สิ่งที่เกษตรควรรู้ เพื่อการเลือกใช้เทคโนโลยี Smart Farming อย่างเหมาะสม

Smart Farming หรือ การทำเกษตรสมัยใหม่ (Modern Agriculture) ที่มุ่งเน้นการจัดการผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี แนวคิดการเปลี่ยนผ่านการทำเกษตรสู่ยุคใหม่ซึ่งจะแตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง เนื่องจากการทำเกษตรกรรมในปัจจุบันรวมถึงในอนาคตจะต้องอาศัยเทคโนโลยีเพื่อมาเพิ่มคุณภาพการผลิต การเก็บเกี่ยวหรือแม้แต่การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

ด้วยเหตุนี้ จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ที่เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการเร่งให้ภาคเกษตรมีการพัฒนา หรือปรับปรุงวิธีการผลิตรูปแบบเดิมไปสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งจะมีเทคโนโลยีที่น่าสนใจและส่งผลโดยตรงต่อเกษตรกร

1. เกษตรอัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิต เทคโนโลยีและนวัตกรรมการปลูกผักหรือพืชอายุสั้นด้วยเทคนิคใหม่ๆ เช่น การปลูกพืชไม่ใช้ดิน การผลิตสาหร่ายเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ การทำฟาร์มแนวตั้ง (Vertical Farming) โดยใช้แสงจากหลอดไฟ LED ทดแทนแสงจากดวงอาทิตย์ ซึ่งในปัจจุบันมีรูปแบบในการพัฒนาการเพาะปลูกไปอย่างมากมาย ทำให้เป็นทั้งโอกาสและการหาโอกาสใหม่ๆ ได้อีกด้วย

2. เทคโนโลยีในการผลิตอาหารและเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานอาหาร เช่น การใช้ AI, Machine Learning, IoT, Big Data, เซ็นเซอร์ควบคุมภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้สามารถผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ แต่ประหยัดน้ำ ลดใช้พลังงาน และนำไปสู่การจัดการแบบไม่เหลือทิ้งในภาคเกษตร (Zero Waste) ซึ่งปัจจุบันธุรกิจด้านเกษตรทั่วโลกมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องในแง่ของการนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมผลิตภาพและประสิทธิภาพการทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทานซึ่งเป็นแนวทางไปสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ที่มีความยั่งยืน

3. การปรับปรุงพันธุ์ (Plant Breeding) เทคโนโลยีด้านการศึกษาพันธุกรรมของพืชด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ หรือองค์ความรู้ที่เรียกว่า จีโนมิกส์ (Genomics) ซึ่งเป็นการศึกษารหัสพันธุกรรมทั้งหมดของสิ่งมีชีวิต Genomics ประกอบด้วย การตัดต่อยีนหรือพันธุกรรม โดยในปัจจุบันการศึกษา Genomics ได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิตอล ตั้งแต่เทคโนโลยีที่ใช้เก็บข้อมูลปริมาณมากที่รวดเร็วและแม่นยำ

ตลอดจนการนำวิทยาการด้านการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืชมาเป็นส่วนเสริมสร้างให้เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ดีกว่าเดิม หรือตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากกว่าเดิม เช่น การพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ที่เป็นที่ต้องการของผู้ป่วยเบาหวาน หรือในด้านปศุสัตว์ เช่น การพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อลายหินอ่อน

ด้วยเหตุนี้ จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่เพียงส่งผลดีต่อเกษตรกร แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาวงการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สู่มือผู้บริโภค โดยการผลิตสินค้าที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ใช้ปัจจัยการผลิตน้อยลง หรือเกิดความคุ้มค่าสูงสุด ปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม การเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ ยังเป็นประเด็นที่เปิดกว้าง เนื่องจากจะต้องศึกษาในหลายๆ ด้านอย่างรอบคอบ แต่ก็พอจะให้คำจำกัดความได้คร่าวๆ โดยมี 3 ประเด็นหลักที่ควรพิจารณา คือ

1. เทคโนโลยี คือต้นทุน ดังนั้น ผู้ใช้จึงต้องเลือกเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงราคาเปรียบเทียบของปัจจัยการผลิตชนิดต่างๆ รวมทั้งราคาเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนกับราคาผลิตผล และที่สำคัญคือราคาในการดำเนินการส่วนต่างๆ ด้วย เพราะอย่าลืมว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยียังเกิดเป็นต้นทุนแฝง อาทิ การจัดการ ดูแลรักษาให้สามารถใช้งานได้สมบูรณ์

2. ความเหมาะสมตามขนาดฟาร์ม ขนาดเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับขนาดของพื้นที่ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สภาพดิน สภาพน้ำ พืชที่ปลูก และยังต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของเกษตรกรด้วย

3. เหมาะสม ไม่ได้แปลว่าทันสมัย ดังนั้น ความเหมาะสมในการเลือกลงทุนด้านเทคโนโลยีไม่ใช่เลือกเทคโนโลยีที่ดูทันสมัยที่สุด แต่ควรเลือกที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด โดยการนำข้อ 1. และ ข้อ 2. มาพิจารณาประกอบ

เทคโนโลยีด้านเกษตรอะไรบ้างที่เกษตรกรสนใจ

ด้านการเตรียมปัจจัยและวางแผนการผลผลิต อาทิ การใช้ซอฟต์แวร์เพื่อวิเคราะห์คุณสมบัติของดิน น้ำ ปุ๋ย สภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ การใช้ปัจจัย รวมถึงการจัดการภายในฟาร์มด้วย

ด้านการให้ปัจจัยและติดตามกระบวนการผลิต อาทิ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกโดยไม่ใช้ดิน การคำนวณการให้ปัจจัยด้านการเติบโตแก่พืชที่เหมาะสม การควบคุมวัชพืช หรือแม้แต่การใช้แขนกล หุ่นยนต์ หรือโดรน มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมถึงด้านปศุสัตว์ เช่น การใช้เซ็นเซอร์สามารถตรวจสุขภาพ พฤติกรรมการดื่มและกินอาหาร

ด้านส่งเสริมการตลาด อาทิ การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรในรูปแบบแพลตฟอร์มทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หรือแม้แต่การใช้ Application เพื่อช่วยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนระยะเวลาเพาะปลูกให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตรงกับช่วงที่ราคาดี สามารถจัดการความเสี่ยงทางการตลาด

รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานทำให้เกิดระบบบริหารจัดการสามารถวิเคราะห์และพยากรณ์ความเสี่ยงจากปัจจัยความไม่แน่นอน ทำให้เกษตรกรวางแผนเพาะปลูก แผนการตลาด และการจัดส่งให้เร็วและแน่นอนล่วงหน้าได้ และเพื่อลดการสูญเสีย

ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกษตรกรควรนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการเลือกที่จะปรับปรุงหรือพัฒนาการทำเกษตร สู่การทำเกษตรสมัยใหม่โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความสามารถในการขายสินค้า และรวมทั้งเพิ่มรายได้จากมูลค่าของสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

________________________________________

Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ

สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิกหรือสายด่วน 1333