พลังศรัทธา

เวลาที่ใครจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จ จะต้องมีองค์ประกอบมากมายหลายอย่าง ที่เป็นเครื่องมือในการเดินทางไปสู่ความสำเร็จ หนึ่งในบรรดาเครื่องมือนั้น ต้องมี ศรัทธา คือความเชื่อมั่น เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนองค์ประกอบอื่นๆ ให้ไปสู่เป้าหมาย เหมือนการขับรถยนต์หรือยานพาหนะอื่นๆ ไปสู่จุดหมายปลายทางนั่นแหละ

หากมาศึกษาถึงธรรมะอันเสริมกำลังตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้มี 5 ประการ คือ

1. ศรัทธา แปลว่า ความเชื่อมั่น
2. วิริยะ ความพากเพียรพยายาม ทำในสิ่งที่เชื่อมั่นนั้นให้บรรลุผล
3. สติ ความระลึกรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในเรื่องที่กำลังกระทำอยู่
4. สมาธิ ความตั้งมั่น เมื่อมีศรัทธาในสิ่งใด ย่อมมุ่งมั่นในสิ่งนั้น
5. ปัญญา ความรอบรู้ในเรื่องราวต่างๆ ที่กำลังกระทำนั้น
จะเห็นได้ว่า ศรัทธา เป็นผู้นำแห่งธรรมอันเสริมพลังอื่นๆ

ทีนี้ก็มาดูกันต่อไปว่า ศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีอย่างไรบ้าง

ศรัทธาแบบพุทธ จะต้องเชื่อมั่นในกรอบ 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ
1. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อมั่นในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มี 3 เรื่องหลักๆ คือ

การตรัสรู้ เรื่องที่ 1 ทรงระลึกชาติ ที่พระองค์เคยเกิดมาก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้าย้อนหลังไปได้เป็น 100 เป็น 1,000 ชาติ พวกเราไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย จะย้อนหลังกลับไปดูสักชาติก็ยังไม่มีปัญญา เราจึงเคารพพระองค์ผู้ทรงความรู้ในส่วนนี้ยิ่งนัก

การตรัสรู้ เรื่องที่ 2 คือ ตรัสรู้เรื่องสัตว์ทั้งหลาย พระองค์ทรงทราบว่า ที่มาของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาบนโลกนี้เป็นอย่างไร พระองค์จึงเป็นผู้รู้ผู้เห็นว่า สัตว์ทั้งหลาย ก่อนจะเกิดมาจากไหน หลังจากตายแล้วจะไปที่ไหนต่อ พระองค์ทรงมีคำตอบที่สมบูรณ์อย่างไม่ต้องคาดเดา พวกเราจึงเคารพนับถือพระองค์ยิ่งนัก จนยกให้เป็นผู้นำชีวิตของเราอย่างไม่ลังเลสงสัย

การตรัสรู้ เรื่องที่ 3 คือ เรื่องการสิ้นกิเลสทั้งหลายทั้งหยาบและละเอียดอย่างไม่มีส่วนเหลือ เมื่อสิ้นไปแล้วไม่เกิดอีก ไม่มีความทุกข์เหลืออีกเลย เป็นอิสระเหนืออำนาจของกิเลสทั้งปวง

เมื่อมามองเรา กิเลสไปๆ มาๆ วันหนึ่งนับไม่ถ้วน จิตใจถูกกระชากลากถูด้วยอำนาจของกิเลสด้วยความเจ็บปวดระบม เสมือนทาสที่ถูกเฆี่ยนตีอยู่ทุกชั่วโมงยาม แต่พระองค์คือ อิสรชน คนพ้นจากความเป็นทาสอย่างแท้จริง ทรงเป็นต้นแบบของผู้อยู่เหนือกิเลส สูงส่งดำรงสถานะแห่งผู้ทรงบริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ทรงมีมหากรุณาอันหาที่สุดมิได้

ทรงพระปัญญาอันยิ่งใหญ่ที่ตัดกิเลสออกไปอย่างไม่หลงเหลือแล้วทรงบอกให้พวกเราที่กำลังเป็นทาสของกิเลสจงลุกขึ้นสู้ๆ ด้วยความพากเพียรเพื่อจะได้พ้นจากความเป็นทาส ได้พบกับวันเวลาแห่งอิสรภาพ

พระองค์ชี้ทางให้ได้แต่เราผู้ตระหนักถึงความเจ็บปวดจากการบีบคั้นของกิเลสต้องพยายามเอง พระองค์ทรงชี้ทางออก ให้เราผู้เป็นทาสต้องออกไปเอง เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้นำแห่งการต่อสู้เพื่ออิสรภาพที่พระองค์ได้รับอิสรภาพแล้วนี้ พวกเราที่ยังถูกย่ำยีบีทาจากกิเลสจึงเคารพนับถือพระองค์เหนือเกล้าเหนือเศียรยกให้พระองค์ทรงเป็นผู้นำพวกเราสู่อิสรภาพอย่างสุดจิตสุดใจ

2. กัมมสัทธา แปลว่า เชื่อการกระทำ พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วว่า การกระทำ ทางกาย วาจา และใจ คือ พลังขับเคลื่อนแห่งสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปอย่างนั้นบ้างอย่างนี้บ้างดั่งที่พระองค์ตรัสว่า สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม หรือ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้หยาบบ้างละเอียดบ้าง จะดีจะชั่วอยู่ที่การกระทำ ความเชื่อเรื่องกรรมทำให้มนุษย์สามารถปรับปรุงตนเองด้วยการสร้างกรรมดีเพื่อให้ชีวิตดียิ่งๆ ขึ้นไป

3. วิปากสัทธา แปลว่า เชื่อในผลของกรรม พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า หว่านพืชเช่นใดได้ผลเช่นนั้น ทำดี ได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว กล่าวคือ ผลแห่งการกระทำย่อมสอดคล้องต้องกันกับเหตุที่ได้กระทำไว้แล้วเสมอ ไม่แปรเปลี่ยนไปอย่างอื่น

เมื่อมนุษย์เข้าใจและเชื่อมั่นในหลักผลแห่งกรรมแล้ว ว่าทำอย่างไร ได้อย่างนั้น ก็มีกำลังใจ ในการละการกระทำชั่ว และสะสมการกระทำความดี เพราะจะได้เพิ่มผลดีๆ ให้กับชีวิต นี่คือ พลังแห่งศรัทธาที่จะนำพาไปสู่ชีวิตที่ดีงามด้วยผลแห่งการกระทำของตน

4. กัมมัสสกตาสัทธา ความเชื่อว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ทำกรรมใดไว้ ย่อมรับผลแห่งกรรมนั้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงหรือถ่ายโอนไปหาใครได้

ความเชื่อในข้อนี้ ช่วยให้มนุษย์เข้าใจข้อจำกัดของกันและกัน แล้วเกิดความเมตตาสงสารต่อกันแทนที่จะเกลียดชังพยาบาทอาฆาตมาดร้ายต่อกัน เพราะทุกคนสะสมการทำ การพูด และการคิดมาเช่นนั้น จะเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันด่วนมิได้ หรือแม้จะใช้เวลาเนิ่นนานเท่าไร เพื่อเปลี่ยนนิสัยเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจตามที่ใครปรารถนาก็มิได้ เพราะเขาเป็นทายาทรับมรดกกรรมที่เขาสร้างไว้แต่เพียงผู้เดียว

ฉะนั้น มนุษย์จึงมีบุคลิกภาพต่างกัน ทัศนคติและปรัชญาการดำเนินชีวิตต่างกัน ยิ่งเข้าใจความเป็นจริงเช่นนี้ ยิ่งรับความแตกต่างได้ ยิ่งทำให้สันติสุขเกิดขึ้นทั้งตนเองและผู้อื่นได้ไม่ยากนัก ทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันด้วยสันติมากขึ้น

ศรัทธา จึงเป็นพลังนำแห่งการขับเคลื่อน การทำ การพูด และการคิด ไปสู่ความสำเร็จหรือชีวิตที่ดีกว่า ถ้าเป็นศรัทธาที่ตั้งไว้อย่างถูกต้อง ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัทธา สาธุ ปติฏฐิตา ศรัทธาที่ตั้งไว้ดีแล้วย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จ

พุทธบริษัททุกคนจึงโชคดี เพราะมีกรอบแห่งศรัทธาเชิงพุทธไว้อย่างชัดเจน ยามใดเกิดสิ่งผิดปกติแปลกปลอมเข้ามาในสังคมหรือใกล้ๆ ตัวเรา ก็นำเอาศรัทธาทั้ง 4 ประการนี้ มาเป็นตัวตั้งแล้วเปรียบเทียบกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หากแตกต่างออกไปจากนี้และมีทีท่าว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายพึงหลีกเลี่ยงจากศรัทธาอันมืดบอดนั้นเสียแล้วกลับมาหาศรัทธาที่ถูกต้องจะปลอดภัยทั้งร่างกาย จิตใจ ชีวิต และทรัพย์สินตลอดไป