รัฐเบิกจ่ายลงทุนยังหลุดเป้า กรมบัญชีกลางจี้ติดตั้งธงเท่าปี’60 “สลาก” อู้ฟู่ แชมป์ส่งรายได้เข้าคลัง

กรมบัญชีเผยเบิกจ่ายเงินลงทุนไตรมาส 2 ปีงบ’61 หลุดเป้า 11.81% ส่วนการนำส่งรายได้         รัฐวิสาหกิจ 6 เดือนแรก ปีงบ’61 สูงกว่าเป้าหมาย 17.54% “สลาก” นำโด่งเกือบ 2 หมื่นล้าน  ตามด้วย กฟผ. 1.3 หมื่นล้าน

นางญาณี แสงศรีจันทร์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ผลการเบิกจ่ายสิ้นไตรมาส 2 ประจำปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 – 31 มีนาคม 2561 (สิ้น    ไตรมาสที่ 2) งบประมาณภาพรวมเบิกจ่ายได้ 1,470,559 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,900,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50.70% ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.59%

(เป้าหมาย 52.29%) แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ เบิกจ่ายได้ 1,289,746 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,240,219 ล้านบาท หรือคิดเป็น 57.60% สูงกว่าเป้าหมาย 2.60% (เป้าหมาย 55.00%) ส่วนรายจ่ายลงทุน เบิกจ่ายได้ 180,811 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 577,298 ล้านบาท หรือคิดเป็น 31.30% ต่ำกว่าเป้าหมาย 11.81% (เป้าหมาย 43.11%) โดยก่อหนี้แล้วจำนวนทั้งสิ้น 366,237.38 ล้านบาท หรือคิดเป็น 55.59% สำหรับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปีทำได้แล้ว 127,635 ล้านบาท ของวงเงิน 323,948 ล้านบาท หรือคิดเป็น 39.40% ก่อหนี้แล้ว 233,179 ล้านบาท หรือคิดเป็น 71.98% “กรมบัญชีกลางจะพยายามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินอย่างเต็มที่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อให้ผลการเบิกจ่ายใกล้เคียงกับเป้าหมายให้มากที่สุด” นางญาณี กล่าว

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ช่วง 6 เดือนแรก ของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560-มีนาคม 2561) สคร.จัดเก็บรายได้จาก     รัฐวิสาหกิจ จำนวน  68,147.20 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายการจัดเก็บรายได้แผ่นดินสะสม 10,168.85 ล้านบาท คิดเป็น 17.54% ของเป้าหมายรายได้แผ่นดินสะสม 57,978.35 ล้านบาท

นายเอกนิติ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2561 สคร.มีนโยบายสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานผ่านแผนยุทธศาสตร์          รัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจมีผลประกอบการที่ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถนำส่งรายได้แผ่นดินตามเป้าหมายจำนวน 137,000 ล้านบาท

นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. ในฐานะโฆษก สคร. กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สะสมสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนำส่ง 19,565.79 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 13,384.05 ล้านบาท บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ    ทอท. 8,600 ล้านบาท ธนาคารออมสิน 6,525 ล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 5,692 ล้านบาท ทั้งนี้ จะเห็นว่าการนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจมีการนำส่งที่สูงกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2561 เนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถรับมือต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีสาเหตุจากการที่รัฐวิสาหกิจนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมมาปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการดำเนินงาน

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน