‘ปิยะพร’ บุกเบิกเห็ดออรินจิไทย โกอินเตอร์ให้โลกรู้จัก

สำหรับผู้ที่ชมชอบอาหารญี่ปุ่นสไตล์ ปิ้ง – ย่าง ถือเป็นหนึ่งในประเภทการรับประทานที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในบ้านเรา

แล่บางๆ แล้วบรรจงวางอาหารลงบนตะแกรง เมื่อกระทบกับความร้อนของเตาเกิดกลิ่นหอมชวนให้อยากลิ้มลองอย่างที่สุด ซึ่งนอกจากบรรดาเหล่าเนื้อชนิดต่างๆ อาหารซีฟู้ดที่เป็นเมนูยอดฮิตแล้ว ยังมีเห็ดอีกหนึ่งชนิดซึ่งได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อยก็คือ ‘เห็ดออรินจิ’ อันเป็นที่ถูกปากของใครหลายคน โดยประเทศไทยสามารถปลูกและพัฒนาจนเป็นธุรกิจได้เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ก่อนจะเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญทำให้ บจก.ปิยะพรอินเตอร์เอโกรโลยี เจ้าของแบรนด์ ‘ปิยะพร’ ประสบความสำเร็จอย่างสูงและเป็นผู้นำด้านการผลิตเห็ดออรินจิในบ้านเราขณะนี้

ทำไมต้องเห็ดออรินจิ

จากกิจการเครื่องเย็นต่อยอดธุรกิจด้วยการปลูกเห็ดออรินจิ คุณสุวัฒก์ พิทักษ์เจริญวงศ์ ผู้จัดการ บจก.ปิยะพรอินเตอร์เอโกรโลยี ได้เผยว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 17 ปีก่อน จากการที่ ‘คุณปรีชา’ คุณพ่อผู้ก่อตั้งบริษัทได้ไปชมงานนิทรรศการเทคโนโลยีด้านการเกษตร เพื่อเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่ไม่มีจำหน่ายในไทย ก่อนจะพบกับเห็ดออรินจิแล้วเกิดความสนใจ

เห็ดออรินจิสมัยก่อนยังไม่มีการปลูกในประเทศไทย การนำเข้ามาจำหน่ายก็มีน้อยมาก คุณปรีชาจึงมองเห็นโอกาสทางธุรกิจเพราะเห็ดมีรสชาติดี และยังไม่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย

Knowledge First ก่อนสร้างธุรกิจ

ต่อมา คุณปรีชา ได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผู้จัดงานดังกล่าวว่า เห็ด ออรินจิสามารถปลูกในไทยได้หรือเปล่า และได้มีการศึกษาเพิ่มเติมว่าต้องปลูกอย่างไร มีต้นทุนด้านใดบ้าง ต้องทำโรงเรือนปลูกแบบไหน และควรปลูกในสภาพแวดล้อมแบบใด

หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี จึงได้มีการคิดโปรเจคปลูกเห็ดออรินจิขึ้นมา โดยมีอาจารย์จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) คอยให้คำปรึกษา เมื่อมีความรู้มากพอ บริษัทก็มีความมั่นใจว่าสามารถปลูกเห็ดออรินจิในไทยได้ แต่ต้องสร้างโรงเรือนเพื่อซัพพอร์ตการปลูกเห็ดชนิดนี้

คุณสุวัฒก์ ได้เล่าเพิ่มเติมว่า บจก.ปิยะพรฯ จึงเริ่มโครงการด้วยการใช้พื้นที่ในอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี สร้างโรงเรือนขึ้นโดยสามารถปลูกเห็ดได้ประมาณ 200-300 กิโลกรัม ช่วงปี 2546 ซึ่งการปลูกช่วงนั้นค่อนข้างมีอุปสรรค เพราะเห็ดออรินจิไม่เหมาะกับสภาพอากาศบ้านเรา จึงต้องมีการปรับอุณหภูมิ-ความชื้นเพื่อให้เกิดความเหมาะสม

ช่วงระยะเวลา 1-5 ปีแรก ผลผลิตค่อนข้างต่ำกว่าเป้าหมายพอสมควร จึงมีการหาข้อมูลเพิ่มเติม หาสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้แมตชิ่ง สามารถปลูกได้ในห้องที่มีสภาพความดัน-ความชื้นต่างๆ รวมถึงการควบคุมอุณหภูมิ หลังจากปีที่ 6 จึงเริ่มประสบผลสำเร็จ จากผลผลิต 300-500 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1 ตันต่อโรงเรือน ขณะนั้นโรงเรือนมีประมาณ 10 ห้อง ผลผลิตต่อห้องประมาณ 100 กิโลกรัม

ทำอย่างไรให้เห็ดออรินจิ Made in Thailand ติดตลาด

คุณสุวัฒก์ เล่าว่า ช่วงเริ่มปลูกเห็ดออรินจิใหม่ๆ สมัยนั้นการใช้อินเตอร์เน็ต โซเชียล มีเดียยังมีไม่มากเช่นในปัจจุบัน ดังนั้น บริษัทจึงใช้กลยุทธ์การตลาดด้วยวิธี ‘ไดเรคท์มาร์เก็ตติ้ง’ ก็คือ

  1. ร้านอาหารญี่ปุ่น ที่นำเห็ดออรินจิไปเป็นเมนูอาหาร
  2. การค้าส่ง เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง

บริษัทไดเรคท์กลุ่มลูกค้าหลักซึ่งก็คือร้านอาหารญี่ปุ่นที่ต้องการเห็ดออรินจิก่อน เมื่อสร้างการรับรู้ มีคนได้รับประทาน และมีสื่อบางสำนักเมื่อได้ลิ้มลองเห็ดออรินจิก็ติดต่อเข้ามา เพื่อสอบถามว่าสามารถผลิตในไทยได้แล้วหรือ เพราะสมัยก่อนยังต้องนำเข้า หลังจากนั้นก็มีมาร์เก็ตแชนเนลติดต่อเข้ามา เพื่อนำสินค้าของ บจก.ปิยะพรฯ จัดจำหน่ายตามร้านอาหารที่มีเห็ดออรินจิอยู่ในเมนู

เห็ดออรินจิแบรนด์ ‘ปิยะพร’ ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการ เนื่องจากการปลูกในไทยเมื่อปี 2547 สามารถช่วยลดต้นทุนร้านอาหารได้ หากนำเข้าจากต่างประเทศราคาจะค่อนข้างสูงกว่า เช่น หากเห็ดออรินจิของ บจก.ปิยะพรฯ จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 400 บาท การนำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาประมาณ 500-1,000 บาทเลยทีเดียว

ควบคุม-ดูแลคุณภาพมาตรฐานอย่างไร?

สำหรับเห็ดออรินจิที่ บจก.ปิยะพรฯ เริ่มต้นนำมาปลูกในไทย คุณสุวัฒก์ เผยว่า เป็นสายพันธุ์มาจากสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อนำมาปลูกในสภาพอากาศประเทศไทย ด้วยห้องควบคุมความเย็น แม้จะปลูกได้แต่ก็ยังไม่แมตช์กันร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงมีการนำเข้าสายพันธุ์ซึ่งมีการดัดแปลงในเขตเอเชียแล้ว เช่น จากประเทศเกาหลี หรือญี่ปุ่น แล้วบริษัทนำมาปรับปรุงสายพันธุ์เพิ่มเติมเพื่อให้แมตชิ่งกับสภาพอากาศบ้านเรา แต่ยังคงคุณภาพเส้นใยของเห็ด

‘เห็ดนางฟ้าภูฐาน’ ซึ่งเป็นอีกชนิดที่ บจก.ปิยะพรฯ ได้ปรับปรุงสายพันธุ์ เพื่อให้ได้ผลิตผลคุณภาพดี ไม่มีแมลงไปวางไข่ในก้านของดอกเห็ด ด้วยการปลูกในโรงเรือนปิด และคัดเลือกสายพันธุ์เห็ดดีที่สุดที่สามารถอยู่ในห้องเย็นได้ โดยเท็กเจอร์จะค่อนข้างกรอบรสชาติดี ขณะนี้บริษัทมีโรงเรือนสำหรับปลูกเห็ดทั้งหมดจำนวน 30 ห้อง แบ่งเป็นเห็ดออรินจิจำนวน 20 ห้อง ให้ผลผลิต 2 ตันต่อวัน ส่วนเห็ดนางฟ้าภูฐานสามารถผลิตได้ 1 ตันต่อวัน

ทิศทาง ‘ตลาดเห็ด’ ในปัจจุบัน

สำหรับตลาดเห็ดนางฟ้าภูฐานนั้น คุณสุวัฒก์ ให้ความเห็นว่ามีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะตลาดค่อนข้างมีดีมานด์ ซัพพลายพอสมควร ทำให้สามารถจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี ส่วนตลาดเห็ดออรินจิมีแนวโน้มคงที่เพราะว่าคนรู้จักค่อนข้างเยอะแล้ว โดยในประเทศไทยคาดว่ามูลค่าตลาดประมาณ 200-300 ล้านบาท ต่อปี

‘เห็ดออร์แกนิก’ เปิดตลาดในต่างประเทศ

ในเรื่องนี้ คุณสุวัฒก์ ให้ความรู้ว่า การรับประทานเห็ดออรินจิโดยทั่วไป คือการนำไปแล่แล้วปิ้งหรือย่าง บริษัทจึงได้มีการพัฒนาสินค้าออกมาเพิ่มเติม เช่น เห็ดออรินจิมีดอกขนาดเล็กเพื่อนำไปทำสุกี้ หรือการนำไปทำเป็นขนมขบเคี้ยวหรือกลุ่มสแน็ก เป็นต้น

เราแยกเห็ดออรินจิออกเป็น 4 เซกเมนต์ชัดเจนคือ 1. กลุ่มปิ้ง-ย่าง 2. กลุ่มสุกี้ 3. กลุ่มสแน็ก และ 4. กลุ่มนำไปทำเป็นอาหารอย่างเช่น ข้าวแกง”การที่เห็ดออรินจิจะตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างตรงจุด บจก.ปิยะพรฯ จึงได้ทำงานร่วมกับร้านอาหารเพื่อให้ทราบถึงสเปกต่างๆ ของเห็ดที่ลูกค้าต้องการ จากนั้นบริษัทก็จะผลิตให้ได้ตามนั้นบางครั้งมีออเดอร์ปลูกเห็ดพิงก์ออยสเตอร์ มัชรูม หรือเห็ดนางฟ้าสีชมพู เพื่อนำมาสกัดเป็นยาเกี่ยวกับคอสเมติก บำรุงผิวหน้า ซึ่งหากเป็นเรื่องของเห็ดออรินจิหรือเห็ดนางฟ้า บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการผลิตเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ารอบด้าน

ซึ่งนอกจากการจำหน่ายในประเทศแล้ว ยังมีการส่งออกไปต่างประเทศ เช่น กัมพูชา ลาว รวมถึงเยอรมนี  เพราะมาตรฐานที่บริษัทผลิตคือออร์แกนิกเกือบ 100% ตามมาตรฐาน GAP ของประเทศไทย

เชื่อมระบบโรงเรือนด้วยเทคโนโลยี IoT

คุณสุวัฒก์ กล่าวว่า สำหรับระบบการจัดการภายในโรงเรือนมีการติดตั้งระบบ Internet of Things (IoT) ซึ่งมีการใช้เครื่องควบคุมอุณหภูมิ-ความชื้นอัตโนมัติ เป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด และเมื่อปี 2562 บริษัทได้มีการนำแผงโซลาร์เซลล์มาใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตที่ 700-1,500 กิโลวัตต์ต่อวัน

ในอนาคตจะมีการใช้เทคโนโลยี CCTV ควบคุมอุณหภูมิและความชื้น แมตชิ่งทั้ง 3 ลิงก์เข้ากับระบบคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมปริมาณเห็ดให้มีคุณภาพมากที่สุด และช่วยในการเลือกเก็บเห็ดช่วงที่มีคุณภาพมากที่สุด

ปรับขนาด ราคา และแตกไลน์ตลาด ลดผลกระทบช่วงโควิด-19

คุณสุวัฒก์ เปิดเผยว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อยอดขายกลุ่มโมเดิร์นเทรดประมาณ 30% เพราะมีสินค้าที่บริษัทส่งให้แบรนด์หลักตามห้างสรรพสินค้า เมื่อเกิดผลกระทบจึงมีการแก้ปัญหาด้วยการเซ็ตสินค้าให้มีขนาดเล็กลง

ปกติขายขนาด 1 กิโลกรัมต่อถุง ก็ปรับมาขาย 500 กรัม หรือขนาด 200 กรัมก็ปรับมาขาย 100 กรัม เพื่อให้ผู้บริโภคซื้อง่ายขึ้นในราคาถูกลง สามารถซื้อรับประทานคนเดียวได้เหมาะกับคนที่อยู่คอนโดฯ เป็นต้น ซึ่งตัวที่ถูกเซ็ตขนาดจะอยู่ในกลุ่มขายในซูเปอร์มาร์เก็ต

นอกจากนี้ ยังมีการขายออนไลน์แต่มีในส่วนของกลุ่มที่นำเห็ดไปแปรรูป เช่น เห็ดหยอง ซึ่งตลาดนี้มีแนวโน้มเติบโต เพราะช่วงโควิด-19 คนอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ โดยบริษัทมีการขยายแบรนย์สินค้าลูกชื่อแบรนด์ ‘มัชทีนี่’ ซึ่งเป็นรูปแบบเห็ดออรินจิ ทอดโดยระบบสุญญากาศในน้ำมันรำข้าว มี 3 รสชาติ สามารถสั่งไปรับประทานเป็นสแน็ก หรือคลุกกับข้าวได้ และมีการเปิดรับตัวแทนจำหน่าย 1 ตลาด 1 ตัวแทน

ส่วนแพลนในอนาคต บจก.ปิยะพรฯ จะมีผลิตภัณฑ์จากเห็ดนางฟ้าสีชมพู และเห็ดนางฟ้าสีทอง ซึ่งเป็นเครื่องดื่มสกัดบำรุงเพื่อสุขภาพ โดยจะผลิตเป็นชนิดผงเพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาหารหรือเครื่องดื่มต่างๆ ได้ต่อยอดธุรกิจจากการจำหน่ายเห็ดออรินจิสด เพราะกระแสในปัจจุบันผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นแนวคิดธุรกิจสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ หากสังเกตแล้วนำมาเป็นความคิดตั้งต้นหรือนำไปประยุกต์เข้ากับธุรกิจตัวเอง ก็อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางต่อยอดธุรกิจจนประสบความสำเร็จได้ดังเช่น บจก.ปิยะพรอินเตอร์เอโกรโลยี เจ้าของแบรนด์เห็ดออรินจิ ‘ปิยะพร’หากผู้อ่านท่านใดสนใจสินค้าและผลิตภัณฑ์ สามารถติดต่อผ่านช่องทาง www.pypmushroom.com หรือ 086-573-3636, 086-366-7800

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน 1333