั่วประเทศ อย่างน้อยหมู่บ้านละ 1-3 คน ซึ่งจะได้ชาวนาอาสาไม่น้อยกว่า 180,000 คน รวมกับตัวแทนของศูนย์ข้าวชุมชน 6,000 ศูนย์ทั่วประเทศ ก็จะช่วยเป็นหูเป็นตาในการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวของพี่น้องชาวนาให้เป็นไปตามมาตรฐาน สอดคล้องกับ พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรลดลง มีผลิตผลิตและรายได้เพิ่มขึ้น”นายขจร กล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านศรีนคร อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ถือเป็นหนึ่งในศูนย์ข้าวชุมชนที่ มีบทบาทสำคัญในการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้กับชุมชนและเกษตรกรผู้สนใจเมล็ดพันธุ์ และผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้มาตรฐานตามหลักการของพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดย นางสาวชาญพิชญ์คูณ ประสุขทวีสิน ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านศรีนคร เปิดเผยว่า กลุ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2556 แต่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นศูนย์เข้าชุมชนเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 มีจุดแข็งคือสมาชิกทั้งหมดเน้นทำนาให้มีคุณภาพ โดยทำนาดำเป็นหลักเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ตรงตามมาตรฐาน GAP : Seed จำหน่ายให้กับกรมการข้าว เกษตรกรในชุมชนและเกษตรกรนอกพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ ภายใต้ข้อกำหนดของพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตั้งแต่กระบวนการปลูก การเก็บเกี่ยว การปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ และการบรรจุภัณฑ์เพื่อจำหน่าย โดยมี กรมการข้าวได้เข้ามาสนับสนุน ตั้งแต่องค์ความรู้ด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวดีมีคุณภาพ การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว การสนับสนุนเครื่องจักร เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือในกิจกรรมการต่างๆ เป็นต้น โดยพันธุ์ข้าวที่ศูนย์ฯ ผลิต ประกอบด้วย พันธุ์ กข49 กข61 กข41 กข85 พิษณุโลก2 และพันธุ์ กข95 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวน้องใหม่ที่มีต้นกำเนิดจากแปลงทดลองวิจัยของศูนย์ฯ และได้ผ่านการรับรองพันธุ์จากกรมการข้าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“การส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยีต่างๆ ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว จากกรมการข้าว ทำให้ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านศรีนคร มีความเข้มแข็ง สามารถเลี้ยงตัวเองได้จากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ข้าวสาร และข้าวแปรรูปต่าง ๆ โดยในแต่ละปีทางศูนย์ข้าวชุมชนบ้านศรีนครจะมียอดจำหน่ายพันธุ์ข้าวได้เฉลี่ย 600-800 ตัน สร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับสมาชิก ทางศูนย์ฯ จึงมีความมุ่งมั่นที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวดีมีคุณภาพให้กับชุมชนและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป ซึ่งหากเกษตรกรท่านใดต้องการพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน GAP : Seed ติดต่อได้ที่ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านศรีนคร โทร.061-1564563 หรือทางเพจเฟสบุ๊ค ศรีนครพันธุ์ข้าว”นางสาวชาญพิชญ์คูณ กล่าวทิ้งท้าย