สภาเกษตรกรจังหวัดตาก ผลักดันโครงการส่งเสริมปลูกไผ่เชิงพาณิชย์ ปรับพื้นที่เกษตรดั้งเดิม สร้างรายได้สู่เกษตรกร

สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 โดยพร้อมสนับสนุนสิทธิและการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการกำหนดนโยบายและวางแผนการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้รัฐรักษาเสถียรภาพด้านราคาและความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม อีกทั้งเพิ่มศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองอย่างต่อเนื่องและเพื่อเกษตรกรอย่างแท้จริง นอกจากนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรตำบล สร้างรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินงานผ่านสภาเกษตรกรจังหวัด เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้แก่เกษตรกร อีกทั้งยังเป็นพี่เลี้ยง เป็นปากเป็นเสียงแทนเกษตรกรอีกด้วย อย่างครั้งนี้สภาเกษตรกรจังหวัดตากได้เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในตำบลโป่งแดง ทั้งรับข้อเสนอและรับฟังปัญหานำไปประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งช่วยให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ได้สามารถแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ โดยได้มีการจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมตำบลโป่งแดง และได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมตำบลโป่งแดง ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งโครงการส่งเสริมการปลูกไผ่เชิงพาณิชย์ ให้เป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือก ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดตากได้ดำเนินงานมาตลอดหลายปี

นางสาวกนกวรรณ ตันติคะเนดี หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดตาก กล่าวว่า พื้นที่เดิมในตำบลโป่งแดงค่อนข้างแห้งแล้ง เกษตรกรส่วนใหญ่จะทำนาปลูกข้าวได้ปีละครั้ง มีกำไรต่อไร่น้อยมาก บางรายทำไร่มันสำปะหลัง ข้าวโพด และเลี้ยงโคเนื้อ การทำนาหรือปลูกพืชไร่ประสบปัญหาขาดทุนทุกปี ดังนั้น จึงได้คิดร่วมกับหลายฝ่าย ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนเกษตรกร โดยได้ดำเนินโครงการส่งเสริมปลูกไผ่เชิงพาณิชย์ ซึ่งได้เริ่มชวนให้เกษตรกรในชุมชนมาร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2560 ต่อมาทางสภาเกษตรกรจังหวัดตาก ได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแดง จัดหางบประมาณมาพัฒนาโครงการ เพื่อส่งเสริมและขยายผลการปลูกไผ่เชิงพาณิชย์ให้แก่เกษตรกร โดยดำเนินการอบรมให้ความรู้และฝึกปฏิบัติจริง มีการสนับสนุนพันธุ์ไผ่ให้เกษตรกร ทำระบบน้ำหยด เป็นแปลงปลูกไผ่ต้นแบบนำร่องแก่เกษตรกรในทุกหมู่บ้านของตำบลโป่งแดง ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรต้นแบบประมาณ 40 ราย ที่ยังปลูกไผ่เชิงพาณิชย์อยู่ รวมถึงขยายผลปลูกไผ่อีกไม่ต่ำกว่า 200 ราย เป็นการปลูกแบบค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจากการทำนาหรือปลูกพืชไร่ เริ่มจาก 1-2 ไร่ หรือ 5 ไร่ สามารถขายหน่อได้ ตั้งแต่ 8 เดือน และขายลำไผ่ ได้ตั้งแต่ไผ่อายุ 2-3 ปี ที่สำคัญลงทุนค่าพันธุ์

แค่ครั้งแรกและใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน 10-15 ปี ลำไผ่ใช้เป็นหลักไม้ปักทะเลสำหรับเลี้ยงหอย ทำไม้ค้ำลำไย ทำบ้องข้าวหลาม ทำผลิตภัณฑ์จักสาน ทำตะเกียบ ใบไผ่นำไปหมักเป็นอาหารเลี้ยงวัว ซึ่งช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนได้ โดยหากเกษตรกรเห็นถึงความเป็นไปได้ในการประกอบอาชีพ ก็จะปรับพื้นที่เกษตรให้ปลูกไผ่มากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกใหม่ๆ ในการทำเกษตรและมีรายได้ที่ดีกว่าเดิม โดยเฉลี่ยได้กำไรไร่ละ 10,000 บาทขึ้นไป นอกจากนี้ ยังมีตำบลอื่นๆ ข้างเคียง เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมาก อยากลองปลูกไผ่เชิงพาณิชย์เหมือนที่โป่งแดง เพราะปลูกแล้วขายได้จริงๆ แสดงให้เห็นถึงอนาคตของโครงการนี้ว่าจะช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

ด้าน นายประนอม อ่อนนุ่ม สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดตาก หนึ่งในเกษตรกรต้นแบบ เผยว่า สภาเกษตรกรจังหวัดตาก ดำเนินการส่งเสริมโครงการปลูกไผ่เชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง จะทำให้พี่น้องเกษตรกรมีทางเลือกในการทำเกษตรในพื้นที่ตนเองได้หลากหลายขึ้น เพราะปัจจุบันมีการสั่งซื้อไผ่เข้ามามาก ซึ่งหากปลูกไผ่ 1 ไร่ ถ้าเกษตรกรดูแลดีๆ จะช่วยให้ชีวิตเกษตรกรและครอบครัวมีรายได้ที่ยั่งยืนอย่างแน่นอน

ขณะที่ นายเสวต ศรีเผือก ผู้ใหญ่บ้านหนองนกปีกกา ตำบลโป่งแดง บอกว่า เมื่อก่อนเคยปลูกข้าว มัน และข้าวโพด แต่พอมีโครงการปลูกไผ่เชิงพาณิชย์เข้ามา เกษตรกรหลายคนได้เรียนรู้และลองหันมาปลูกไผ่เป็นอาชีพเสริมกันมากขึ้น เพื่อให้มีอาชีพที่มั่นคง โดยมีสภาเกษตรกรจังหวัดตาก เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงดูแลและสนับสนุน พร้อมกับแนะนำและส่งเสริมในทุกกระบวนการเริ่มตั้งแต่การปลูก ขยายพันธุ์ แปรรูป และการตลาด ซึ่งหากเกษตรกรท่านใดสนใจปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรของตนเอง อยากแนะนำให้เรียนรู้เรื่องไผ่ โดยประสานงานกับสภาเกษตรกรจังหวัดตาก จะได้รับคำแนะนำ ความรู้ดีๆ ที่สามารถเริ่มทำการปลูกได้

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ ทำให้เกษตรกรรู้สึกมีความหวัง เพราะมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนเกษตรกรที่ปลูกไผ่มา 4-5 ปีแล้ว ทางสภาเกษตรกรจังหวัดจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนให้มาต่อยอดขยายผลด้านการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์จากไผ่ต่อไป สภาเกษตรกรจังหวัดยังคงยืนหยัดเป็นที่พึ่งให้แก่เกษตรกร เพื่อพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้นต่อไป

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงการทำงานเพื่อเกษตรกรอย่างแท้จริง สำนักสภาเกษตรกรแห่งชาติ จึงขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร ในวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. หนึ่งเสียงของเกษตรกรจะเป็นพลังขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมให้เข้มแข็งและยั่งยืน