งานวิจัยใหม่เตือน นอนไม่หลับทำ ‘อายุสั้น’

งานวิจัยใหม่ 2 ชิ้นแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่นอนหลับไม่เพียงพอหรือนอนหลับต่อเนื่องไม่ถึง 7 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากจะก่อให้เกิดโรคและภัยอันตรายสารพัดแล้ว ยังทำให้อายุสั้นลงกว่าที่ควรจะเป็นอีกด้วย

งานวิจัยของ อดัม เคราส์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ เจอร์นัล เนเจอร์ รีวิวส์ นิวโรไซน์ซ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ผู้ที่นอนหลับไม่ถึง 7 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากจะทำให้ความทรงจำและความสามารถในการเรียนรู้ได้รับผลกระทบอย่างหนักแล้ว ยังส่งผลให้ช่วงชีวิตของบุคคลดังกล่าวสั้นลงอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่นอนหลับไม่เพียงพอ มีแนวโน้มที่จะลดความกระตือรือร้นลง ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน มีอัตราเสี่ยงที่จะเป็นโรคระบบหัวใจหลอดเลือดและโรคเกี่ยวกับกระบวนการเผาผลาญอาหาร อาทิ โรคความดันและโรคเบาหวาน สูงกว่าปกติ

ในขณะที่งานวิจัยของ เคท สปรีเชอร์ นักวิจัยประจำห้องปฏิบัติการการนอนและนาฬิกาชีวภาพ ของมหาวิทยาลัยโคโลราโด บุลเดอร์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร นิวโรโลจี พบว่า การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือภาวะนอนน้อย ทำให้สมองและความคิดทำงานแย่ลงมาก การตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่ๆ อย่างเช่น อุบัติเหตุนิวเคลียร์เชอร์โนบิล หรือกรณีอุบัติเหตุเรือเอ็กซ์ซอน วัลเดซ ล้วนเริ่มต้นจากการนอนไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับที่การขับรถในขณะง่วง ก่อให้เกิดอุบัติเหตุเป็นจำนวนมาก

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวระบุว่า ภาวะนอนหลับไม่เพียงพอยังทำให้สมองมีโปรตีน แอมีลอยด์ เบตา และทาอู เกิดขึ้นมากกว่าปกติโปรตีนทั้งสองชนิดนั้นเกี่ยวพันกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ขึ้นนั่นเอง