ชป.ลุย…ช่วยชาวสวนทุเรียนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ป้องกันผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาดให้พ้นจากภัยแล้ง

อธิบดีกรมชลประทาน สั่งการให้ระดมรถบรรทุกน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือ เข้าไปช่วยเหลือชาวสวนทุเรียนในเขตจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพรอย่างต่อเนื่อง หลังสวนทุเรียนหลายแห่งกำลังประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำ เหตุจากฝนที่ตกน้อย ในขณะที่ผลผลิตทุเรียนกำลังจะออกสู่ตลาด

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร ส่งผลกระทบให้สวนทุเรียนที่ผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาด หลายแห่งเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล และสำนักงานชลประทานที่ 14 ระดมรถบรรทุกน้ำไปแจกจ่าย และนำเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ เข้าไปขุดลอกแหล่งน้ำในหลายพื้นที่ เพื่อให้ผลผลิตทุเรียนไม่ได้รับความเสียหาย

โดยที่จังหวัดชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ กรมชลประทาน ยังคงดำเนินการเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนทุเรียนอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้ได้ระดมรถบรรทุกน้ำไปแล้ว 15 คัน นำน้ำเข้าไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องเกษตรกร รวมทั้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน นอกจากนี้ ยังได้ส่งรถขุด 7 คัน รถบรรทุก 2 คัน รถเทรลเลอร์และรถเครนอย่างละ 2 คัน เข้าไปขุดลอกแหล่งน้ำในพื้นที่ 2 จังหวัด เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอ ซึ่งมาตรการต่างๆจะดำเนินการไปจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าจะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนออกจำหน่ายได้ โดยผลผลิตไม่ได้รับความเสียหาย

ส่วนที่จังหวัดเพชรบุรี ได้มีการนำรถแบคโฮ 2 คัน เข้าไปช่วยเหลือสวนทุเรียนที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ อำเภอหนองหญ้าปล้อง ด้วยการขุดลอกตะกอนอ่างเก็บน้ำห้วยเกษมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อขยายน้ำซึมน้ำซับ ส่งให้ชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ดังกล่าว ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร จนกว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจำหน่ายได้

Advertisement

“กรมชลประทาน ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด มีการวางแผนรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยการเตรียมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้อย่างทันท่วงที จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาภัยแล้งที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต” นายประพิศ กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ หากหน่วยงานหรือประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้านหรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460

Advertisement