ปากกา “วัดความสุก” ทุเรียน ไอเดียเด็กช่างกล “บางสะพาน” คว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับชาติ

การลักลอบตัดทุเรียนอ่อนก่อนผลผลิตออกสู่ท้องตลาดในฤดูกาลปกติ เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในราคาค่อนข้างสูง มีปัญหามาอย่างยาวนาน ทำให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดมาตรการ   ลงโทษตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และมีแนวทางสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เพื่อให้การจำหน่ายทุเรียนทั้งในและตลาดต่างประเทศได้รับการยอมรับ ส่วนการใช้อุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพผลผลิตพบว่ายังมีราคาค่อนข้างแพง

นายจิตวัฒนา บุญเลิศ หัวหน้าแผนกวิชาช่างกลโรงงาน วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ในพื้นที่ อำเภอบางสะพาน มีทุเรียนบ้านคลองลอยได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง แต่ที่ผ่านมาผู้บริโภคมักประสบปัญหาจากการตรวจสอบคุณภาพเนื้อทุเรียนที่พ่อค้านำไปจำหน่าย นอกจากนั้นยังพบว่าพฤติกรรมการบริโภคทุเรียนยังมีความแตกต่างจากความต้องการเนื้อทุเรียนสุกหรือห่าม กลุ่มนักศึกษาและคณะครูที่ปรึกษาจึงร่วมกันคิดค้นสิ่งประดิษฐ์เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพเนื้อทุเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำสูง

“นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประกอบด้วย นายเมธี ขำพวง นายพันทิวา     คำแก้ว และ นายสมทรง แจ้งอักษร จากแผนกวิชาเทคนิคการผลิต ประสบความสำเร็จจากการผลิตอุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียนมีความถูกต้อง 100% จากการทำโครงงานนวัตกรรมและงานวิจัยก่อนจบระดับการศึกษา โดยใช้เวลาคิดค้นเพียง 3 เดือน ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัด จากนั้นได้รับรางวัลชนะเลิศระดับตัวแทนภาคกลาง และได้รับรางวัลด้านนวัตกรรมโดดเด่นระดับชาติ ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ และการแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษาระดับชาติ ของกรมอาชีวศึกษา ประจำปีการศึกษา 2560 ประเภทที่ 2 สิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ”

นายจิตวัฒนา กล่าวด้วยว่า อุปกรณ์ดังกล่าวพกพาสะดวก เนื่องจากมีขนาดเล็ก ใช้งานง่าย มีลักษณะคล้ายปากกา ไม่ได้ใช้วัดเปอร์เซ็นต์แป้งของทุเรียน หรือมีเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนจากระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ แต่ใช้ตรวจสอบเนื้อทุเรียนเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรับประทานได้ตามที่ต้องการ โดยใช้หลักการง่ายๆ ของการวัดแรงต้านที่เนื้อทุเรียน เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นผลดิบ เนื้อห่าม หรือสุกเนื้อนิ่ม สำหรับการใช้เครื่องมือวัดชนิดนี้จะใช้แทนการใช้มีด เปิดผิวทุเรียนแบบเก่า เพื่อใช้นิ้วกดตรวจสอบเนื้อทุเรียน หรือใช้การเคาะที่ผล ซึ่งผู้ขายเท่านั้นจะมีความชำนาญในการฟังเสียง แต่ไม่ได้ยืนยันว่าทุเรียนจะสุกเท่ากันทั้งผล เนื่องจากบางสวนมีการใช้สารเคมีเพื่อเร่งความสุก แต่การใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถเจาะตรวจเนื้อทุเรียนได้ทั้งผล แต่มีไม่มีผลกระทบกับเนื้อทุเรียน

“วิธีการใช้เพียงนำอุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียนที่มีปลายแหลมจากเข็มฉีดยา ทิ่มลงไปในเปลือก ให้ตรงกับบริเวณที่มีเนื้อทุเรียน จากนั้นทิ่มส่วนปลายเข็มลงไปให้สุด แล้วกดตัววัดที่ติดไว้ด้านบนของอุปกรณ์ สเกลจะหยุดตรงค่าของเนื้อทุเรียนที่ได้ โดยมีสเกล 3 สี สีเขียว หมายถึงทุเรียนสุก เนื้อนิ่ม สีเหลือง  หมายถึงทุเรียนห่าม สีแดง หมายถึงทุเรียนดิบ” นายจิตวัฒนา ตบท้าย

ด้าน นายเมธี ขำพวง นักศึกษาชั้น ปวส.จากแผนกวิชาเทคนิคการผลิต กล่าวว่า พื้นเพเดิมเป็นชาว อำเภอบางสะพานน้อย บ้านอยู่ใกล้กับสวนทุเรียนคลองลอย จึงมีแนวคิดร่วมกับเพื่อนในการออกแบบ เพื่อใช้อุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียนอย่างง่ายที่สุด มีราคาถูก จากการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตจาก    สแตนเลส มีต้นทุน 200 บาท โดยนำมาขึ้นรูปให้เหมาะสมกับการใช้งานของกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้ขาย   และผู้บริโภค จากนั้นได้นำไปทดสอบกับทุเรียนหมอนทองบ้านคลองลอย ปรากฏว่าได้ผลดี ขณะนี้มี      ผู้สนใจหลายรายต้องการสั่งซื้อเพื่อนำไปใช้ตรวจสอบเนื้อทุเรียน เนื่องจากวิธีการใช้ไม่มีความซับซ้อน สามารถตรวจเนื้อทุเรียนเพื่อวัดความสุกที่ต้องการได้จริง

“หลังจากได้รับรางวัลในระดับชาติ คณะครูที่ปรึกษาจะนำสิ่งประดิษฐ์ไปทำการจดสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่ด้วยกลไกที่ไม่ซับซ้อน เชื่อว่าจะมีการผลิตลอกเลียนแบบได้ และอาจจะมีคุณภาพดีกว่า ซึ่งทุกคนที่ร่วมกันคิดค้นถือว่าเป็นการช่วยต่อยอด เพื่อให้ประชาชนที่ชอบบริโภคทุเรียนนำไปใช้ได้อย่างมีคุณภาพ สำหรับการผลิตอุปกรณ์จำหน่ายจะตั้งราคาไว้ที่ 1,000 บาท แต่ราคาจะลดลงได้อีกหากมีการผลิตจำหน่ายจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรม”

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจาก สุรยุทธ ยงชัยยุทธ