ผลไม้ไทยส่งออกได้ทั้งปี ทุเรียนขวัญใจ “ลำไย-มะพร้าว” ก็ฮิตไม่แพ้กัน

“มะพร้าวคือสินค้าแห่งอนาคต เนื่องจากกระแสโลกให้ความสำคัญกับเครื่องดื่มให้พลังงานที่มาจากธรรมชาติ ซึ่งมะพร้าวไทย คุณภาพไม่แพ้ที่ใดในโลก…”

คุณเฟย-ณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด เปิดเผยมุมมองต่อทิศทางตลาดผลไม้ไทยบนเวทีโลกจากประสบการณ์ในฐานะผู้ส่งออกผลไม้สดสัญชาติไทยรายใหญ่ที่เชี่ยวชาญสินค้าเกษตรระดับพรีเมี่ยมสู่ตลาดโลกที่แต่ละปีมียอดส่งออกทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าวไปทั่วโลก อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ยุโรป เฉลี่ยกว่า 18,000 ตัน

“ไทยยังเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าเกษตร เพราะมีผลผลิตหลากหลาย หาสินค้ามาขายได้ตลอดทั้งปี” คุณเฟยเกริ่นก่อนขยายความถึงผลไม้ไทยที่แพลททินัม ฟรุ๊ต ใช้เป็นหัวหอกหลักบุกตลาดโลก ประกอบด้วย “มะพร้าว” ที่ทางแพลททินัม ฟรุ๊ต มองว่านี่จะเป็นสินค้าแห่งอนาคต เนื่องจากกระแสโลกตอนนี้ให้ความสำคัญกับเครื่องดื่มให้พลังงานที่มาจากธรรมชาติ ดังนั้น มะพร้าวจะเป็นตัวที่มีโอกาส เพราะมีศักยภาพสูงจึงอยู่ระหว่างการศึกษาและวางแผนต่อยอดธุรกิจมะพร้าวในอนาคต ซึ่งคุณเฟยยังคงการันตีว่า มะพร้าวไทย รสชาติและคุณภาพไม่แพ้ที่ใดในโลก

อีกผลิตภัณฑ์ คือ “ลำไย” ซึ่งตลาดใหญ่ของแพลททินัม ฟรุ๊ต ปัจจุบันคือ อินโดนีเซีย ครอบคลุม 3 เมืองสำคัญ ได้แก่ เมดาน จาการ์ตา สุราบายา คุณเฟย บอกว่า ช่วงเริ่มต้นการทำตลาดลำไย เพราะยังไม่รู้ว่าคุณภาพที่ลูกค้าต้องการคืออะไร และยังไม่รู้รูปแบบการขาย คิดเองว่าคงเหมือนกันทุกที่คือ เข้าไปในตลาดขายส่ง เข้าไปในห้าง ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง จึงค่อยๆ เรียนรู้และปรับปรุงวิธีการหลายอย่าง ก่อนเข้าไปเสนอตัวเป็นซัพพลายเออร์ให้กับคู่ค้าขนาดกลาง มีการสร้างแบรนด์ร่วมกัน ซึ่งตลาดที่นั่นก็ให้การตอบรับดีมาจนปัจจุบัน

และที่จะพลาดการกล่าวถึงไม่ได้เลย คือ “ทุเรียน” ที่กลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยตัวล่าสุดไปแล้ว โดยคุณเฟย อธิบายว่า ถ้าผู้ส่งออกวางแผนให้ดีจะสามารถมีทุเรียนขายได้ตลอดปี เพราะซีซั่นของทุเรียนมีเกือบทั้งปี ถ้านับตลาดหลักจะเริ่มจากภาคตะวันออก ตั้งต้นที่ตราด แล้วมาจันทบุรี จากนั้นก็จะเป็นทุเรียนระยอง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา จริงๆ ทุเรียนมีทั้งปีไล่ลงไปเรื่อยตามเส้นศูนย์สูตร ดังนั้น วิธีการมองหาซื้อสินค้าของแพลททินัม ฟรุ๊ต ก็จะซื้อไล่ลงไปเรื่อยๆ

“สิ่งที่เราเองมักจะคิดว่าทุเรียนเป็นซีซั่นนิ่ง แต่ที่จริงมันคือ ซีซั่นนิ่งของภูมิภาค ก็คือภาคตะวันออก โดยเฉพาะจันทบุรี เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนเยอะสุดของประเทศ จึงมีปริมาณผลผลิตออกมาพร้อมกันจำนวนมาก ทำให้ดูเหมือนว่าช่วงเดือน 3 เดือน 4 เดือน 5 คือ ซีซั่นของทุเรียน แต่จริงๆ มันมีทั้งปี จะเห็นว่าที่ตลาด อ.ต.ก. มีขายทั้งปี แต่ในช่วงซีซั่นนิ่งของภาคใต้ เดือน 7, 8, 9 ลงไปถึงเดือน 12 ปริมาณมีน้อย ดีมานด์เลยลดลง และด้วยราคา ดังนั้น คนขายเลยเอาผลไม้อื่นมาขายแทน ทำให้เราเลยไม่ค่อยเห็นทุเรียนช่วงนั้น โดยในส่วน แพลททินัม ฟรุ๊ต เราส่งออกทุเรียนได้ตลอดทั้งปี แต่ปริมาณลดลงตามดีมานด์ และก็มีการส่งออกผลไม้ตัวอื่นคู่กันไปด้วย ทั้งมังคุด ลำไย มะพร้าว”

ปัจจุบัน มีโรงงานรับซื้อทุเรียนอยู่ทั่วประเทศรวม 10 แห่ง ประกอบด้วย จันทบุรี  2 แห่ง รับทุเรียนในย่านตะวันออก คือ ตราด จันทบุรี ใกล้ตลาดเนินสูงและสอยดาว ระยอง แกลง 1 แห่ง ราชบุรี 1 แห่ง ชุมพร 1 แห่ง ลำพูน 1 แห่ง สุราษฎร์ธานี 1 แห่ง เชียงใหม่ 2 แห่ง สระแก้ว 1 แห่ง

เพาะบ่มประสบการณ์ จนเข้าใจตลาด

คุณเฟยย้อนที่มา “แพลททินัม ฟรุ๊ต” ว่าก่อนที่จะก้าวเติบโตมาจนถึงปัจจุบันได้นั้นก็ผ่านการเรียนรู้เพาะบ่มประสบการณ์มานานกว่า 30 ปี โดยตั้งต้นเมื่อปี พ.ศ. 2536 ที่ครอบครัวเริ่มส่งออกผลไม้ประเภททุเรียนและมังคุดผ่านทางอากาศไปยังไต้หวัน ภายใต้ชื่อแบรนด์ “888” ก่อนตั้ง บริษัท ตองแปด ผักผลไม้ จำกัด ในเวลาต่อมา ซึ่งจากการลงไปทำอย่างจริงจังทำให้พบว่าหัวใจสำคัญการส่งออกทุเรียน คือ “ต้อง QC ทุเรียนเป็น” เพื่อควบคุมคุณภาพให้ได้ตามที่ต้องการ จึงเรียนรู้และนำไปถ่ายทอดต่อให้ทีมจนกลายเป็นคัมภีร์สำคัญที่ทำให้ค่อยๆ เติบโตและต่อยอดสู่การส่งออกผลไม้ประเภทอื่นๆ ที่ทำรายได้หลักพันล้านมาจนปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในช่วงตั้งต้นธุรกิจของครอบครัว แม้คุณเฟยยังอยู่ในวัยเรียนแต่ก็ได้มีส่วนบริหารกิจการของครอบครัวในนาม บริษัท ตองแปดผักผลไม้ จำกัด มาตลอด จนทำให้เชี่ยวชาญทุกมิติและเข้าใจสภาพตลาดของลูกค้าในต่างประเทศเป็นอย่างดี หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2549 คุณเฟยได้ตัดสินใจเดินทางไปเรียนรู้เทรนด์ตลาดผักผลไม้และความต้องการของผู้บริโภคที่ไต้หวัน 1 ปี ก่อนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท MA Management Middlesex University ที่สหราชอาณาจักร ช่วงปี พ.ศ. 2551-2552 และกลับมาบริหารธุรกิจโรงงานลำไยของครอบครัวจนประสบความสำเร็จ

นำสู่การก่อตั้ง บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ขึ้นในปี พ.ศ. 2553 เพื่อส่งออกผลไม้คุณภาพสูงไปทั่วโลก มีการบริหารจัดการตั้งแต่การดูแลและควบคุมคุณภาพผลไม้ โดยคัดเลือกจากสวนที่มีมาตรฐาน GAP และ Global GAP รับรอง จากนั้นควบรวมกิจการบริษัท ตองแปด ผักผลไม้ จำกัด และบริษัทในเครือเพื่อให้บริการแบบ One Stop Service ยังประเทศต่างๆ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ยุโรป จนสามารถทำยอดขายรวมปีล่าสุดได้ถึง 5,200 ล้านบาท

ช่วยเกษตรกรฟื้นคืนชีพสวนทุเรียนด้วย R&D

ถ้ามองจากรายได้ 5,200 ล้านบาท อาจเข้าใจว่าเกิดจากการ “ซื้อมาขายไป” แต่เคล็ดลับจริงๆ คุณเฟย บอกว่า ต้อง “ซื้อใจ” คู่ค้า พันธมิตร โดยเฉพาะเกษตรกร ที่เป็นต้นทางของการสร้างคุณภาพสินค้าให้ได้เสียก่อน

“มีอยู่ทฤษฎีหนึ่งที่ผมยึดถือคือ การทำให้คู่ค้า หรือเกษตรกรรู้สึกว่ามีการพึ่งพากันและกัน อย่าทำให้เขารู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ แต่ให้เขาทำเพื่อเราและเราก็ทำเพื่อเขา แบบนี้ถึงจะอยู่ด้วยกันตลอด เกิดความรู้สึกไม่ใช่แค่คู่ค้า แต่คือเพื่อนจริงๆ พอเป็นแบบนี้การทำธุรกิจก็ราบรื่น ทำให้มีเวลาไปเปิดตลาดใหม่ๆ ในประเทศอื่นต่อได้” คุณเฟย ย้ำหลักคิด

พร้อมขยายความว่า ด้วยจุดเด่น แพลททินัม ฟรุ๊ต คือ รู้ธรรมชาติผลิตภัณฑ์ เข้าใจทุกกระบวนการตลอดซัพพลายเชน รู้ว่าสวนผลไม้ต้องมีอะไร ชาวสวนต้องการอะไร รู้ว่าตลาดผู้ซื้อต้องการอะไร ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงไม่เพียงแต่รอเข้าไปรับซื้อเท่านั้น แต่ยังเข้าไปช่วยทำ R&D เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตร่วมกับเจ้าของสวน โดยเริ่มจากทุเรียน

“หลักการ R&D ของแพลททินัม ฟรุ๊ต คือ ทำอย่างไรให้ชาวสวนเติบโตงอกงามไปด้วยกัน ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของบริษัทที่ตั้งไว้ ซึ่งต้องทำได้จริง โดยเราจะเข้าไปหาสวนทุเรียนที่มีปัญหา ลูกออกมาตกไซซ์ ตกเกรด แมลงลงเยอะ หรือที่เรียกว่าสวนซอมบี้ แล้วคุยกับเจ้าของสวนว่าเราจะช่วยพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างไร จากนั้นจะให้คำแนะนำการให้น้ำ ใส่ปุ๋ย ช่วยปรับปรุงคุณภาพดินเพื่อสุดท้ายแล้วผลผลิตที่ได้ต้องออกมาดีขึ้น ที่ผ่านมาเราสามารถฟื้นสวนซอมบี้ ให้กลายเป็นสวนที่มีผลผลิตดีขึ้นมาจนสวนข้างๆ ตกใจ นึกว่าต้องตัดทิ้งแล้วยังขึ้นมาได้ โดยสวนที่เราเข้าไปจะเน้นสวนขนาด 50-100 ไร่ ขึ้นไป ถือว่า win-win ทุกฝ่าย เพราะชาวสวนจะได้ผลผลิตคุณภาพดี ราคาดีที่เราพร้อมรับซื้อ ขณะที่บริษัทก็ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปริมาณที่แน่นอน”

สำหรับสิ่งที่วางแผนจะทำในอนาคตต่อไปคือ การพัฒนาลำต้นทุเรียน โดยกำลังวิจัยสูตรในการทำให้ต้นทุเรียนได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและสมบูรณ์ ซึ่งทางแพลททินัม ฟรุ๊ต ก็มีแปลงสาธิต และมีการพัฒนาร่วมกับเจ้าของสวน รวมถึงมีการเข้าไปพัฒนาให้กับชาวสวนอยู่เสมอ