เรียกร้องห้างไทย ขาย “ไก่ไร้ฝุ่น” ลดต้นตอใหญ่ ฝุ่นพิษ PM 2.5!

แคมเปญผู้บริโภคที่รัก และ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ร่วมวิพากษ์ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งมีที่มาจากอุตสาหกรรมการผลิตไก่ พร้อมเสนอวิธีแก้ไข ผ่านการรวมพลังผู้บริโภค เรียกร้อง 4 ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ เพิ่มสัดส่วนขาย “ไก่ไร้ฝุ่น”

ฝุ่นพิษ PM 2.5 คือ ปัญหามลภาวะระดับชาติ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ทราบหรือไม่ว่าอีกหนึ่ง  อุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสภาพอากาศของไทยเป็นอย่างมากคือ อุตสาหกรรมการผลิตไก่เพื่อบริโภคนั่นเอง หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 จะเกี่ยวข้องกับไก่ได้อย่างไร Oxfam (อ็อกแฟม) ประเทศไทยผู้ดำเนินงานแคมเปญ ผู้บริโภคที่รักจึงได้จัดเสวนา “แฉเบื้องหน้า เบื้องหลัง อุตสาหกรรมการผลิตไก่”  ผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ทางแฟนเพจ ‘ผู้บริโภคที่รัก’  เพื่อชี้ให้เห็นปัญหา และผลกระทบของกระบวนการผลิตไก่ ที่ก่อให้เกิดมลภาวะ โดยมี คุณฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่รณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (Oxfam) มาเปิดเผยเรื่องราวของ ไก่อมฝุ่นพิษ” พร้อมวิทยากรรับเชิญอย่าง คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล คอนเทต์ ครีเอเตอร์ ชื่อดัง ที่มีความสนใจและมีบทบาทในการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหามลภาวะ ที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมในการผลิตไก่ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

อุตสาหกรรมการผลิตไก่กับฝุ่นพิษ PM2.5 เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

“ไก่ ถือเป็นเนื้อสัตว์ที่อยู่ใกล้ตัวมนุษย์ที่สุด และเป็นหนึ่งในเนื้อสัตว์ที่ต้องการของตลาดทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือนมากที่สุด โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยบริโภคไก่เฉลี่ยเกือบ 30 กิโลกรัม ต่อปี นอกจากนี้ ประเทศไทยยังส่งออกไก่เป็นอันดับ 4 ของโลก หากนับสหภาพยุโรปรวมเป็น 1 ประเทศ ด้วยปริมาณราว 910 ตัน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงมาก แต่ทว่าเมื่อสืบไปหาต้นตอหลักของปัญหา กลับไม่ใช่ที่ตัวไก่ แต่เป็น ‘การเผาป่า’ ซึ่งเป็นหนึ่งในวงจรของการปลูกข้าวโพดเพื่อเลี้ยงไก่ และเมื่อความต้องการในการบริโภคไก่มากขึ้น ความต้องการอาหารสัตว์ในการเลี้ยงไก่ก็ยิ่งเพิ่มสูงตามไปด้วย โดยเฉพาะไก่ที่เลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม ที่จะถูกขุนด้วยอาหารสูตรพิเศษ ที่ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 1 เดือนกว่าๆ ก็ถึงเกณฑ์ที่จะนำไปบริโภค ในขณะที่ไก่บ้านทั่วไปต้องใช้ระยะเวลาถึง 5 เดือน จึงจะโตเต็มวัย และนำไปบริโภคได้ เมื่อความต้องการเพิ่มมากขึ้น ก็ก่อให้เกิดการขยายพื้นที่เพาะปลูก จนต้องขยายขึ้นไปปลูกบนภูเขา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือของไทย เหตุที่ต้องเผาเพื่อเตรียมเพาะปลูก อันเนื่องจากพื้นที่มีความลาดชัน จึงไม่สามารถไถกลบแบบปกติได้ นอกจากนี้ ยังเป็นวีธีที่ทำได้ง่าย และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ และนี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง และค่ามลภาวะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ สูงจนในบางช่วงประเทศไทยมีค่าฝุ่นสูงที่สุดเป็น อันดับ 1 ของโลก โดยเหตุการณ์เช่นนี้” คุณฐานิตา วงศ์ประเสริฐ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาของไก่อมฝุ่นพิษ

คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ได้แสดงความคิดเห็นหลังจากได้รับฟังเรื่องราวของไก่อมฝุ่นพิษว่า “แม้ว่าฝุ่นพิษ PM 2.5 จะเกิดจากหลายที่มาที่ไป ไม่ว่าจากรถยนต์ โรงงาน หรือการก่อสร้าง แต่ทราบหรือไม่ว่า การเผาในภาคเกษตรกรรมในประเทศเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษ PM2.5 มากที่สุด และเมื่อศึกษาไปยังต้นตอของปัญหา เราจะพบว่า 30-40% เกิดจากการเผาเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผมเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญในสังคม และเชื่อมโยงทั้งในส่วนของสิทธิทางสังคม ความเสมอภาค รวมไปถึงความเท่าเทียม ดังนั้น พฤติกรรมต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์เราเอง ก็สามารถส่งผลกระทบได้ในวงกว้าง ไม่เพียงแต่ในเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ดังนั้น เราทุกคนจึงจะต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบร่วมกัน”

เกษตรกรไม่ใช่อาชญากร เป็นเพียงเหยื่อรายหนึ่งของวงจร

คุณฐานิตา กล่าวต่อไปว่า “เกษตรกรเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ในวงจรอุตสาหกรรมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อความต้องการบริโภคไก่เพิ่มขึ้น เลยต้องปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้น เพื่อส่งต่อให้กับนายทุนที่ไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบในขั้นตอนหลังเก็บเกี่ยว ทำให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งเวลามีข่าว เกษตรกรจะตกเป็นจำเลยสังคมในอันดับแรก ไม่ใช่พวกเขาไม่มีความรู้ แต่เขาไม่มีทางเลือก เพราะการปลูกข้าวโพด 1 ไร่ ได้กำไรเฉลี่ยเพียง 1,600-2,000 บาท เท่านั้น เมื่อหักลบต้นทุนแล้ว กำไรที่ได้ก็มีมูลค่าน้อยมาก และราคาก็ไม่สามารถเพิ่มสูงขึ้นได้ อันเนื่องมาจาก ต้นทุนของฟาร์มไก่ 40-50% มาจากราคาของอาหารสัตว์ ดังนั้น หากต้นทุนของอาหารที่สำคัญอย่างข้าวโพดมีราคาสูงขึ้น ก็จะทำให้ราคาไก่เพิ่มสูงตามไปด้วยเช่นกัน ทำให้เกษตรกรไม่มีทางเลือก ผนวกกับพื้นที่เพาะปลูกที่มีความลาดชัน ทำให้การเผาหน้าดิน และหยอดเมล็ดเป็นวิธีที่ง่าย ประหยัดต้นทุนที่สุดสำหรับการปลูกข้าวโพด ซึ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาระดับโครงสร้างที่ไม่ใช่แค่ภาคเกษตรกรรมเท่านั้น”

คุณวรรณสิงห์ ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตไก่กลายเป็นต้นตอใหญ่ของฝุ่นพิษ PM 2.5 ทุกฝ่ายจะต้องคิด และทำงานร่วมกันว่า ถ้าเกษตรกรจะต้องเตรียมพื้นที่เพาะปลูกโดยไม่ใช้วิธีการเผา ในส่วนของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นจะทำอย่างไร รัฐจะช่วยสนับสนุนเครื่องมือให้ได้หรือไม่ หรือมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ที่ทำให้ของเหลือจากภาคเกษตรกรรมเหล่านี้ อย่าง ซังช้าวโพด ฟางข้าว หรือชานอ้อยต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าในเชิงพลังงาน ได้หรือไม่ หรืออีกทางหนึ่งคือ บริษัทที่รับซื้อไก่จะรับผิดชอบในต้นทุนเหล่านั้นไว้เอง เป็นกระบวนการที่จะต้องคิดตามมา ไม่สามารถเดินไปบอกเกษตรกรได้ว่า ห้ามเผา เป็นสิ่งทีเค้าจะไม่เข้าใจเลย แต่การเข้าใจเรื่องต้นทุนจะทำให้เรามองหาว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนส่วนนั้นกันแน่ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด”

ไก่ไร้ฝุ่นคือ ความหวังของผู้บริโภค

แคมเปญผู้บริโภคที่รักเชื่อมั่นและสนับสนุนความร่วมมือที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเราเชื่อว่าแคมเปญนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายสามารถมาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมไก่ อุตสาหกรรมข้าวโพด รวมถึงผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค และมีศักยภาพในการดำเนินนโยบายได้อย่างรวดเร็วและอิสระ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมที่ดีขึ้น ที่ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อผู้บริโภคด้านความปลอดภัย แต่ยังรวมไปถึงการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และความเป็นธรรมต่อเกษตรกรได้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เราจะขาดแรงผลักดันและสนับสนุนจากผู้บริโภคไม่ได้ เราจึงอยากเชิญชวนให้ผู้บริโภคร่วมกันใช้เสียงที่ตัวเองมีรวมพลังสร้างความเปลี่ยนแปลง ผ่านการร่วมลงชื่อในแคมเปญ ไก่ไร้ฝุ่น ทางเว็บไซต์ Change.org/HazeFreeChicken เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ 4 แบรนด์ ได้แก่ บิ๊กซี (Big C), โลตัส (Lotus’s), (ท็อปส์) Tops และ แมคโคร (Makro) เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ด้วยการเพิ่มสัดส่วนในการจัดจำหน่ายไก่ที่ถูกเลี้ยงโดยข้าวโพดที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการเผาไร่ หรือ “ไก่ไร้ฝุ่น” โดยเราเชื่อว่า Haze Free Chicken หรือไก่ไร้ฝุ่นคือความหวังของผู้บริโภค ที่ดีต่อโลกและดีต่อปอด โดยองค์กรไม่ได้ต้องการให้คนเลิกบริโภคไก่ แต่มีวัตถุประสงค์ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้ออาหารที่ดี มีความปลอดภัย ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นธรรมต่อเกษตรกร รวมถึงรู้ที่มาของอาหาร  ว่าสิ่งที่เรารับประทานผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง พลังของผู้บริโภคมีส่วนอย่างยิ่ง ในเชิงนโยบายของซูเปอร์มาร์เก็ต ยิ่งมีผู้เรียกร้องมากเท่าไหร่ ยิ่งมีพลังในการทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตหันมารับฟังได้ง่ายขึ้น การคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ เป็นสิ่งที่ซูเปอร์มาร์เก็ตทำอยู่แล้ว แคมเปญของเราแค่เป็นการนำเสนอข้อเรียกร้องเพื่อให้ซูเปอร์มาร์เก็ตตระหนักถึงความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น แม้ตอนนี้จะยังไม่มีไก่ไร้ฝุ่นให้ซื้อในท้องตลาด แต่เราเชื่อว่า เสียงของผู้บริโภคมีพลังที่จะทำให้ไก่ไร้ฝุ่นถูกนำมาขายในซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างแน่นอน” คุณฐานิตา กล่าวสรุป

ร่วมรวมพลังผ่านการรณรงค์ และลงชื่อในแคมเปญ ไก่ไร้ฝุ่น เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ เพิ่มสัดส่วนในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไก่ ที่บริโภคข้าวโพดที่เพาะปลูกโดยไม่ผ่านกระบวนการเผาไร่ได้ที่ Change.org/HazeFreeChicken

คุณฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่รณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (Oxfam)

คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล แขกรับเชิญ

คุณจักรกฤต โยมพยอม ผู้ดำเนินรายการ