21 พันธมิตร เครือข่าย CECI ร่วมสร้างคุณค่าให้ “ขยะ” จากอุตสาหกรรมก่อสร้าง พลิกวงการก่อสร้างไทย สู่ Green & Clean Construction ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและเทคโนโลยี

“เราสร้างอาคารที่สวยงามเสร็จแล้ว แต่กลับมีขยะอีกกองหนึ่งตั้งอยู่ หากเราสามารถบริหารจัดการเศษวัสดุเหล่านี้ได้ งานก่อสร้างทั้งหมดก็จะสวยงามอย่างสมบูรณ์แบบ”

เป็นคำพูดที่สะท้อนถึงจุดมุ่งหมายของ “เครือข่ายความร่วมมือองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy in Construction Industry- CECI” ที่เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ได้เป็นอย่างดี

จากการระดมความคิดที่ถูกจุดประกายในงาน “SD Symposium” ที่จัดขึ้นโดยเอสซีจี ได้ค่อยๆ ก่อตัวเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ด้วยการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในกระบวนการทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในวงการก่อสร้าง เพราะผู้ประกอบการต่างตระหนักดีว่า ด้วยวิกฤตทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่ช่วย “ยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

♦ เครือข่าย “CECI” เปลี่ยนห่วงโซ่วงการก่อสร้างสู่ “Green & Clean Construction”  

คุณนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เล่าว่า ที่ผ่านมาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใน Supply Chain ต่างคนต่างทำงานโดยที่ไม่ได้มีการคุยกัน ทำให้เกิดเศษวัสดุเหลือใช้ และมีการใช้พลังงานจำนวนมากในการทำงาน การสร้างความร่วมมือให้ทุกฝ่ายนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างจึงต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีเศษวัสดุเหลือใช้น้อยที่สุด รวมไปถึงการใช้สินค้าให้ประหยัดและคุ้มค่า ตลอดจนการนำของเสียมาเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบ หรือหมุนเวียนใช้พลังงาน ถือเป็นแนวทางที่ช่วยลดต้นทุนและประหยัดทรัพยากรได้ไม่ต่ำกว่า 20% ส่งผลดีต่อทั้งภาพรวมของธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

“CECI กำลังพยายามเผยแพร่แนวคิดและผลักดันให้กลุ่มนี้ขยายวงกว้างขึ้นในระดับประเทศ มุ่งสู่การดำเนินอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Construction) ทั้งที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐาน เพราะคนเดียวก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เช่น เอสซีจีในฐานะผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างสามารถช่วยเจ้าของโครงการได้ตั้งแต่การออกแบบเพื่อผลิตวัสดุที่เหมาะสมกับการก่อสร้าง ตลอดจนนำวัสดุเหลือใช้กลับมารีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการใช้พลังงานให้น้อยสุด และยังหาเพื่อนธุรกิจใน Supply Chain มาร่วมกันคิดหาวิธีการใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน”

♦ สถาปนิกต้องคิดให้ครบ เพื่อช่วยลด “เวลา ลดต้นทุน และทรัพยากร”  

ด้าน คุณประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด ให้มุมมองการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้กับการออกแบบสถาปัตยกรรมว่า เดิมสถาปนิกคำนึงถึงความสวยงามและประโยชน์การใช้สอยเป็นหลัก โดยที่ไม่มีการคิดและวางแผนร่วมกับผู้ผลิตวัสดุและผู้ก่อสร้าง การออกแบบที่ไม่ได้คิดจนจบกระบวนการ ทำให้สูญเสียวัสดุ (Waste) ระหว่างการทำงานเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเราจึงต้องกลับมาคิดใหม่ นำหลัก Circular Economy มาใช้ เพื่อลดปัญหาในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเริ่มต้นจากการออกแบบ

“เราสร้างอาคารที่สวยงามเสร็จแล้ว แต่กลับมีขยะอีกกองหนึ่งตั้งอยู่ หากเราสามารถบริหารจัดการเศษวัสดุเหล่านี้ได้ งานก่อสร้างทั้งหมดก็จะสวยงามอย่างสมบูรณ์แบบ สถาปนิกต้องเข้ามาพูดคุยอย่างใกล้ชิดกับผู้ผลิตและผู้รับเหมา เพื่อนำแนวคิดทุกภาคส่วนมาออกแบบให้สอดคล้องกัน จึงจะช่วยลดเวลา เงิน และทรัพยากร แนวคิดนี้ช่วยแก้ปัญหาทรัพยากรขาดแคลนได้ หากมีการขยายวงกว้างขึ้นโดยการสร้างพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจออกแบบและนอกกลุ่มธุรกิจ จะทำให้ CECI เป็นเครือข่ายที่แข็งแรง”

♦ “Developer คนกลางผู้ช่วยสร้าง Mindset ขับคลื่อน Circular Economy” 

ขณะที่ คุณกิตติพงษ์ ศิริลักษณ์ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานก่อสร้างอาคารสูง บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) มองสอดคล้องกันว่า นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developer) มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้วางแผนการพัฒนาอาคารที่อยู่อาศัยให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทจึงกำหนดเกณฑ์การออกแบบให้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาพัฒนาโครงการ และมีมาตรฐานกลางในการก่อสร้างที่ช่วยลด Waste ในการก่อสร้าง รวมถึงใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน และสิ่งสำคัญคือการเผยแพร่โครงการต้นแบบ (Best Practice) ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ สู่สาธารณะ เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูล สำหรับการพัฒนาให้เกิดระบบและโครงการอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“Developer เปรียบเสมือนตัวแทนของผู้ใช้งานอาคารและที่อยู่อาศัย ถือเป็นผู้ใช้ทรัพยากร ผู้มีบทบาทในการรวบรวมความต้องการและกำหนดห่วงโซ่การผลิตทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้าง อาทิ สถาปนิก ผู้รับเหมา ได้โดยตรง ซึ่งบริษัทได้นำหลัก Circular Economy มาใช้ในการดำเนินธุรกิจคู่ขนาดกับการทำงานของกลุ่ม CECI มาสักระยะแล้ว นอกจากจะทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนและใช้ประโยชน์ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าแล้ว การขับเคลื่อนแนวคิดนี้ยังช่วยปลูกฝังความคิดใหม่ๆ ที่ทำให้เยาวชนและผู้เกี่ยวข้องเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตด้วย”

♦ “ความเข้าใจ” นำไปสู่ “การยอมรับ” สร้างนวัตกรรมก่อสร้างสีเขียว  

ด้าน คุณเกชา ธีรโกเมน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด ในฐานะวิศกรออกแบบและที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างต่างๆ กล่าวว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนบางกลุ่ม จึงต้องสื่อสาร ทำความเข้าใจ เพื่อสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้น การร่วมมือในกลุ่ม CECI ถือเป็นการเริ่มต้นการสร้างการยอมรับ ขยายเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรม และองค์ความรู้ในวงการก่อสร้าง

“คำถามว่าทำไมต้องทำ เป็นคำถามที่ตอบยากเสมอมา เพราะหลายคนรู้สึกว่าทำไมเราต้องเป็นคนแรกที่ต้องทำ แม้เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก ต้องใช้ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น และพลัง ทำคนเดียวจึงไม่รอด แต่การที่มีกลุ่มและเครือข่ายที่ล้วนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทำให้เราได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ เป็นพลังช่วยกันขับเคลื่อนสร้างความเข้าใจและการยอมรับ ต่อไปหากมีนวัตกรรมหรือการออกแบบเพื่อความยั่งยืน ก็จะทำให้เจ้าของโครงการหรือผู้พัฒนาโครงการกล้าที่จะลงมือทำ”

การระดมความคิดจากทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง สถาปนิกและที่ปรึกษาโครงการ เสนอให้มีการออกแบบวัสดุก่อสร้างให้ทนทาน โดยใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า มีการสร้างต้นแบบ (Prototype) การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ที่นำไปใช้ได้จริง ตลอดจนรณรงค์ใช้สินค้าในประเทศเพื่อลดการใช้พลังงานในการขนส่งและส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจในประเทศ ด้านบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เห็นว่า ควรกำหนดมาตรฐานการออกแบบ บริหารจัดการ และการจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเกณฑ์ รวมทั้งแบ่งปันและใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้การก่อสร้างเกิดของเหลือน้อยที่สุด และกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง เห็นว่า การนำเทคโนโลยี BIM มาใช้ในการก่อสร้าง จะช่วยลดวัสดุเหลือใช้ อีกทั้งควรใช้วัสดุให้สอดคล้องกับของที่มีในตลาด ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เสนอว่า ต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบพัฒนาสินค้าที่สามารถนำวัตถุดิบหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ สำหรับกลุ่มผู้บริหารจัดการของเสีย เห็นว่าการสร้างฐานข้อมูล Big Data และนำ IoT มาเชื่อมโยงระบบบริหารจัดการของเสีย จะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งวงการอย่างแท้จริง

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดและเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3jo6dCA และลงทะเบียนรับชมงาน SD Symposium 2020 : Circular Economy: Action for Sustainable Future วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13.30-15.00 น. แบบออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3e4A16k หรือ QR Code นี้