ทุเรียนตะนาวศรี สินค้าอัตลักษณ์ภาคตะวันตก สศท.10 เชิญชวนเที่ยว “เทศกาลทุเรียนตะนาวศรีคีรีขันธ์” 1-5 ก.ค. นี้

นางสาวศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันตก ปี 2565 ซึ่งมีพื้นที่การผลิตทุเรียน อยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี โดยทั้ง 4 จังหวัดจะเรียกทุเรียนในพื้นที่ว่า “ทุเรียนตะนาวศรี” เนื่องจากลักษณะของสภาพภูมิศาสตร์มีเทือกเขาตะนาวศรีพาดผ่าน ทำให้ได้รับความอุดมสมบูรณ์จากดินตะกอนภูเขาหลังจากฤดูน้ำหลากของทุกปี ด้วยระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล และความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสม ส่งผลให้ผลผลิตทุเรียนมีลักษณะเฉพาะ เนื้อหนา แห้งเนียน เมล็ดลีบ รสชาติหวาน มัน

สศท.10 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตทุเรียนตะนาวศรี ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ และเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในภาคตะวันตก (ข้อมูลพยากรณ์ สศก. ณ เดือนมิถุนายน 2565) พื้นที่ปลูกจำนวน 16,550 ไร่ ครอบคลุมทั้ง 8 อำเภอ ผลผลิตรวม 12,159 ตัน เกษตรกรผู้ปลูก 1,367 ครัวเรือน เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์หมอนทอง ซึ่งเป็นพันธุ์ทางการค้า เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการ และบางส่วนปลูกพันธุ์อื่นๆ กระจายกันไป เช่น พันธุ์ชะนี ก้านยาว พวงมณี โดยปีนี้ ทุเรียนตะนาวศรีเริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน 2565 และจะออกตลาดมากที่สุดช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2565 คิดเป็นร้อยละ 70 ของผลผลิตรวมทั้งจังหวัด

เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวและแฟนพันธุ์แท้ทุเรียน ได้มาร่วม ชม ช้อป ชิม ผลผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพส่งตรงจากสวนของเกษตรกร กับงาน เทศกาลทุเรียนตะนาวศรีคีรีขันธ์ PRACHUAPKIRIKHAN DURIAN FESTIVAL จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 กรกฎาคม 2565 ณ หน้ามาร์เก็ตวิลเลจ หัวหิน นอกจากนี้ ยังมีการจัดงาน มหกรรมผลไม้และของดีป่าละอู ระหว่างวันที่ 9-17 กรกฎาคม 2565 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งภายในงานจะมีการยกสวนทุเรียนป่าละอูที่อยู่ในพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่มาวางจำหน่ายให้ทุกท่านได้เลือกชิม และเลือกซื้อทุเรียนคุณภาพของเกษตรกร

“สำหรับทุเรียนป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน เป็นทุเรียนที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เนืองจากมีเนื้อแห้งเนียนละเอียด กลิ่นอ่อน รสชาติหวาน มัน เมล็ดลีบเล็กทำให้เนื้อทุเรียนหนา และที่สำคัญยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI มาตั้งแต่ ปี 2554 จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมสนับสนุนทุเรียน เพื่อเป็นกำลังใจให้เกษตรกรได้ผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพต่อไป ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตทุเรียนตะนาวศรีของภาคตะวันตก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.10 โทร. 032-337-954 หรืออีเมล [email protected]” ผู้อำนวยการ สศท.10 กล่าวทิ้งท้าย