เผยเทคนิค “ปลูกมัลเบอร์รี” ให้ผลดก ออกผลนอกฤดู

มัลเบอร์รีมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ มีแหล่งกำเนิดกระจายกว้างขวางทั่วโลก ตั้งแต่เขตร้อน เขตอบอุ่น เขตหนาว วัตถุประสงค์หลักเป็นการปลูกเพื่อนำใบไปเลี้ยงไหม แต่มีอีกหลายสายพันธุ์มีการพัฒนานำไปใช้ประโยชน์ด้านการรับประทานสด ด้านการแปรรูป การปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารบ้านเรือน สถานที่สาธารณะต่างๆ ตลอดจนเป็นพืชอาหารสำหรับสัตว์ป่า

ต้นหม่อน หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า “มัลเบอร์รี” (mulberry) เป็นไม้ยืนต้น ที่อยู่ในวงศ์เดียวกับต้นปอสา ขนุน และโพธิ์ ฯลฯ มีคุณค่าทางแร่ธาตุและวิตามินมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทุกวันนี้ใบและผลหม่อนจึงถูกนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในลักษณะ “อาหาร และเครื่องดื่ม” หลากหลายรูปแบบ เช่น ชาวอีสานยังนิยมนำยอดหม่อนและใบหม่อนมาปรุงใส่อาหารเมนูพื้นบ้าน เช่น ต้มยำไก่ ฯลฯ นอกจากนี้ ใบหม่อนยังสามารถแปรรูปเป็นชาชงดื่ม เพื่อลดความดันโลหิตสูง มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด

มัลเบอร์รี สามารถเจริญเติบโตและปรับตัวได้ดีในหลายสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกแบบไม่มีการจัดการแต่ยังสามารถให้ผลผลิตปีละ 1-2 ครั้ง ในช่วงที่อากาศอบอุ่นหรือช่วงฤดูร้อน ทนทานต่อโรคและแมลงได้เป็นอย่างดี จึงเป็นไม้ผลที่มีศักยภาพสูงในการผลิตเชิงระบบเกษตรอินทรีย์เพราะไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตผลมัลเบอร์รีเป็นที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ มีทั้งขนาดผลสั้นและผลยาวสีขาวแดงและม่วงเข้ม สามารถรับประทานสดและแปรรูปได้หลากหลาย เช่น แต่งหน้าเค้ก ทำแยม น้ำมัลเบอร์รีเข้มข้น น้ำมัลเบอร์รีพร้อมดื่ม เป็นต้น

การขยายพันธุ์มัลเบอร์รีสามารถทำได้หลากหลายวิธี

1. ปักชำลงในแปลง โดยเลือกกิ่งมัลเบอร์รีที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป (สังเกตกิ่งเป็นสีน้ำตาล) นำมาตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร จุ่มด้วยยาป้องกันเชื้อราที่โคนกิ่ง จากนั้นเตรียมแปลงผสมปุ๋ยคอก แกลบเผา แกลบดิบ ปรับสภาพแปลงให้มีความร่วนซุยแล้วจึงปักท่อนกิ่งพันธุ์ให้ห่างกันระยะ ประมาณ 10×10 เซนติเมตร ลึกลงในวัสดุชำประมาณ 3 ใน 4 ส่วน แล้วจึงคลุมแปลงด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ฟางข้าว เศษหญ้าแห้ง แกลบ ฯลฯ เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดด ช่วยรักษาความชื้น ป้องกันการงอกของวัชพืช และรดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอจนกว่าอายุได้ 6 เดือน ก็สามารถนำไปปลูกได้

2. ปักชำในถุงพลาสติก วิธีนี้คล้ายกับการปักชำในแปลง แต่ต่างกันที่เปลี่ยนจากแปลงมาเป็นชำในถุงพลาสติกขนาด 3×10 นิ้วแทน วัสดุชำประกอบด้วยดินดำ : แกลบดิบหรือแกลบเผา : ปุ๋ยคอกในอัตราส่วน 3 : 3 : 3 หลังปักชำแล้วประมาณ 3 เดือนก็สามารถนำต้นกล้ามัลเบอร์รีไปปลูกได้

3. การตอนกิ่ง เหมือนการตอนกิ่งไม้ผลทั่วไป ซึ่งทำได้ง่ายๆ ดังนี้ เลือกกิ่งที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ให้มีความยาวกิ่งประมาณ 1.50 เมตร เหตุผลที่ต้องเลือกกิ่งยาว 1.50 เมตร เพราะช่วยย่นระยะเวลาในการปลูกหม่อนให้รวดเร็วขึ้น (เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีกิ่งพันธุ์จำนวนมากๆ) หลังตอนกิ่งทิ้งไว้ 30 วันก็จะเริ่มแตกรากออกมา รอต่อไปอีกจนครบ 45 วัน รากก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจึงตัดกิ่งนำมาปักชำในถุงทิ้งไว้ 2-3 เดือน ก็สามารถนำไปปลูกในแปลงได้

4. การติดตาบนต้นตอในกรณีที่เกษตรกรมีต้นตอมัลเบอร์รีเดิมอยู่แล้ว วิธีนี้จะเป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ดีและรวดเร็วที่สุด โดยการตัดแต่งต้นตอเดิมให้มีกิ่งเหลือแค่ 1 กิ่ง แล้วเลือกตำแหน่งที่จะทำการติดตาสำหรับเทคนิคการผลิตมัลเบอร์รีระบบค้างนี้ ขอแนะนำให้ทำการติดตาที่ระดับความสูงจากพื้นดินขึ้นไป 40-50 เซนติเมตร โดยวิธีติดตาแบบชิพบัดดิ้ง (chip budding) ทิ้งไว้ 30 วัน เพื่อให้รอยแผลเชื่อมกันก่อน แล้วจึงตัดยอดต้นตอบริเวณเหนือรอยแผลขึ้นไป ประมาณ 1 นิ้ว ออกทิ้งแล้วปล่อยให้ตาพันธุ์ดีเจริญเติบโตต่อไป

การจัดทำค้าง

มัลเบอร์รีเป็นไม้ยืนต้น เมื่อนำมาจัดการกิ่งขึ้นค้างถือเป็นเทคนิคการจัดการแบบใหม่ จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงนิสัยการเจริญเติบโต เพราะมัลเบอร์รีจะติดดอกออกผลบนยอดอ่อนที่แตกขึ้นมาใหม่ ดังนั้น หลักการคือต้องทำให้มีการแตกยอดอ่อนอยู่เสมอจึงจะได้ผลผลิตอย่างเสมอเช่นกัน การจัดกิ่งมัลเบอร์รีจึงต้องทำให้โค้งลงแบบคันธนู เพื่อบังคับหรือกระตุ้นให้ยอดอ่อนแตกออกมาตามบริเวณกิ่ง cane

ดังนั้น ถ้าเราทำการจัดเรียงกิ่ง cane ให้เป็นระเบียบแบบก้างปลาบนค้าง และบังคับให้กิ่ง cane มีขนาดและความยาวของกิ่งที่สม่ำเสมอกันทั้งต้น จะได้จำนวนกิ่ง cane ประมาณ 40 กิ่งต่อต้น (ระยะปลูกระหว่างแถว 3 เมตร ระหว่างต้น 3 เมตร) ในแต่ละกิ่ง cane จะมีความยาวประมาณ 1-1.50 เมตรสามารถบังคับให้เกิดยอดใหม่ได้ 15-20 ยอดใหม่จะทำให้ได้ผลผลิตยอดละประมาณ 10 ผลจะทำให้ได้ผลผลิตประมาณ 150-200 ผลต่อกิ่ง

นอกจากนี้ การจัดกิ่งบนค้างจะทำให้ง่ายต่อการประมาณการผลผลิตโดยการไว้จำนวนกิ่ง ประมาณ 30 กิ่ง cane ต่อต้น จะให้ผลผลิตประมาณ 450-600 ผลต่อต้นหรือปริมาณ 2-3 กิโลกรัม ราคาจำหน่าย 200 บาทต่อกิโลกรัม จะได้ 400-600 บาทต่อต้น และจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเมื่อต้นมีอายุมากขึ้น โดยสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกๆ 2-3 เดือน ทำให้มีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อจำหน่ายแบบรับประทานสด หรือแปรรูปเป็นน้ำพร้อมดื่ม แยม และอื่นๆ ได้ตามต้องการ

โดยทั่วไปแล้วต้นมัลเบอร์รีจะเริ่มแทงช่อดอกในช่วงฤดูหนาวราวเดือนมกราคม แล้วติดผลเก็บเกี่ยวได้ในเดือนมีนาคม ถึงเมษายน ทั้งนี้ ต้องขึ้นกับอยู่หลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการติดดอกออกผล ปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลักๆ ได้แก่ การสะสมอาหารในลำต้นมีความอุดมสมบูรณ์เพียงใด ปกติไม้ผลทุกชนิดต้องมีการเจริญเติบโตทางด้านลำต้น (vegetative growth) ในระยะหนึ่งก่อน แล้วเข้าสู่ระยะการติดดอกออกผล

เปิดเทคนิคมัลเบอร์รีลูกดก ออกผลนอกฤดู

ถ้าดินดีน้ำดีไม่ถึงปีก็สูงท่วมหัว ได้เวลาบังคับให้มัลเบอร์รีออกผลดก ซึ่งมีหลายวิธี ดังนี้

วิธีที่ 1 โน้มกิ่ง

มัลเบอร์รีจะแตกกิ่งชี้ฟ้า ไม่ต้องทำอะไรก็ออกลูก แต่อาจจะไม่ดก ให้เราดึงปลายกิ่งโน้มลงมา แล้วใช้เชือกผูกปลายไว้ เพียงเท่านี้มัลเบอร์รีก็จะออกผลดกเต็มกิ่งจนเก็บรับประทานกันไม่ทัน

วิธีที่ 2 ริดใบ

ถ้ามัลเบอร์รีออกลูกน้อย หรือไม่ดก จะใช้วิธีเด็ดใบทิ้งให้หมดก็ได้ มัลเบอร์รีจะเกิดอาการเครียดแล้วออกผลดกมาก วิธีนี้จะใช้ร่วมกับวิธีแรกก็ได้

วิธีที่ 3 ตัดแต่งกิ่ง

ลำดับแรกไม่ว่ามัลเบอร์รีจะสูงแค่ไหนก็ตัดยอดออกให้หมด ให้เหลือต้นสูงไม่เกินเมตร เมื่อมัลเบอร์รีแตกกิ่ง แตกยอดใหม่ก็จะออกดอกและติดผลดก

เมื่อเก็บผลหมดแล้ว ตอนนี้กิ่งที่แตกมาใหม่จะยาวมาก ให้ตัดกิ่งใหม่ทั้งหมดออกที่ความสูงประมาณ 1.3 เมตร แล้วปล่อยให้มัลเบอร์รีแตกกิ่งแตกยอดใหม่และติดผลดอกเหมือนเดิม เมื่อเก็บผลหมดแล้วก็ทำแบบเดิมอีกครั้งคือ ตัดกิ่งตัดยอดมัลเบอร์รีที่ความสูงประมาณ 1.6 เมตร กิ่งและยอดที่แตกใหม่จะให้ผลดกอีกครั้ง เมื่อเก็บผลหมดอีกครั้ง คราวนี้มัลเบอร์รีต้นจะสูงมากจนเก็บผลไม่ถึง ให้ตัดกิ่งตัดยอดออกให้หมดที่ความสูงแรกคือ สูงไม่เกินเมตร เราก็จะได้มัลเบอร์รีต้นเตี้ยๆ ที่ออกผลดก และเก็บผลง่ายอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร / npkthailand.com