ลาออกจากงานประจำ สานต่อสวนสะละแม่ 4.5 ไร่ ทำรายได้หลักหมื่น

สะละพันธุ์สุมาลี มีลักษณะลำต้นคล้ายระกำ ทางใบยาวมีสีเขียวอมเหลือง ใบใหญ่กว้างและมีปลายใบสั้นกว่าพันธุ์เนินวง หนามของยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่มีสีส้มอ่อน คานดอกยาว ช่อใหญ่ ติดผลง่าย มีรูปร่างป้อมสั้น สีเนื้อคล้ายสะละเนินวง มีเนื้อหนากว่าระกำ แต่บางกว่าพันธุ์เนินวง มีรสหวาน มีกลิ่นเฉพาะ เจริญเติบโตเร็ว และทนต่อสภาพแสงแดดจัดได้ดีกว่าพันธุ์เนินวง
สะละเป็นพืชที่โตเร็วปลูก 3 ปี ก็ได้เก็บผลผลิตขาย และออกผลตลอดทั้งปี ที่สำคัญสะละสามารถปลูกร่วมกับพืชอื่นๆ ได้ อย่างเช่น หมาก ยางพารา ทุเรียน ก็สามารถปลูกได้เช่นกัน เพราะสะละต้องการแค่แสง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สะละเป็นพืชที่ไม่มีรากแก้ว เมื่อลมพัดแรงๆ จะทำให้เอนล้มได้จึงจำเป็นต้องทำเสาให้

คุณจตุพงศ์ สุมา ลูกชายผู้ดูแลสวน
สวนสะละรดน้ำระบบสปริงเกลอร์

และเสายังให้ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือ โยงคานลูก ถ้าไม่โยงเมื่อคานหักก็จะทำให้เสียหายได้ และยังสามารถใส่รหัสของต้นนั้นๆ ได้อีกด้วย ง่ายและสะดวกต่อการดูแล สะละที่ขายผลสดจะอร่อย หอม หวาน และสะละที่เก็บผลผลิตได้นั้น สามารถนำมาแปรรูปได้ ทั้งสะละลอยแก้ว น้ำสะละ สะละกวน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตได้อีกด้วย

คุณจตุพงศ์ สุมา หรือ คุณกิ๊ก อยู่บ้านเลขที่ 154 หมู่บ้านป่าสงวน ตำบลละอาย อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกสะละสุมาลี คุณจตุพงศ์ เล่าว่า สวนสะละสุมาลีแห่งนี้อยู่บนเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน เป็นสวนของ คุณสาคร สุมา (คุณแม่) ซึ่งคุณแม่เป็นอดีตข้าราชที่เกษียณอายุแล้ว คุณแม่ได้เริ่มการเพาะปลูกสวนสะละแห่งนี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 โดยได้ต้นพันธุ์มาจากศูนย์การเรียนรู้ปราชญ์เกษตรอินทรีย์ อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง โดยตอนนั้นจำหน่ายอยู่ที่ต้นละ 350 บาท

ต้นสะละผลดกมาก
คุณแม่สาคร สุมา อายุ 76 ปี (เจ้าของสวน)

ปัจจุบันในสวนมีสะละทั้งหมด 91 ต้น โดยแบ่งเป็นต้นตัวเมีย 80 ต้น ต้นตัวผู้ 11 ต้น สวนเป็นแบบผสมผสาน มีต้นมะพร้าวพันธุ์ชุมพร กาแฟพันธุ์โรบัสต้า ที่ปลูกแซมร่วมกันเป็นพืชพึ่งพาซึ่งกันและกันได้

คุณจตุพงศ์อดีตเคยทำงานประจำที่บริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี แต่มาถึงจุดที่พลิกผันต้องออกจากงานประจำเพราะเกิดโรคระบาดโควิด-19 และในตอนนั้นเองภรรยาก็กำลังตั้งครรภ์ ด้วยหน้าที่และงานของคุณจตุพงศ์ต้องพบเจอผู้คนมากมาย ทำให้อาจนำโรคระบาดมาติดภรรยาและลูกได้ จึงได้ปรึกษากับคุณแม่ และเลือกที่จะลาออกจากงานประจำพร้อมกับภรรยา กลับมาสานต่อธุรกิจสวนสะละของคุณแม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่สะละให้ผลผลิตในครั้งแรกพอดี

คุณจตุพงศ์ กล่าวว่า เริ่มแรกของการหาตลาดมาจากคุณพ่อ เนื่องจากคุณพ่อรู้จักคนในพื้นที่เยอะ จึงได้นำแพ็กใส่ถุงจำหน่ายที่ 100 บาทต่อถุง 1 ถุงมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม เน้นการขายปลีกภายในหมู่บ้านและบริเวณใกล้เคียง และนำไปจำหน่ายต่อที่ตลาดชุมชน

เนื้อด้านในสะละสุมาลี

วิธีปลูกสะละ

ขุดหลุมปลูก ให้มีความลึกประมาณ 30 เซนติเมตร จากนั้นวางต้นพันธุ์ลงหลุมและกลบด้วยดินจนดินอยู่ในระดับที่เทียบเท่ากับผิวดิน ต้นกล้าที่พร้อมลงแปลงปลูกต้องมีอายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี มีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร

การปลูก ระยะห่างของต้นทั้ง 4 ด้าน ควรห่างกันด้านละ 2 เมตร เพื่อเว้นระยะให้ทางใบของต้นสะละที่จะเติบโตในอนาคต ให้ไม่เบียดกัน แสงแดดและอากาศสามารถเข้าถึงได้ ในการเพาะปลูกจะปลูกในช่วงฤดูฝน ทำให้พืชที่ต้องการน้ำมากเพื่อการเจริญเติบโต ได้รับน้ำที่เพียงพอ

การรดน้ำ ในช่วงฤดูฝนไม่จำเป็นต้องรดน้ำ เพียงแต่ต้องหมั่นสังเกตหน้าดิน ห้ามให้หน้าดินแห้ง หน้าดินต้องมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ทางสวนใช้สปริงเกลอร์ในการรดน้ำ ช่วงฤดูร้อนหรือช่วงที่ฝนไม่ตกจำเป็นต้องรดน้ำ การรดน้ำจะรดในช่วงเช้า-เย็น โดยจะเปิดน้ำรดเป็นแถว แถวละ 10 นาที

คุณพ่อบัญชา สุมา ฝ่ายขาย

ปุ๋ย ทางสวนจะเน้นในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อาจมีใช้ปุ๋ยสูตรบ้าง แต่อยู่ในปริมาณที่น้อยมากๆ โดยปุ๋ยอินทรีย์ที่จะให้สม่ำเสมอคือ ปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ด จะใส่ทุกๆ 2 เดือน เพื่อบำรุงใบ และน้ำหมักจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงที่ทำเอง ใช้สำหรับฉีดพ่นบำรุงดอกและผล ใส่ทุกๆ เดือน เดือนละ 1 ครั้ง โดยใช้เครื่องบดทางมะพร้าว เพื่อทำปุ๋ยหมักเอง สูตรของแม่โจ้ ทำให้ต้นสะละออกดอกได้เต็มที่ ส่งผลให้ลูกสะละดก รสชาติหวาน และลดการใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด

การผสมเกสร ต้นสะละจะมีเกสรเมื่อต้นมีอายุครบ 3 ปี เมื่อเกสรออกแล้วผู้ปลูกจำเป็นต้องช่วยผสมเกสร โดยการนำเกสรจากต้นตัวผู้ไปถูๆ เขย่าๆ ใส่เกสรตัวเมียที่บานแล้ว จากนั้นผู้ปลูกต้องทำสัญลักษณ์ติดไว้ที่ต้น เช่น การผูกริบบิ้น พร้อมกับเขียนวันที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าต้นนี้ผ่านการผสมเกสรแล้ว และนับไปอีก 8 เดือน ต้นสะละก็จะออกผลผลิตมาให้ได้เก็บแล้ว

หากไม่ผสมเกสรก็จะทำให้เสียผลผลิตไปหลายกิโลกรัม เพราะดอกสะละ 1 ดอก สามารถให้ผลผลิตได้ 0.8-1.2 กิโลกรัม ดังนั้น ควรผสมเกสรในทุกๆ วัน 1 ทะลายจะมีดอกย่อย 15-20 ดอก สามารถขายได้ 1,000 บาทต่อทะลาย

ปัจจัยหลักของการปลูกสะละยังไงให้หวาน คือ น้ำ สะละเป็นพืชที่ชื่นชอบน้ำมาก การรดน้ำจึงจำเป็นอย่างมาก หน้าดินห้ามแห้ง และปุ๋ยหมัก ปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ด ต้องใส่ให้ตรงช่วงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาคุณภาพสารอาหารในดิน และต้องผูกทางใบสะละห้ามให้ผลผลิตวางบนพื้น เพราะอาจทำให้โดนน้ำ มด แมลง กัดกิน ทำให้ผลผลิตเสียหาย และอาจเกิดเชื้อราได้ทำให้ไม่ได้คุณภาพ

แปรรูปสะละลอยแก้ว

โรคพืชและโรคแมลง

โรคพืช สะละมักพบเจอได้มากกับโรคเชื้อรา จำเป็นต้องทำให้ต้นสะอาด โคนต้น การผูกทางใบ และการตัดแต่งทางใบสามารถช่วยไม่ให้เกิดเชื้อราได้ และสาเหตุของลูกเน่า (ผลผลิตที่เน่า) เกิดจากการไม่ผูกทางใบ เมื่อผลผลิตออกแล้ว ถูกปล่อยวางไว้ที่พื้นทำให้ถูกแช่น้ำ ก็ส่งผลให้ลูกเน่า และมีเชื้อราตามมาได้

โรคแมลง มดมักจะมากัดกินผลผลิต ทางสวนจะทำเหยื่อล่อ โดยใช้สำลีชุบน้ำเชื่อมที่ผสมกับผงบอแรกซ์ นำมาวางไว้ที่โคนต้น เพื่อเป็นเหยื่อล่อไม่ให้มดกัดกินผลผลิต

สิ่งที่ควรระวังนอกเหนือจากโรคพืชและโรคแมลง

หากตัดสะละเกินกำหนดระยะเวลา ลูกสะละจะมีรสชาติจืด หรือถ้าตัดก่อนเวลาสะละก็จะมีรสชาติเปรี้ยว หรือเปรี้ยวๆ หวานๆ ดังนั้น ไม่ควรตัดสะละเกินกำหนดหรือห่างกันหลายวันจนเกินไป และในสะละ 1 พวง จะมีลูกเน่าซ่อนอยู่ ต้องคอยสังเกตและทำการตัดแต่งลูกสะละไม่ให้หนาแน่นจนเกินไป ปัญหาสะละร่วงหลุดจากพวง ตั้งแต่เก็บมาจากต้น การแก้ไขคือ พยายามอย่าให้สะละเป็นเชื้อรา เพื่อให้ลูกสะละติดเป็นพวงและแข็งแรงมากขึ้น

การตัดผลผลิต ทางสวนจะตัดทุก 5 วัน เพื่อทิ้งระยะเวลาให้ต้นสะละบางต้นหวานขึ้นอีกนิด จึงสามารถตัดขายได้ ก่อนตัดผลผลิตต้องชิมก่อนว่ามีรสหวานแล้วหรือยัง เพราะบางต้นอาจต้องทิ้งระยะไว้อีก 1-2 วัน ถึงจะมีรสหวาน หลังจากเก็บเกี่ยวต้องนำมาฉีดน้ำล้างให้สะอาดก่อนนำไปขาย เพื่อให้ลูกสะละดูสดใส พร้อมกิน ไม่มีดินหรือความสกปรกติดอยู่

การดูแลหลังตัดผลผลิต

เมื่อต้นผลผลิตหมดต้นแล้ว จำเป็นต้องตัดทางใบบางส่วนทิ้ง ให้เหลือทางใบที่แข็งแรงที่สุดไว้ ให้ต้นสะละดูไม่รกจนเกินไป เพราะหากทางใบเยอะมากๆ จะทำให้มีเชื้อราได้ เมื่อตัดทางใบเพื่อตัดแต่งต้นแล้ว ต้องผูกเชือกโอบทางใบขึ้นไป ไม่ให้แผ่ออก เพราะทางใบของแต่ละต้นอาจชนกัน และทำให้เกษตรกรดูแลภายในสวนยากยิ่งขึ้น

จากนั้นรดน้ำและเริ่มใส่ปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ด และนับไปอีก 2 เดือน จึงจะเริ่มฉีดพ่นน้ำหมักจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง และวนไปใส่ปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ดอีกครั้ง ตามวิธีใส่ปุ๋ยที่ได้กล่าวไป

คุณรุ่งนภา สุมา ภรรยาผู้ดูแลตลาดออนไลน์

ตลาด

ทางสวนเน้นการขายปลีก เนื่องจากผลผลิตเพิ่งออกสำหรับการปลูกครั้งแรก ทำให้ผลผลิตยังไม่เพียงพอในการขายส่ง แต่คาดว่าในปีต่อๆ ไป ผลผลิตจะได้จำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน เน้นขายตลาดหมู่บ้าน ตลาดชุมชน โดยมีฝ่ายขายเป็นคุณพ่อ และตลาดออนไลน์ มีภรรยาคุณจตุพงศ์ เป็นฝ่ายขายตลาดออนไลน์ มีการสั่งจองล่วงหน้า 2-3 วัน ราคาขายปลีกตลาดออนไลน์ อยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมจัดส่ง) การจัดส่งรูปแบบออนไลน์ ใช้เวลาเพียง 1-2 วัน หากช้าสุดไม่เกิน 3 วัน และนอกจากนี้ ยังมีสะละแปรรูป อย่างสะละลอยแก้วอีกด้วย

“การปลูกสะละ ผลผลิตจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความขยัน ความใส่ใจของผู้ปลูก สะละเป็นพืชผลที่ต้องการการดูแลในทุกๆ วัน หากผู้ปลูกมีความขยันในการผสมเกสร ที่ต้องทำในทุกๆ วัน ไม่ต่างจากงานประจำ แต่ได้ทั้งความสุขและเวลาที่เพิ่มมากขึ้นให้แก่ครอบครัว ผลผลิตในปีแรกอาจไม่มาก แต่สามารถสร้างรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน แต่รับรองว่าในปีต่อๆ ไป ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โกยรายได้งามๆ ต่อเดือน และยังมีรายได้เข้ามาตลอดทั้งปี”

ท่านใดที่สนใจ สะละสุมาลี สะละลอยแก้ว ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณจตุพงศ์ สุมา หรือ คุณกิ๊ก อายุ 36 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 154 หมู่บ้านป่าสงวน ตำบลละอาย อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช โทรศัพท์ 095-384-3498 ติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก : สวนสะละแม่สาคร จ.นครศรีธรรมราช