เกษตรกระบี่ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ถ่านชีวภาพ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นายชำนาญ นุ่นดำ เกษตรจังหวัดกระบี่ เป็นประธานเปิดงาน วันถ่ายทอดเทคโนโลยีถ่านชีวภาพ (Biochar) โครงการศึกษาการจัดการดิน ปุ๋ย และน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ณ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนคลองพน ตำบลคลองพน อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่

นายชำนาญ นุ่นดำ เกษตรจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ดิน คือ ปัจจัยหลักในการเป็นแหล่งให้น้ำ อากาศ และธาตุอาหารแก่ต้นพืช การจัดการดินให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ทำให้ดินมีโครงสร้างที่ดี มีความร่วนซุย ไม่แข็งแน่นทึบ มีช่องว่างมีความพรุน ทำให้สามารถอุ้มน้ำ และระบายอากาศได้ดี รากพืชชอนไชไปหาอาหารได้ง่าย ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชที่เพียงพอต่อความต้องการของพืช ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์เพื่อกิจกรรมในการสร้างอาหารในดิน และสามารถลดจำนวนของจุลินทรีย์ในดินที่เป็นโทษ จะส่งผลให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช มีแหล่งน้ำและอาหารในดินให้แก่พืช ต้นพืชแข็งแรงสามารถทนทานต่อความแห้งแล้ง

สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาการจัดการดิน ปุ๋ย และน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นงบประมาณภายใต้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีวัตถุประสงค์ เพื่อแสดงผลการศึกษาการใช้ถ่านชีวภาพจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน ที่สามารถทำให้เผชิญปัญหาภัยแล้งและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปรับปรุงดิน และการส่งเสริมให้ต้นพืชเจริญเติบโตอย่างแข็งแรง การยอมรับของเกษตรกรที่มีต่อการจัดการดิน ปุ๋ย และน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้มีต้นแบบองค์ความรู้การจัดการดิน ปุ๋ย และน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 แปลง โดยแยกเป็น 3 ชนิดพืช ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ชนิดพืชชะอม อำเภอเกาะลันตา ชนิดพืชแตงโม และอำเภออ่าวลึก ชนิดพืชฟักทอง รวมถึงเกษตรกรมีทัศนคติที่ยอมรับนำองค์ความรู้ไปปฏิบัติ และสามารถเป็นต้นแบบขยายผลไปสู่เกษตรกรได้

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมการเข้าฐานเรียนรู้ จำนวน 4 ฐาน คือ การเลือกชนิดวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การผลิตเตาเผาถ่านไบโอชาร์ และการใช้งานเตาแต่ละชนิด การแปรรูปและผลิตผลิตภัณฑ์จากถ่านไบโอชาร์และประโยชน์จากถ่านชีวภาพ โดยเกษตรกรเจ้าของแปลงศึกษาพร้อมด้วยเกษตรกรเครือข่าย และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจังหวัดกระบี่ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการถ่านชีวภาพและนิทรรศการจากศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนคลองพน ซึ่งเป็นต้นแบบในการผลิตเตาเผาถ่านไบโอชาร์ของจังหวัดกระบี่ และมีการสาธิตการเผาถ่านให้เกษตรกรที่มาร่วมงานได้ชมอีกด้วย