เพิ่มขีดสามารถการแข่งขัน! เปิด 5 ขั้นตอนจัดการพลังงาน สู่แนวทาง SME ไทย Energy Saving อย่างเป็นรูปธรรม

เดือนกันยายนนี้ค่าไฟแพงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้การอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกผู้ประกอบการและ SME บ้านเรา ในการบริหารต้นทุนประคับประคองให้อยู่รอดทั้งตัวองค์กรเองไปจนถึงผู้บริโภค ให้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อ สงครามรัสเซีย – ยูเครนน้อยที่สุด ดังนั้นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการ พนักงาน เจ้าของโรงงานต่างๆ ต้องคิดออกมาเป็นสูตรสำเร็จในการจะทำอย่างไร? ให้ภาคธุรกิจประหยัดต้นทุนด้านพลังงานได้มากที่สุด ซึ่งอาจจะเริ่มด้วยวิธีพื้นฐานเหล่านี้ เช่น แสงสว่าง

การประหยัดพลังงานด้านแสงสว่างโดยการปิดไฟเมื่อไม่มีการใช้งาน เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่เหล่านั้นไม่มีพนักงานอยู่ การติดตั้งระบบให้แสงสว่างอัตโนมัติหรือการใช้เซนเซอร์เพื่อเปิด – ปิดไฟ เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ที่สามารถช่วยให้ประหยัดพลังงานด้านแสงสว่างได้

วางแผนการใช้อุปกรณ์เครื่องจักร

อุปกรณ์หรือเครื่องจักรต่างๆ ในโรงงานควรเปิดเมื่อมีการใช้งานเท่านั้น การเปิดอุปกรณ์ทิ้งไว้ หรือหลงลืมเปิดเครื่องโดยไม่จำเป็นทำให้เป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเป็นอย่างมาก ซึ่งการวางแผนใช้อุปกรณ์เครื่องจักรนอกจากช่วยประหยัดยังช่วยให้การผลิตมีความต่อเนื่อง ช่วยลดการใช้พลังงานเนื่องจากต้องเปิด – ปิดเครื่องจักรบ่อยๆ

การเปิด – ปิดประตู 

โดยเฉพาะห้องสต็อกหรือห้องเย็น ยิ่งบ่อยครั้ง ยิ่งเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน การจัดการตารางการตรวจเช็กหรือการจัดส่งสินค้า จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นที่ต้องทำทันที

ทำความสะอาดเครื่องจักรและอุปกรณ์ 

ซึ่งการทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องจักรในโรงงานเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอนอกจากจะช่วยยืดอายุการใช้งานได้แล้ว ยังทำให้เครื่องจักรทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานได้ด้วย

เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อน 

อีกหนึ่งของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานอย่างยิ่งยวด หากระบบการทำความเย็นหรือความร้อนในโรงงานเป็นระบบเก่าที่ใช้งานมานานเกินกว่า 10 ปี การเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีใหม่ ก็จะช่วยทำให้ประหยัดการใช้พลังงานได้มากกว่า รวมถึงการตั้งอุณหภูมิก็มีส่วนสำคัญ เช่น การตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 25 องศา จะสามารถลดการใช้พลังงานลงไปได้ถึง 18% เป็นต้น

ติดตั้งฉนวนกันความร้อน 

ถือเป็นที่เกราะช่วยป้องกันอุณหภูมิจากภายนอกได้ ทั้งการให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว และการรักษาความเย็นในฤดูร้อน ทั้งการติดตั้งฉนวนกันความร้อนใต้หลังคาและฝ้าผนังล้วนเป็นหนทางที่ช่วยประหยัดการใช้พลังงานในโรงงานได้

สร้างร่มเงา 

ไม่ว่าจะเป็นการกั้นกำแพง หรือใช้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ก็เป็นแนวทางที่ช่วยประหยัดพลังงานได้ โดยเฉพาะเรื่องของการใช้เครื่องปรับอากาศ

เปลี่ยนมาใช้หลอด LED 

การเปลี่ยนหลอดไส้มาเป็นหลอด LED สามารถช่วยประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี ให้แสงสว่างที่มีประสิทธิภาพกว่า อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าถึง 5 เท่า

จากวิธีประหยัดพลังงานพื้นฐานสู่ระบบการจัดการพลังงาน 5 ขั้นตอนสำหรับผู้ประกอบการและ SME

ระบบการจัดการพลังงาน คือระบบที่มุ่งเน้นการดำเนินการใน 2 มิติ ได้แก่ มิติด้านเทคนิควิศวกรรม และมิติด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อสร้างจิตสำนึกและความมีส่วนร่วมของบุคลากรภายในองค์กรอันจะส่งผลให้เกิดผลประหยัดจากการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน จากประโยชน์ของระบบการจัดการพลังงานในข้างต้นซึ่งเดิมมีการบังคับใช้กับโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมเท่านั้น จึงเกิดแนวคิดที่จะขยายผลไปยังโรงงาน/อาคารขนาดเล็ก (SME) ด้วย

เพื่อให้มีการจัดเก็บข้อมูลทางด้านพลังงานอย่างมีระบบ สามารถนำมาวิเคราะห์หาศักยภาพการประหยัดพลังงานได้ (ซึ่งก็หมายถึงการลดต้นทุนทางด้านพลังงานด้วย) รวมทั้งยังเป็นการสร้างความมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานของบุคลากรภายในองค์กรจากการอบรม และทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อันจะส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน แต่เนื่องจากศักยภาพของหน่วยงานผู้ประกอบการและ SME ทั้งจำนวนบุคลากร เงินทุน เครื่องจักรและอุปกรณ์ จะมีน้อยกว่าโรงงานควบคุม/อาคารควบคุม จึงมีการปรับลดขั้นตอนการดำเนินการจัดการพลังงานจาก 8 ขั้นตอน เหลือเพียง 5 ขั้นตอน ดังนี้

  1. การแต่งตั้งคณะทำงาน

โดยจะต้องจัดทำผังโครงสร้างคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน และประกาศเป็นเอกสาร พร้อมลงนามโดยเจ้าของสถานประกอบการ โดยระบุอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานให้ชัดเจน เช่น คณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน มีอำนาจหน้าที่ดังนี้..

  1. รวบรวมข้อมูลผลผลิต และข้อมูลการใช้พลังงานทั้งหมดนำเสนอต่อผู้บริหารทุกเดือน
  2. ประสานงาน และสร้างความมีส่วนร่วมในการจัดทำระบบการจัดการพลังงานภายในองค์กร
  3. วิเคราะห์ข้อมูลทางด้านพลังงาน และนำเสนอแนวทางในการอนุรักษ์พลังงานต่อผู้บริหาร
  4. ติดตาม และรายงานผลการอนุรักษ์พลังงานให้ผู้บริหารทราบอย่างสม่ำเสมอ
  5. ควบคุมการจัดการพลังงานในองค์กร ให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้

2.การกำหนดนโยบายอนุรักษ์พลังงาน

เปรียบเสมือนสิ่งที่กำหนดทิศทางในการทำระบบการจัดการพลังงานให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่หน่วยงานกำหนดไว้ได้ โดยมีวัตถุประสงค์ให้บุคลากรทุกคนเกิดความรู้สึกของการมีส่วนร่วมในนโยบาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่อยากปฏิบัติตามนโยบายมากยิ่งขึ้น โดยนโยบายต้องสามารถสื่อสารให้กับ บุคลากรทุกคนภายในองค์กรได้ทราบถึงเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์พลังงานขององค์กร รวมไปถึงอาจระบุถึง ประโยชน์ที่บุคลากรจะได้รับจากการประหยัดที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการอนุรักษ์พลังงาน ตัวอย่างของข้อความในนโยบายอาจกำหนดได้ดังนี้

  1. หน่วยงานจะมีการจัดเก็บข้อมูลการใช้พลังงานอย่างสม่ำเสมอ และมีระบบการจัดเก็บที่ดี สามารถสืบค้นข้อมูลได้ง่าย
  2. หน่วยงานจะมีการใช้ลด ละ เลิก การใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น
  3. หน่วยงานจะมีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
  4. หน่วยงานจะมีการพัฒนา และสร้างความมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานของบุคลากรในองค์กร โดยการจัดฝึกอบรม และกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอย่างสม่ำเสมอ
  5. หน่วยงานจะให้การสนับสนุนทรัพยากรทุกด้าน สำหรับการดำเนินการอนุรักษ์พลังงาน

3.การประเมินศักยภาพด้านการอนุรักษ์พลังงาน

วัตถุประสงค์เพื่อค้นหาศักยภาพในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานขององค์กร และนำไปกำหนดมาตรการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเริ่มจากการเก็บข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องการใช้พลังงาน โดยการทำสัดส่วนการใช้พลังงาน เพื่อวิเคราะห์และประเมินว่าระบบใดที่เป็นนัยสำคัญของการใช้พลังงาน

ซึ่งจะต้อง มุ่งเน้นการจัดการไปยังกระบวนการและอุปกรณ์ที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานที่สูง จากนั้นจึงวิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียดมากขึ้น จนทราบว่าอุปกรณ์/เครื่องจักรใดในองค์กรที่มีการสูญเสียมาก และมีศักยภาพในการ อนุรักษ์พลังงานสูง โดยประโยชน์ที่ได้รับคือ การได้ข้อมูลเปรียบเทียบการใช้พลังงานภายในกิจการ และการทราบข้อมูลต้นทุนทางพลังงานสำหรับสินค้าหรือการบริการ สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการ กำหนดเป้าหมายและวางแผนงานด้านการอนุรักษ์พลังงานต่อไป โดยการประเมินศักยภาพด้านการอนุรักษ์ พลังงาน แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

  1. การประเมินการใช้พลังงานระดับองค์กร
  2. การประเมินการใช้พลังงานระดับผลิตภัณฑ์หรือบริการ
  3. การประเมินการใช้พลังงานระดับอุปกรณ์

4.การกำหนดเป้าหมาย การอบรมและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

หลังจากดำเนินการประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงานในขั้นตอนที่ 3 แล้ว จะทำให้ทราบว่าองค์กรมีการใช้พลังงานชนิดใดบ้าง ใช้ไปเพื่อดำเนินกิจกรรมใด มีสัดส่วนการใช้พลังงานเป็นอย่างไร ประสิทธิภาพ ในการใช้พลังงานเป็นอย่างไร (Specific energy consumption : SEC) เครื่องจักร/อุปกรณ์ใดที่จัดเป็นเครื่องจักร/อุปกรณ์หลัก ตลอดจนทราบถึงประสิทธิภาพ และสาเหตุการสูญเสียพลังงานในเบื้องต้น

ดังนั้นในขั้นตอนนี้ จะเป็นขั้นตอนที่กำหนดแนวทางในการสูญเสียพลังงาน ด้วยแนวทางหลัก 2 แนวทางคือ

  1. การจัดทำแผนมาตรการอนุรักษ์พลังงาน
  2. การจัดทำแผนการฝึกอบรมและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

เพื่อให้บุคลากรในองค์กรเกิดจิตสำนึก และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงาน ส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน โดยก่อนจะกำหนดแผนอนุรักษ์พลังงาน สถานประกอบการต้องเริ่มต้นกำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน โดยกำหนดเป็น % การใช้พลังงานที่ต้องการให้ลดลงหรือกำหนดเป็น % SEC ที่ต้องการให้ลดลง แนวทางการกำหนดแผนมาตรการอนุรักษ์พลังงาน ในส่วนของการกำหนดแผนมาตรการอนุรักษ์พลังงานจะต้องกำหนดมาตรการให้สอดคล้องกับการวิเคราะห์สาเหตุการสูญเสียพลังงาน และสอดคล้องกับเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน

ทั้งนี้ แนวทางในการกำหนดมาตรการอนุรักษ์พลังงานอาจพิจารณาจากประเภทของมาตรการดังนี้

  1. การใช้ระบบปัจจุบันที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (House Keeping) คือการปรับเปลี่ยนวิธีการ ทำงานโดยเพื่อลดความสูญเสียทางด้านพลังงาน
  2. การปรังปรุงสิ่งที่มีอยู่ (Process Improvement) คือการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ประกอบของระบบเพื่อให้เกิดผลประหยัด
  3. การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่ (Machine Change) คือการลงทุนเพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ามาใช้ทดแทนของเดิม

แนวทางการกำหนดแผนการฝึกอบรม และกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 

ในส่วนของการกำหนดแผนการฝึกอบรม และกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานนั้น จะเน้นไปที่การปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์พลังงาน และการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กร เช่น กิจกรรมประกวดคำขวัญอนุรักษ์พลังงาน, การตอบคำถามชิงรางวัลด้านการอนุรักษ์พลังงาน, การติดโปสเตอร์รณรงค์ เป็นต้น ทั้งนี้ หากมีกิจกรรมมากก็ยิ่งสร้างความสัมพันธ์และความมีส่วนร่วมของบุคลากรภายในองค์กร

  1. การดำเนินงานตรวจสอบผล และวิเคราะห์ผลการปฏิบัติ

ภายหลังจากที่เป้าหมายแผนอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งแผนการฝึกอบรมและกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานผ่านการพิจารณาแล้ว บุคลากรทุกคนมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลให้มีการดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนการฝึกอบรม รวมถึงตรวจสอบและวิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและ แผนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการปฏิบัติงานว่ามีการดำเนินการเป็นไปตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในแผนงานหรือไม่

ซึ่งหากมีความล่าช้าหรือการปฏิบัติไม่เป็นไปตามเป้าหมายและแผนงานที่วางไว้ คณะทำงานจะต้องดำเนินการค้นหาสาเหตุว่าทำไมการดำเนินงานจึงไม่ประสบผลตามที่ได้วางไว้ พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขในการดำเนินเพื่อปรับปรุงให้การทำงานบรรลุตามเป้าหมาย

ประโยชน์ที่ได้จากการจัดทำระบบการจัดการพลังงาน 5 ขั้นตอนสำหรับผู้ประกอบการและ SME 

  1. สามารถเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานได้อย่างเป็นระบบ สามารถสืบค้นและนำไปใช้ได้ง่าย เช่น ค่าไฟฟ้า, ปริมาณผลผลิต, ค่าเชื้อเพลิง เป็นต้น
  2. ทำให้ทราบว่าเครื่องจักร/อุปกรณ์ใดในสถานประกอบการมีค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานสูง
  3. สามารถเปรียบเทียบแนวโน้ม และวิเคราะห์การใช้พลังงานได้
  4. สามารถวิเคราะห์สาเหตุของการสูญเสียด้านพลังงาน และหาแนวทางในการประหยัดพลังงานได้ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตลดลง
  5. เสริมสร้างความรู้ และความมีส่วนร่วมของพนักงานในการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในองค์กร

ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นเพียงหนึ่งในวิธีที่จะช่วยผู้ประกอบการและ SME ประหยัดพลังงานอย่างได้ผล เพื่อช่วยในการบริหารต้นทุนในภาวะค่าไฟแพง ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือของทุกคนทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

แหล่งอ้างอิง : กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

http://energyauditorthai.com/wp-content/uploads/2017/01/02-%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-1-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99.pdf

http://www2.dede.go.th/km_berc/downloads/menu4/%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%88/%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B7%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3.pdf

http://www.energyvision.co.th/14238260/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333