หนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ ผู้นำขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหาร

กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือ มสธ. โชว์ศักยภาพ Young Smart Farmer (YSF) เกษตรกรรุ่นใหม่  รวมพลสานพลังเครือข่าย ในงาน Young Smart Farmer Show Case 2019 ภายใต้แนวคิด นวัตกรรมอาหารปลอดภัย ในวิถีเกษตรกรรมยั่งยืน ของดี 4 ภาค หนุนต่อยอดเกษตรกรต้นแบบ ปั้นทายาทเกษตรกรหน้าใหม่ พร้อมสร้างแพลตฟอร์มอาชีพเกษตรที่ทันสมัย นำงานวิจัยและนวัตกรรม ควบคู่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ มุ่งพัฒนาผลิตอาหารปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ ในวิถีเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่ออนาคตความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย

นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยในงาน “มหกรรมรวมพลเกษตรกรรุ่นใหม่แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2 : นวัตกรรมอาหารปลอดภัยในวิถีเกษตรกรรมยั่งยืน ของดี 4 ภาค” ซึ่งจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช จังหวัดนนทบุรี ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer Thailand (YSF) ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนและพัฒนากลุ่มเกษตรกร YSF ในการสร้างเครือข่าย การมีส่วนร่วม และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและการทำงานทุกระดับอย่างชัดเจน เพื่อให้ YSF เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทย ด้วยแนวคิดที่ทันสมัย และวิธีการปฏิบัติใหม่ที่เป็นนวัตกรรม ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างเครือข่ายของ YSF ให้เข้มแข็ง และยังเป็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่ๆ ของ YSF ด้วย

“การเข้าร่วมงานครั้งนี้ YSF จะได้สร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และได้เปิดตัวสินค้าใหม่ๆ ของตัวเอง ซึ่งในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการผลักดันในเรื่องการตลาดออนไลน์ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยจะมีการเปิดเพจแล้วนำสินค้าของกลุ่ม YSF และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมาแนะนำในเพจ เป็นการส่งเสริมการตลาดยุคใหม่ให้กับเกษตรกร ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรนั้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ YSF เป็นผู้นำเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับคนรุ่นใหม่ เราต้องการให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นเกษตรกร เพราะเขาสามารถรับเทคโนโลยีและเรียนรู้ได้เร็ว ซึ่งจะทำให้ก้าวไปสู่การเป็นเกษตร 4.0 ได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันเรามี YSF ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมฯ ตั้งแต่ปี 2557-2561 และได้รับการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ในด้านการเกษตรยุคใหม่และการตลาดไปแล้วจำนวน 10,450 คน ส่วนในปี 2562 นั้นกำลังอยู่ระหว่างการประเมินอีก 2,875 คน จึงเห็นได้ว่า YSF มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งในกระบวนการพัฒนา YSF นั้น กรมได้วางแนวทางไว้ 4 ขั้นตอน ด้วยกันคือ

1.การจัดทำแผนพัฒนาตัวเอง เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำการเกษตร

2.การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยส่งเสริมการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยตนเองแบบผสมผสาน

3.การเชื่อมโยงเครือข่าย โดยส่งเสริมการเชื่อมโยงทั้งด้านความรู้ เทคโนโลยีกิจกรรมด้านการตลาด และ

4.การประเมินศักยภาพของ YSF นอกจากนี้ เรายังมีศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่อยู่ 77 จังหวัด ทั่วประเทศ โดย YSF เป็นผู้ดูแล โดยจะเป็นจุดรวบรวมข้อมูลในการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี และเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา YSF ให้เป็นผู้ประกอบการต่อไปอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน”

กรวิชญ์ มาระเสนา ประธาน YSF Thailand และผู้นำศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ จังหวัดสงขลา คือบทพิสูจน์ความสำเร็จของการปั้นผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเกษตรกรไทยให้กลายเป็นเกษตรกร 4.0

กรวิชญ์ เล่าถึงการดำเนินงานสร้างเครือข่ายและพัฒนา YSF ว่า ได้มีการนำโมเดลของ YSF เข้ามารวมไว้ที่ศูนย์บ่มเพาะฯ โดยมีผลิตภัณฑ์เด่นคือ มะเขือเทศเชอร์รี่ ที่ใช้วิธีการทำตลาดโดยสร้างจุดขายให้ผู้บริโภคเข้ามาซื้อและเก็บผลรับประทานสดในสวนได้ เน้นการเป็นพืชผักผลไม้สุขภาพที่มีความปลอดภัย ซึ่งประสบความสำเร็จมาก

“ปี 2557 กรมส่งเสริมฯ สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่พัฒนาให้เป็น YSF โดยมีการอบรมต่างๆ ให้เกษตรกร ปัจจุบันเกษตรกรจะมีส่วนร่วมในการกำหนดหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรม เป็นการบูรณาการร่วมกัน เรามีการคุยทบทวนปัญหาที่ผ่านมาแล้วเปลี่ยนกระบวนการใหม่ การทำงานของศูนย์บ่มเพาะฯ จังหวัดสงขลา เราจะเน้นให้เกษตรกรได้รู้จักตนเอง รู้จักเครือข่าย รู้ความต้องการของตัวเอง เป็นการปรับ mindset ของเกษตรกรทั้งหมดก่อน เพราะ YSF นั้นมีความหลากหลายในเรื่องของอายุ จึงต้องให้เขาเปิดใจก่อนที่จะเรียนรู้เรื่องต่างๆ ด้วยกัน นอกจากนี้ ก็จะมีการแนะนำการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกษตรกรได้รู้จัก เพื่อจะได้เข้าถึงข้อมูลเมื่อมีปัญหาเรื่องอะไร จะได้รู้ว่าควรไปติดต่อขอความช่วยเหลือหรือหาความรู้เพิ่มเติมจากที่ไหน”

นอกจากการพัฒนาในด้านกระบวนการคิดแล้ว YSF ยังใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารให้เป็นประโยชน์ในการสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งด้วย ซึ่งกรวิชญ์ บอกว่า กลุ่ม YSF จังหวัดสงขลา มีการเปิดไลน์กลุ่มที่มีสมาชิก YSF และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม เพื่อใช้ในการพูดคุยปรึกษาปัญหาต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเวทีเพื่อให้ YSF ได้เรียนรู้จากต้นแบบโดยคนแรกของสงขลาที่กรวิชญ์ได้ให้สมาชิกเข้าไปเรียนรู้คือ เจ้าของธุรกิจผลิตถังปลูกพืชแนวตั้งส่งออก ซึ่งเป็น YSF ที่ไม่เคยมีพื้นฐานเกี่ยวกับการเกษตรเลย แต่อาศัยการเรียนรู้เพิ่มเติม และต่อมายังได้ถ่ายทอดความรู้ด้านการตลาดให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ด้วย

ในการพัฒนาเครือข่าย YSF จังหวัดสงขลานั้น หลังจากมีการสร้างต้นแบบ YSF มาตั้งแต่ ปี 2557 ปัจจุบันทางศูนย์บ่มเพาะฯ จังหวัดสงขลา กำลังส่งเสริมให้ YSF ต้นแบบได้กลับไปพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรและชุมชนของตนเอง

“สงขลา มี 16 อำเภอ ผมจะแบ่งออกเป็น 4 โซน โซนละ 4 อำเภอ มีการตั้งประธานโซนต่างๆ และจะคุยกันทุกเรื่อง จากโซนเหล่านี้เราจะให้มีศูนย์บ่มเพาะฯ ย่อยระดับอำเภอ แต่ละอำเภอใครถนัดด้านไหนก็ให้เป็นต้นแบบในด้านนั้น เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าไปศึกษา โดยศูนย์บ่มเพาะฯ จังหวัดจะให้การสนับสนุนทั่วไป จะมีหลักสูตรคือ ศาสตร์พระราชา และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือไม่ว่าคุณจะไปเรียนรู้เรื่องอะไรก็ตาม แต่คุณต้องเรียนรู้หลักสูตรนี้ก่อน การที่เราให้ความสำคัญกับสมาชิกในการสนับสนุนให้เขากลับไปเป็นผู้นำในการพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง ชุมชนของตนเอง ก็จะทำให้เขาเกิดจิตอาสาเพราะเป็นการพัฒนาชุมชนของเขาเองด้วย”

เครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบที่เรียกว่า “การรับรองแบบมีส่วนรวม (Participatory Guarantee System) หรือ PGS ซึ่งเป็นระบบที่สมาชิกกลุ่มผู้ผลิตและชุมชนมีส่วนรวมในการตรวจสอบมาตรฐานผลผลิตกันเองในพื้นที่ ทำให้เกิดความมั่นใจในสินค้าของตนเอง ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และการสร้างมาตรฐานสินค้าส่งออก รวมไปถึงสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าได้ต่อไป