‘ไร่ชรินทร์พรรณ’ ปลูกเมล่อนเกรดพรีเมียม พลิกแนวคิดเกษตรสู่ธุรกิจ

การทำให้ ‘เกษตร’ กลายเป็น ‘ธุรกิจ’ ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะต้องปลูกผลิตผลให้ได้คุณภาพแล้ว ยังต้องมีการบริหารจัดการต่างๆ การหาตลาด ไปจนถึงการปั้นแบรนด์ให้ฮิตผู้บริโภคติดใจ หจก.ชรินทร์พรรณฟาร์ม จึงเป็น Case Study ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะไร่เมล่อนจากอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ปั้นแบรนด์  ‘ไร่ชรินทร์พรรณ’ อย่างไร? จนสามารถเจาะตลาดโมเดิร์นเทรดภาคเหนือ รุกตลาดผลไม้ออนไลน์เมืองไทย พร้อมกับแตกไลน์ธุรกิจ ‘เมล่อนสมูทตี้’ สร้างรายได้เติบโตสวนกระแสโควิด 19

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

จากความชอบ ต่อยอดสู่การทำธุรกิจ

คุณณัฐนิช กิตยานุรักษ์ Co-founder หจก.ชรินทร์พรรณฟาร์ม เผยว่า ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตนเองทำงานเป็นอาจารย์พิเศษ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ หลังได้ไปเยี่ยมเยือนบ้านของแฟนซึ่งคุณพ่อคุณแม่ทำการเกษตร แล้วรู้สึกสนใจ-ชอบ มองว่าเกษตรน่าจะทำให้กลายเป็นธุรกิจได้ ประกอบกับขณะนั้นราคาข้าวตกต่ำ ตนจึงเห็นว่าควรจะมีสินค้าเกษตรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่การปลูกใช้ปริมาณเท่ากับข้าวแต่มีรายได้มากกว่าและระยะการปลูกสั้นกว่า รวมถึงการทำพื้นที่ว่างเปล่าให้มีมูลค่าขึ้นมา

ก่อนจะเกิดไอเดียในการปลูกเมล่อนที่ตัวเองชอบรับประทาน หลังจากไปห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งเพื่อซื้อสินค้า แล้วพบว่าเมล่อนนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น มีราคาสูงถึงลูกละ 2,000 บาท จึงมองเห็นช่องทางในการทำธุรกิจ

นำไปสู่แนวคิดการปลูกเมล่อนเกรดต่างประเทศ แต่เป็นราคาที่คนไทยจับต้องได้ หลังจากนั้นจึงได้สั่งเมล็ดพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่นมาปลูกที่ไร่ของตนเองในอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจดทะเบียนบริษัทในนาม หจก.ชรินทร์พรรณฟาร์ม เพื่อปลูกเมล่อนเกรดพรีเมียม โดยมีการจำลองสภาพอากาศคล้ายหน้าร้อนของญี่ปุ่น แต่จำหน่ายในราคาลูกละหลักร้อย

ทำการเกษตรให้เป็น ‘ธุรกิจ’ เรื่องไม่ง่ายอย่างที่คิด

คุณณัฐนิช กล่าวว่า หลังจากได้มือลงทำ ‘ไร่ชรินทร์พรรณ’ ทำให้รู้ว่าทำเกษตรกับทำธุรกิจเกษตรไม่ง่ายอย่างที่คิด ต้องมีการลองผิดลองถูกนานัปการ มีการไปทดลองงาน-เป็นคนงานปลูกเมล่อน รวมถึงการเรียนคอร์สเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจอย่างจริงจัง

การปลูกเมล่อนใช้เวลาในการเรียนรู้ไม่นานก็มีความเข้าใจ แต่ที่ยากคือการหาตลาด-ลูกค้า และการเริ่มต้นธุรกิจ

ทำอย่างไร? ให้แบรนด์ ‘ชรินทร์พรรณ Competitive กับที่อื่นได้

Co-founder หจก.ชรินทร์พรรณฟาร์ม เล่าว่า ตอนเริ่มทำธุรกิจมีเจ้าใหญ่เป็นพาร์ทเนอร์กับโมเดิร์นเทรดอยู่แล้ว ทางไร่ฯ ไปเสนอเท่าไรก็ไม่ได้รับความสนใจ ตนเองจึงกลับมาคิดกลยุทธ์ด้วยการปลูกพันธุ์ซึ่งเป็น Signature ก็คือสายพันธุ์ฝรั่งเศส มีลักษณะคล้ายลูกบาสเกตบอล แล้วใช้การพิถีพิถันในการปลูกให้เป็นเมล่อนเกรดพรีเมียมเจาะกลุ่มใหม่-ตลาดบน 

ฟาร์มใช้กลยุทธ์จำหน่ายเมล่อนเป็นลูก ที่อื่นขายเป็นกิโลกรัม คัดสรรให้มีขนาดเท่าๆ กัน ซึ่งวิธีนี้สะดวกกับทั้งซัพพลายเออร์ ลูกค้า และฟาร์มเอง ไม่ต้องมีการชั่งน้ำหนัก สามารถนำไปชำระเงินได้เลย ซึ่งกลยุทธ์นี้ในขณะนั้น ‘ไร่ชรินทร์พรรณ’ ทำเป็นที่แรกกับสินค้าเกษตร

หลังจากได้จำหน่ายเมล่อนสายพันธุ์ฝรั่งเศสในโมเดิร์นเทรด ทางไร่ฯ จึงเสนอห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพิ่มเติมว่ามีสายพันธุ์จากฮอกไกโดอีก 2 สายพันธุ์ ด้วยความที่โมเดิร์นเทรดวางใจในคุณภาพ จึงให้ทดลองนำมาจำหน่ายกลายเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เมล่อนของฟาร์ม อยู่ในโมเดิร์นเทรดภาคเหนือมาจนถึงปัจจุบัน

เมล่อน ‘ไร่ชรินทร์พรรณ’ ผ่านมาตรฐาน GAP ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้ระบบการปลูกแบบ Substrate culture หรือการปลูกในวัสดูปลูก คล้ายกับการปลูกพืชในกระถาง แต่ใช้วัสดุอื่นปลูกแทนดินเพื่อให้รากพยุงลำต้นได้ ซึ่งวัสดุในที่นี้หมายถึงทั้งที่เป็นอินทรีย์สารและอนินทรีย์สาร ที่ไม่มีธาตุอาหารพืชสะสะสมอยู่

นอกจากนี้ฟาร์มได้นำเมล่อนไปทดสอบที่สถาบันอาหาร NFI พบว่าปลอดภัยจากสารพิษทุกชนิด ไม่มีสารตกค้างใดๆ ซึ่งเทคนิคการปลูกของฟาร์มคือไม่ใช้สารเร่ง ปล่อยให้สุกตามธรรมชาติ แล้วเก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่กำหนด เพราะเมล่อนที่ดี ต้องมีกลิ่นหอมและหวานด้วย ซึ่งไม่ใช่การหวานจากสารเร่ง แต่ไม่มีความหอม โดยโมเดิร์นเทรดจะมีการสุ่มตรวจคุณภาพทุก 6 เดือน

เสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ ด้วยการตั้งวิสาหกิจชุมชน

ในเรื่องนี้ คุณณัฐนิช กล่าวว่า ด้วยความที่ทาง หจก.ชรินทร์พรรณฟาร์ม ต้องการให้ไร่เมล่อนอื่นๆ ในพื้นที่อำเภอหางดง เติบโตไปด้วยกัน จึงได้จัดตั้ง ‘วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรหางดงพัฒนา’ ขึ้นมา โดยเป็นเครือข่ายเกษตรกร 13 ฟาร์มที่มีวิสัยทัศน์ตรงกัน ในการพัฒนาคุณภาพเมล่อนให้ดียิ่งขึ้น

โดยจะมีการวางแผนปลูกเมล่อนร่วมกัน 1 ปี เพื่อกำหนดให้ผลผลิตออกทุกเดือนและออกไม่ซ้ำสวน ไม่ปลูกทับซ้อน ป้องกันการล้นตลาด เพราะว่านอกเหนือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ แล้ว ยังมีอีกหลายพื้นที่ซึ่งปลูกเมล่อนเหมือนกัน แล้วต้องมาขายคนกลางเพื่อแข่งขันราคา ทำให้เมล่อนถูกลง ‘ไร่ชรินทร์พรรณ’ จึงคิดหาทางป้องกันด้วยการทำวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา วางแผนร่วมกัน คุณภาพต้องไปด้วยกัน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของทางไร่ฯ ไปให้ความรู้ มีไลน์กลุ่มสำหรับสอบถามปัญหาต่างๆ และการนัดประชุมทุกเดือน

ในเรื่องการตลาดเมล่อนและการนำเข้าไปจำหน่ายโมเดิร์นเทรด จะเป็นหน้าที่ของทางไร่ฯ เนื่องจากเมล่อนจะจำหน่ายในแบรนด์ ‘ชรินทร์พรรณ’ ซึ่งทางเราจะรับซื้อราคาที่สูงกว่าตลาด โดยจะมีการหัก 5% ของรายได้ทั้งหมด เพื่อสมทบเป็นกองทุนกลางเงินฉุกเฉินสำหรับแต่ละไร่

ช่องทางการจำหน่ายเมล่อนแบรนด์ ‘ชรินทร์พรรณ’

คุณณัฐนิช เผยว่า เมล่อนแบรนด์ ‘ชรินทร์พรรณ’ จะมีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าทุกโมเดิร์นเทรดในโซนภาคเหนือ ส่วนออนไลน์ทางไร่ฯ เข้าร่วมทุกแพลตฟอร์มเพื่อจำหน่ายทั่วประเทศ และใน สปป.ลาว ด้วย

โดยยอดขายออฟไลน์อยู่ที่ 70% ออนไลน์ 30% ยอดรวมจำหน่าย 1,000 ลูกต่อเดือน หากเป็นช่วงเทศกาลจะอยู่ที่ 1,500 ลูกต่อเดือน

ส่วนการเคลมสินค้าของลูกค้าออนไลน์ สามารถ โทร. หรือแอดไลน์มาแจ้ง ทางฟาร์มยินดีส่งเมล่อนให้ใหม่ทันที ภายใน 3 วัน เป็น After Sales Service ที่ทำให้ผู้บริโภคประทับใจ อยากกลับมาซื้อสินค้าอีกครั้ง

‘โควิด’ กับการปรับตัวของธุรกิจ

สำหรับเรื่องนี้ Co-founder หจก.ชรินทร์พรรณฟาร์ม เล่าว่า ช่วงโควิด 19 ทำให้ฟาร์มมีธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงแรกๆ ได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ จึงมีการปรับตัวให้กลายเป็นธุรกิจบริการ ด้วยการยกผลไม้จากฟาร์มไปห้างฯ ในคอนเซปต์ Fruit Frappe from Farm ทำ ‘เมล่อนสมูทตี้’ เป็นสินค้าทดลองตลาดใหม่ๆ เนื่องจากเมล่อนมักเป็นผลไม้ที่ซื้อไปฝากมากกว่ารับประทานเอง

ฟาร์มมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนซื้อไปกินเอง จึงตกผลึกออกมาเป็น ‘เมล่อนสมูทตี้’ หรือเมล่อนปั่น โดยตั้งกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งได้รับการตอบรับดี กลายเป็นรายได้หลักของฟาร์ม โควิด 19 ธุรกิจอื่นได้รับผลกระทบ แต่ยอดขายของ ‘ไร่ชรินทร์พรรณ’ เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีการพัฒนาต่อไปเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ในอนาคต

นอกจาก ‘เมล่อนสมูทตี้’ แล้ว เมล่อนที่ไม่ผ่านการคัดเกรดแต่รสชาติยังดีอยู่ จะถูกนำไปทอดแปรรูปด้วยเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูป Vacuum Fried หรือการทอดสุญญากาศที่อุณหภูมิต่ำ ทำให้ไม่เสียคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งคล้ายผักกรอบแต่เป็นเมล่อนกรอบ กลายเป็นสินค้าอีกประเภทสแน็กเพื่อสุขภาพ

จากอาจารย์พิเศษสอนนักศึกษามหาวิทยาลัย ใช้ความชอบในการรับประทานเมล่อนนำทางหัวใจสู่การปลูกเมล่อน ณ บ้านเกิดตัวเอง ผนวกเข้ากับการศึกษาเกษตรธุรกิจอย่างจริงจัง กลายเป็นกุญแจสำคัญทำให้ คุณณัฐนิช กิตยานุรักษ์ Co-founder หจก.ชรินทร์พรรณฟาร์ม ประสบความสำเร็จในการนำเมล่อนแบรนด์ ‘ไร่ชรินทร์พรรณ’ รุกตลาดโมเดิร์นเทรดภาคเหนือ สร้างชื่อให้ผู้บริโภคเมืองไทยได้รู้จัก มียอดสั่งซื้อออนไลน์จากทั่วประเทศ รวมถึง สปป.ลาว ที่เตรียมแตกไลน์ธุรกิจ ‘เมล่อนสมูทตี้’ เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ในอนาคต

รู้จัก ‘หจก.ชรินทร์พรรณฟาร์ม’ เพิ่มเติมได้ที่

https://web.facebook.com/Charinphan.Melon.Farm/?_rdc=1&_rdr

https://www.youtube.com/channel/UCFMmY_MpitKkZdr_Wu61CtQ