งานเสวนาออนไลน์ส่งท้ายปี “อย่าคิดทำเกษตร ถ้ายังไม่ได้ดูงานนี้” งานที่กูรูเกษตร เข้ามาเผยเคล็ดลับความสำเร็จแบบจัดเต็ม  

งานเสวนาออนไลน์ส่งท้ายปี อย่าคิดทำเกษตร ถ้ายังไม่ได้ดูงานนี้งานที่กูรูเกษตร เข้ามาเผยเคล็ดลับความสำเร็จแบบจัดเต็ม

ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ ควายดำทำเกษตร เปิดพื้นที่จัดเสวนาออนไลน์ส่งท้ายปี 2564 ภายใต้ชื่อ อย่าคิดทำเกษตร ถ้ายังไม่ได้ดูงานนี้ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564 ที่อาคารสามย่านออฟฟิศ ชั้น 7 งานเสวนาสำหรับทุกคนที่อยากประกอบอาชีพเกษตร รวมถึงเกษตรที่อยากพัฒนาตัวเองให้ประสบความสำเร็จในอาชีพมากขึ้น ภายในงานเต็มไปด้วย เจ้าของธุรกิจเกษตร และเกษตรกรตัวจริง ที่มาแลกเปลี่ยนบอกเล่าเรื่องราว ถ่ายทอดประสบการณ์ทางการเกษตร เปิดโลกให้รู้ว่าความจริงแล้วโลกอาชีพเกษตรไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด พร้อมมอบความรู้เพื่อให้ทุกคนสามารถนำไปใช้พัฒนาตัวเองให้เป็น “สายแข็ง” ในการประกอบอาชีพเกษตรกรได้

 เริ่มการเสวนาโดย คุณรัฐ จันทวิสูตร ทายาทสวนจันทวิสูตร จังหวัดจันทบุรี สวนทุเรียนหลากสายพันธุ์ ผู้สร้างแบรนด์ด้วยความแตกต่างมาตลอด 30 ปี จากการเลือกปลูกสายพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้าน แทนการปลูกทุเรียนหมอนทอง

“ปัจจุบันทุเรียนที่ขายหรือส่งออกต่างประเทศเป็นทุเรียนหมอนทองเกือบ 99% แต่สวนจันทวิสูตรกลับเลือกสายพันธุ์พื้นบ้านเป็นหลัก เพราะเราเชื่อว่าในไทยยังมีทุเรียนดีๆ ที่อยากนำเสนอให้ทุกคนได้กิน เราอยากเป็น 1% ที่เหลือของตลาด ที่ขายทุเรียนพื้นบ้านที่แตกต่าง และใช้เป็นจุดแข็งของแบรนด์ โดยใช้การขายออนไลน์เป็นหลัก เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทุกอย่างที่ปลูกในสวน 90% ไม่ใช่ที่ต้องการขายตลาด จึงเน้นการทำตลาดออนไลน์เพื่อหาลูกค้าเป็นหลักผ่านกลุ่มเฟซบุ๊กของทางสวน ที่ใช้เป็นแหล่งซื้อขาย” คุณรัฐกล่าว

ทายาทสวนจันทวิสูตรยังเผยเคล็ดลับความสำเร็จในการทำตลาดออนไลน์ว่า จุดแรกเริ่มเมื่อรู้ว่าไม่มีตลาดรองรับ ตั้งแต่วันที่ทุเรียนลงปลูก สิ่งที่ทำคือการเล่าทุกอย่างในสวนลงโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊ก และค่อยๆ สร้างเรื่องราวของสวนตัวเองแบบง่ายๆ ที่ทุกคนเข้าใจได้เร็ว สร้างภาพจำให้ทุกคนเห็น ผ่าน hashtag #สวนจันทวิสูตร  จากวันนั้นถึงวันนี้ใช้เวลาสร้างแบรนด์เป็นระยะเวลา 6 ปี จนมีกลุ่มซื้อขายที่ใช้ขายทุเรียนของตัวเองที่หลายคนจับจ้องซื้ออยู่เสมอ

ต่อกันที่ “แอดมินควายดำทำเกษตร” ได้หยิบยกประเด็นเรื่องข้าวเปลือกราคาตกต่ำ ที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมชาวนาไม่ปลูกข้าวเอง ขายเอง สีเอง ทำไมต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยมี คุณพรสุข คำแก้ว เจ้าของแบรนด์ ข้าวหอมมะลิสุรินทร์แท้100% เกษตรกรตัวจริงที่ขายข้าวเองมากว่า 10 ปี เป็นผู้มาเฉลยข้อสงสัย และบอกเล่าประสบการณ์ของชาวนาโดยแท้จริง

“เนื่องจากขั้นตอนการปลูกข้าวมันเยอะมาก การที่ชาวนาปลูกเองขายเองจึงสู้ผู้ปลูกข้าวเป็นอุตสาหกรรมไม่ได้ เพราะทุกขั้นตอนล้วนมีปัญหา เริ่มตั้งแต่การปลูก ปัญหาฤดูการปลูก พอถึงตอนเกี่ยว ก็ต้องมีเวลาที่เหมาะสม สุกไปก็ไม่ได้ เกี่ยวช้าไปก็จะไม่ได้ความเขียวที่ต้องการ เกี่ยวเสร็จแล้วตาก ต้องคอยระวังไม่ให้โดนฝน เพราะจะมีผลกับคุณภาพ ตากแห้งเสร็จก็ต้องไปส่งโรงสี ถ้าเจอโรงสีไม่ดีก็จะเจอปัญหาข้าวแตกหัก ต่อมาเรื่องการขนส่ง ข้าวเป็นของหนัก ต้นทุนมันสูง ไหนจะค่ากล่อง ตั้งแต่การปลูกข้าวจนได้ข้าว 1 ถุง จะให้มันหอมให้มันสวย มันไม่ง่ายอย่างที่คิด”

 

กลายเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง พร้อมทั้งให้คำแนะนำสำหรับคนที่อยากเริ่มทำเกษตรปลูกข้าว ความว่า“เริ่มจากการคำนึงถึงเรื่องคุณภาพข้าว  ถ้าจะทำให้อยู่ได้นานเรื่องคุณภาพของข้าวสำคัญที่สุด ถ้าข้าวดีเราจะมีลูกค้าประจำ อาจจะเริ่มจากทำน้อยๆ เอาลูกค้าให้อยู่ และทำอาชีพอื่นผสมผสานไปในเวลาเดียวกัน”

ด้าน คุณสุรวุฒิ ศรีนาม นักธุรกิจเกษตร เจ้าของแบรนด์เรียลฟาร์ม ผู้พัฒนาจากผู้ผลิตที่ค้าขายหอมแดง พริกตามฤดูกาล มาเป็นผู้ประกอบการ ได้มาบอกเล่าประสบการณ์การทำงานบนเวทีเสวนาว่า แวดวงเกษตรกรผู้ปลูกพริก มีปัญหาการเรื่องแข่งขันมาก เนื่องจากการเข้ามาของโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ก เครื่องมือสำคัญที่ดึงธุรกิจเกษตรขึ้นมาคึกคัก

 

แง่หนึ่งทำให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าได้ง่ายและสะดวก ตัดพ่อค้าคนกลางได้ แต่ในทางกลับกันก็เกิดการตัดราคา และกลายเป็นโจทย์ให้ต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้สามารถปลูกพริกเพื่อสู้กับพ่อค้าชาวบ้านที่มีต้นทุนต่ำมากได้อย่างไร ซึ่งสิ่งที่คุณสุรวุฒิทำคือ “การไปโฟกัสว่าอยากทำอะไรที่มันทำยากมากขึ้น เลยมองภาพที่กว้างขึ้นกว่าตอนการเป็นผู้ผลิต เริ่มมองหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ จนไปเจอตลาดพริกปลอดภัยเพื่อการส่งออก สำหรับขายที่ญี่ปุ่น ซึ่งจะมีขั้นตอนการควบคุมสารตกค้างที่เข้มงวดกว่า และกลายเป็นตลาดใหม่ๆ ที่ขายได้ จนปัจจุบันเราได้กลายเป็นผู้ผลิตพริกที่ส่งออกยุโรป ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น เป็นต้น”

 

ในช่วงถามตอบมีผู้เข้าร่วมงานสอบถามว่า การทำเกษตรในยุคปัจจุบันจะทำยังไงให้รอด? ซึ่งคุณสุรวุฒิให้คำตอบว่า

“ต้นทุนด้านเกษตรของเราค่อนข้างดีในระดับโลก เรามักได้ยินคำว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว ซึ่งเรามีชื่อเสียงในด้านสินค้าเกษตรอย่างมาก เราได้รับการยอมรับจากทั่วโลก แต่เราต้องไม่กินแต่บุญเก่า โจทย์คือจะทำอย่างไรให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ สิ่งหนึ่งที่คนไทยไม่ได้รับการปลูกฝังมา คือเราไม่ให้ความสำคัญกับการแข่งขัน เราเลยอยู่กับที่ สิ่งที่ต้องทำคือการพัฒนาให้เท่าทันโลกให้มากขึ้น” คุณสุรวุฒิ กล่าว

หัวข้อต่อมาคือการสานต่อธุรกิจเกษตรจากครอบครัว โดย คุณแนนวราภรณ์ มงคลแพทย์  แห่งสวนมะม่วง บ้านหมากม่วง จังหวัดนครราชสีมา เกษตรกรรุ่นลูกที่มารับช่วงต่ออาชีพเกษตรกรรมต่อจากรุ่นพ่อ

จุดเริ่มต้นของคุณแนน เกิดจากการเติบโตขึ้นท่ามกลางสวนมะม่วงของพ่อ ได้เห็นทุกช่วงเวลาของมะม่วงตั้งแต่ใบอ่อนจนถึงการได้มะม่วงหอมอร่อยสักลูกหนึ่ง ได้เห็นช่วงเวลาแห่งความสำเร็จที่สวนของพ่อ จนถึงช่วงเวลาที่ยากลำบาก บางปีขาดทุนหลายล้านบาท จนกลายเป็นโจทย์ว่ามีอะไรที่พอจะช่วยพ่อได้เพื่อเปลี่ยนแปลง หรือมาต่อยอดสวนของพ่อ กลายเป็นที่มาให้คุณแนนหันเข้าสู่วงการสวนมะม่วง พลิกการทำตลาดจากการขายส่งของพ่อ มาเน้นขายปลีกเป็นหลัก พร้อมทำแบรนด์ “บ้านหมากม่วง” ไปในเวลาเดียวกัน

คุณแนนนับเป็นเซเลบริตี้แห่งวงการมะม่วง ที่มีเทคนิคการขายที่น่าสนใจ เพราะไม่ว่าจะออกแคมเปญอะไรก็มียอดขายถล่มทลาย พร้อมเผยแนวคิดในการสร้างไวรัล มาร์เก็ตติ้ง ว่า “เราต้องทราบก่อนว่าเรามีผลผลิตเท่าไหร่ที่ต้องเคลียร์ โจทย์ของบ้านหมากม่วงคือทำอย่างไรก็ได้ให้ขายมะม่วงจากสวนของคุณพ่อให้หมด 20-30 ตันภายใน 1 เดือน เวลาคิดแคมเปญจึงไม่คิดขายน้อย ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว จึงต้องหาวิธีขายที่เป็นรายการใหญ่ อาทิ แคมเปญสู้โควิด ที่เราเคยจัดเป็นแนวคิดคล้ายๆ กล่องสุ่ม ขายมะม่วงแบบเหมาต้น เพื่อระบายสินค้า เราก็ได้ระบายสินค้าในปริมาณมากขึ้น ไอเดียต่างๆ เกิดจากการที่เราได้เห็นอะไรมากๆ ศึกษาการตลาด หาแรงบันดาลใจจากการทำสวนต่างประเทศ เพื่อมาปรับใช้ในสวนของเรา”

ปิดท้ายงานเสวนาด้วยประเด็นร้อนแรง อย่างการเกิดขึ้นของรถไฟลาว-จีน จะสร้างประโยชน์และโทษอย่างไรให้ผู้ประกอบการเกษตรในประเทศไทยไทย โดย ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดโซ่อุปทานและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมธุรกิจระหว่างประเทศ เป็นผู้มาให้ความรู้ “จากข่าวที่เราเห็นกันคือระบบรางกำลังพ่นพิษทำให้เกษตรไทยเดือดร้อน คำตอบคือมีฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนแน่ๆ เป็นวิกฤตสำหรับบางกลุ่ม เป็นโอกาสสำหรับบางกลุ่มเช่นกัน ตลอดทั้งงานเสวนาวันนี้เราเห็นถึงมุมมองที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือเราต่างมีผลผลิตที่มีคุณภาพเหมือนกัน

“อย่าลืมว่า ประเทศไทยเรามี 70 ล้านคนโดยประมาณ ประเทศจีนแค่มณฑลยูนนานก็ 40 กว่าล้านคน มณฑลเสฉวนอีก 90 ล้านคน จีนตะวันตกมีคนรวมๆ กว่า 200 ล้านคน ลองคิดดีๆ ดูว่าเป็นวิกฤตหรือโอกาส ถ้าคุณภาพของคุณดี ยังไงก็ขายได้” ดร.วรชาติ ชี้ชัด

นอกจากนั้น ดร.วรชาติ ยังขยายความต่อว่า ระบบรางที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิด Cost Border E-commerce หรือสิทธิพิเศษเรื่องภาษีในบางเรื่อง หากใช้ระบบรางจะพื้นที่ที่เรียกว่า Free Trade Zone สินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์เรายังไม่ต้องเสียภาษี ค่อยจ่ายภาษีตอนขายสินค้าได้ ทำให้เห็นว่าตู้คอนเทนเนอร์สามารถบรรจุสินค้าได้หลากหลายประเภท และหลากหลายแบรนด์ ถ้าเกิดขึ้นจะทำให้เอสเอ็มอีบ้านเรา หรือผู้ประกอบการบ้านเราได้ผลประโยชน์ และจะกลายเป็นทางรอดประเทศไทยในท้ายที่สุด

ดร.วรชาติ ยังทิ้งท้ายว่า “ระบบรางมันจะไม่สามารถบอกให้หยุดการพัฒนาได้ มันจะเปิดมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของเกษตรกรรุ่นใหม่ในอนาคตในเรื่องการทำสินค้าคุณภาพ ถ้าไม่ทำแบรนด์หรือคุณภาพไม่ถึง จะไม่สามารถสู้ประเทศเพื่อนบ้านได้แน่นอน”

ทั้งนี้ งาน “อย่าพึ่งคิดทำเกษตร ถ้ายังไม่ได้ดูงานนี้” นับเป็นงานเสวนาที่เข้ามาช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยและขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน