อภัยภูเบศร ยกตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร แลนด์มาร์กการท่องเที่ยวภาคตะวันออก ไปไว้ในงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทยปี 2566” ชู วัฒนธรรม สมุนไพร ขมเป็นยา พาเที่ยวไทย พร้อมกิจกรรมน่าสนใจอีกมากมาย พลาดไม่ได้ 2-6 สิงหาคม 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมจัดงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย ปี 2566” จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระหว่างวันที่ 2-6 สิงหาคม 2566 ณ ฮอลล์ 5-8 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยภายในงาน อภัยภูเบศรจัดเต็มบูธสมุนไพร นำเสนอการท่องเที่ยวให้ทุกการเดินทางปลอดภัย ด้วยสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ที่ครอบคลุมทั้งการป้องกันและบรรเทาอาการของโรคโควิด-19 ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไอ เจ็บคอ ท้องเสีย ป้องกันยุง ป้องกันไข้เลือดออก และสมุนไพรจำเป็นที่ต้องพกติดตัวในยามฉุกเฉิน เช่น รางจืด มัสคูลสเปรย์ ยาทาแผลฆ่าเชื้อ เปลือกมังคุด เป็นต้น

ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ประธานกรรมการบริหารฝ่ายพัฒนาภูมิปัญญาไทย เปิดเผยว่า สมุนไพรเป็นวัฒนธรรมแห่งชีวิต ที่ต้องการการธำรงรักษาและพัฒนาไม่หยุดนิ่ง ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรจำเป็นชนิดหนึ่งดังที่ได้เห็นในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา และขณะนี้ก็ยังอยู่ในฐานะโรคประจำถิ่นเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งฟ้าทะลายโจรชนิดกินนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพกติดตัว มีติดบ้านหรือจะปลูกไว้ใช้การได้ทันที เริ่มมีอาการรีบกินจะช่วยให้โรคไม่ลุกลามและรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ การเดินทางอาจมีปัญหาคอแห้ง เจ็บคอ มีแผลในปาก มีกลิ่นปาก สามารถบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ด้วยการใช้สเปรย์พ่นคอฟ้าทะลายโจรทางอภัยภูเบศรพัฒนาขึ้น ในชื่อ อภัยเม้าท์สเปรย์ ซึ่งมีการศึกษาทางคลินิกพบว่า ดีกว่าสเปรย์สมุนไพรพ่นคอจากต่างประเทศด้วยฤทธิ์ลดการอักเสบที่โดดเด่นของฟ้าทะลายโจร

ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ยังกล่าวเสริมอีกว่า นอกจากนี้ ฟ้าทะลายโจรยังมีฤทธิ์ป้องกันยุงกัด มีความอ่อนโยน ปลอดภัย ใช้ได้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง พ่นทิ้งไว้ที่ผิวได้ กันยุงได้ถึง 2.7 ชั่วโมง โดยอภัยภูเบศรได้ออกผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายยุง เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งความภูมิใจของอภัยภูเบศร ขณะเดียวกัน ฟ้าทะลายโจรยังมีประโยชน์ต่อผิว ต้านการอักเสบช่วยลดปัญหาผิวหนังต่างๆ เช่น บวม แดง คัน แห้งเป็นขุย นอกจากฤทธิ์ต้านการอักเสบแล้ว ความขมของฟ้าทะลายโจรยังช่วยทำให้การทำงานของเซลล์ต่างๆ ซึ่งเป็นกลไกปกป้องผิวหนังทำงานได้ดีขึ้นจากการที่ผิวหนังของคนเรามี receptor หรือตัวรับความขมอยู่ ฟ้าทะลายโจรยังช่วยคืนความหนุ่มสาวให้ผิวหนัง ชะลอความชราและทำให้เซลล์ชั้นนอกของผิวหนังเกาะเกี่ยวกันได้ดีขึ้น ผิวหนังแข็งแรงขึ้น ช่วยป้องกันเชื้อโรคและสารพิษได้ดีขึ้น ทางเราจึงพัฒนาสบู่เหลวและสบู่ก้อนจากฟ้าทะลายโจรสูตรอ่อนโยนขึ้นในชื่อ “อภัย เฮิร์บการ์ด”

“ความว้าวของฟ้าทะลายโจรอีกอย่างคือ การนำมาทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพได้คือ “ฟ้า อภัย โทนิค” ซึ่งคล้ายๆ กับการบำรุงร่างกายของตะวันตกกลุ่ม bitter tonic เช่น Gin Tonic สมัยโบราณมีการใช้ควินินเป็นสารขม แต่ต่อมาใช้สารขมชนิดอื่น ในสังคมไทยมีวัฒนธรรมการเติมสารขมในอาหาร เช่น ในการใช้ดีสัตว์ ขี้เพี้ย เปลือกไม้ ใบไม้เช่นใบฟ้าทะลายโจร ใส่ในอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติ บำรุงน้ำดี ช่วยย่อย ลดความร้อนในร่างกาย ในงานนี้ท่านสามารถมาชิม “ฟ้า อภัย โทนิค” พร้อมแจกสูตรให้ไปทำเองหรือเพื่อจำหน่ายด้วยก็ได้ สำหรับท่านที่ต้องการเมล็ดฟ้าทะลายโจรกลับไปปลูก สามารถรับได้ที่งานนี้เช่นกัน” ดร.ภญ.สุภาภรณ์ กล่าว

ดร.ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากฟ้าทะลายโจรแล้ว เราได้เตรียมผลิตภัณฑ์สมุนไพรจำเป็นที่มีไว้ในการเดินทางหรือเป็นของฝากในราคาพิเศษ เช่น มัสคูลสเปรย์ จากสารสกัดสมุนไพรกระดูกไก่ดำ เพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบเฉียบพลัน จากการลื่น หกล้ม กระแทก ช้ำบวม การ์ซิดีน ยาทาแผลฆ่าเชื้อและทำให้แผลหายเร็วจากเปลือกมังคุด แคปซูลรางจืด ชารางจืด แก้แพ้ ลดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด สเปรย์รางจืดแก้แพ้ทางผิวหนัง ลดอาการผิวหนังอักเสบหลังการสัมผัสแดด ยาหม่อง ยาดม ยาอมมะขามป้อมฯ และผลิตภัณฑ์ใหม่บำรุงผิวหน้าจาก CBD ที่เราปลูกและสกัดเอง

ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ยังทิ้งท้ายว่า การท่องเที่ยวทำให้สังคมไทยแข็งแรง เม็ดเงินลงสู่ชุมชน และธำรงศิลปวัฒนธรรมของชาติ สำหรับอภัยภูเบศรแล้วเรามีแหล่งวัตถุดิบสมุนไพรเกษตรอินทรีย์จากเครือข่ายชาวบ้าน เช่น สหกรณ์เกษตรอินทรีย์จังหวัดปราจีนบุรี กลุ่มทับทิมสยามจังหวัดสระแก้ว นอกจากสมุนไพรแล้วยังมีกิจกรรมสุดพิเศษ กับบูธอภัยภูเบศรตรวจธาตุเจ้าเรือนเฉพาะบุคคล จากแพทย์แผนไทย รับฟรี !! เมล็ดพันธุ์ฟ้าทะลายโจร ชิมฟรี !! เครื่องดื่มฟ้า อภัย โทนิค ผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพราคาพิเศษ มาสุขกาย สุขใจ ได้ช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

พบกันได้ที่ บูธ “สมุนไพรอภัยภูเบศร” ตั้งอยู่ภายในสถาปัตยกรรมจำลองตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี เป็นแลนด์มาร์กที่สง่างาม ตั้งอยู่ Zon 2 ภาคตะวันออก อยู่ด้านหน้า ระหว่างประตู 5 และ 6 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ