ท่องเที่ยว – โรงแรม ทำไมต้องมีกลยุทธ์ SDGs

ท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ดูเหมือนว่าประโยคนี้ระยะหลังจะมีให้ได้เห็น หรือได้ฟังบ่อยขึ้น หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และพฤติกรรมการท่องเที่ยวและการเดินทางที่หยุดชะงักไประยะเวลาหนึ่ง ได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติ และค่านิยมบางอย่างของนักท่องเที่ยว หรือจะบอกว่า ผู้คนมองความยั่งยืนของการท่องเที่ยวที่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความยั่งยืนภายใต้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs)

โดย SDGs หากจะให้อธิบายโดยรวบรัด สามารถจำแนกได้ 5 กลุ่ม คือ

  1. คุณภาพชีวิตของผู้คน
  2. ความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและครอบคลุม
  3. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  4. สันติภาพ สถาบันที่เข้มแข็ง และความยุติธรรม
  5. การเป็นหุ้นส่วนเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ซึ่งมี 17 เป้าหมายตามนิยามของความยั่งยืนของโลกปัจจุบันและอนาคต

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

ท่องเที่ยว – โรงแรมกับกลยุทธ์ SDGs ที่ยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจด้านการบริการ การท่องเที่ยว และโรงแรม ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลต่อภาพรวม ดังนั้นในหลายประเทศจึงมีการริเริ่มพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยว/ชุมชน ให้ตอบโจทย์การท่องเที่ยวที่คำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตอบสนองความต้องการของผู้มาเยือน อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และชุมชนเจ้าบ้านได้อย่างเสมอภาค และต้องมีการสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่างสามมิติเหล่านี้เพื่อรับประกันความยั่งยืนในระยะยาว

4 ด้านในการส่งเสริมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

  1. ใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด:ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยว รักษาระบบนิเวศวิทยาที่จำเป็น และช่วยอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพได้
  2. เคารพความถูกต้องทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนเจ้าบ้าน:อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สร้างขึ้นและดำรงอยู่และค่านิยมดั้งเดิมของพวกเขา และมีส่วนทำให้เกิดความเข้าใจและความอดทนระหว่างวัฒนธรรม
  3. สร้างหลักประกันทางเศรษฐกิจในระยะยาว:โดยให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่มีการกระจายอย่างเป็นธรรม อาทิ การจ้างงาน และการสร้างรายได้ให้สังคม แก่ชุมชนที่เป็นเจ้าบ้าน

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ด้านที่ระบุในข้างต้น ผู้ประกอบการอาจจะมองว่าก็เป็นภาพใหญ่ที่ทุกประเทศพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ความยั่งยืนดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยการผลักดันอย่างมีส่วนร่วมในทุกฝ่าย แต่ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวและโรงแรม สามารถนำแนวทางดังกล่าวมาสร้างข้อที่ 4 ได้ คือ

  1. การท่องเที่ยวที่รักษาระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวได้ในระดับสูง : ซึ่งจะเป็นการยกระดับชั้นของธุรกิจและอาจจะยกระดับราคาค่าบริการได้อีกด้วย ซึ่งต้องเข้าใจว่า ภายใต้มาตรฐานที่สูงขึ้น ต้นทุนอาจเพิ่มขึ้น และต้องขยับค่าบริการจากพื้นฐานทั่วไป และสร้างประสบการณ์ที่มีความหมายให้กับนักท่องเที่ยว สร้างความตระหนักเกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนและส่งเสริมแนวทางปฏิบัติด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในกลุ่มนักท่องเที่ยว

เพราะหากตอนนี้ทั่วโลกมองว่า SDGs คือความสำคัญต่อโลก และค่านิยมนี้ได้ถูกส่งต่อ ซึมซับ และแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้ว่าช่วงเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา วงการพลังงานสะอาดทั่วโลกต่างมีความเคลื่อนไหว และการไหลของเงินเข้าสู่กองทุน SDGs จำนวนมหาศาล ซึ่งคงจะไม่จบแค่นั้น

ดังนั้น ถ้าโลกต้องการความยั่งยืน ธุรกิจต้องการความยั่งยืน แต่หากธุรกิจคุณไม่มีกลยุทธ์หรือแนวทางเพื่อความยั่งยืน คงไม่ใช่เรื่องดีนัก

แหล่งอ้างอิง: Making Tourism More Sustainable – A Guide for Policy Makers , UNEP and UNWTO, 2005, p.11-12