ไบเออร์ แนะใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี ส่งเสริมเพาะเมล็ดพันธุ์

หลายสิบปีมาแล้วที่ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด เห็นถึงความยากลำบากของเกษตรกรรายย่อยที่เผชิญหน้ากับความเสี่ยงในการทำเกษตรบางปีแทบไม่เหลือเงินติดมือ ขณะที่เขาเหล่านั้นเป็นหัวใจของภาคเกษตรไทย และมีศักยภาพในการพัฒนา บริษัทจึงเข้าไปส่งเสริมให้มีอาชีพเพาะเมล็ดพันธุ์คุณภาพนอกเหนือจากการปลูกข้าวหรือพืชผักอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยง เพิ่มรายได้ และยกระดับศักยภาพของเกษตรกรไทย โดยแนวทางดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปักธงการส่งออกเมล็ดพันธุ์มูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาทต่อปี และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านเมล็ดพันธุ์ผักในระดับโลก (World Leader of Tropical Seed) ตามที่ได้ประกาศไว้ในที่ประชุม Asian Seed Congress 2022

หลายฝ่ายทราบดีว่าเป้าหมายนี้ไม่ง่ายที่จะไปให้ถึง แต่ก็ไม่ยากเกินฝัน หากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมืออย่างแข็งขันที่จะประสานการทำงาน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง พร้อมกับการเติบโตของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์อย่างยั่งยืน และแน่นอนว่าเกษตรกรผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์คือ อีกส่วนสำคัญในความสำเร็จ

ภายใต้วิสัยทัศน์และแนวคิด “ทุกคนมีสุขภาพดี และไม่ขาดแคลนอาหาร” (Health for all, Hunger for none) บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ดำเนินการให้ “องค์ความรู้ และการเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำโดยไม่ทิ้งเกษตรกรให้เผชิญหน้าเพียงลำพัง” โดยสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพในการผลิต และถ่ายทอดความรู้และการใช้นวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ เพื่อให้เกษตรกรมีความสามารถในการผลิต และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

ปัญญา ชินภักดี เล่าว่า ปลูกเมล็ดพันธุ์แตงโมส่งให้ ไบเออร์มาเป็นเวลา 20 ปี แปลงเกษตร 6 ไร่ของเขาอยู่ที่ อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ปัญญาแบ่งการทำเกษตรเป็น 2 ช่วง เดือนเมษายน-พฤศจิกายน จะทำนาหว่าน หลังจากเก็บเกี่ยว ส่วนช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม เป็นการปลูกเมล็ดพันธุ์ ปัญญา บอกว่า ได้รับการพัฒนาด้านต่างๆ จากไบเออร์ ทั้งการจัดการน้ำ การกำจัดโรคพืชระหว่างการปลูก ทำให้ได้ผลผลิตตามที่ตั้งเป้าไว้ และยังทำให้หูตากว้างไกลมีความรู้ทันเหตุการณ์ตลอดเวลา จน ณ วันนี้ ปัญญายืนอยู่ได้อย่างเข้มแข็งแล้ว เขา ย้อนกลับไปมองตอนช่วงโควิดระบาดเห็นคนทำงานในเมืองตกงาน ต้องหันหลังกลับบ้านกัน ขณะที่อาชีพเกษตรของตนเอง แม้จะหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน แต่มีรายได้มั่นคง อาจไม่รวยล้น แต่ก็ไม่จน และอยู่อย่างมีความสุข

อย่างที่ปัญญาเห็นคนทำงานในเมืองถูกลอยแพจำนวนมากในช่วงโควิด ไพรัตน์ จันทร์น้อย เกษตรกรเขตพังโคน จังหวัดสกลนคร เป็นคนหนึ่งที่เผชิญชะตากรรมนั้น ช่วงนั้นเขาทำงานที่กรุงเทพฯ แต่พบปัญหาทางเศรษฐกิจถาโถม ความฝันของเขาที่ตั้งใจจะเข้าเมืองเพื่อหาเงินเป็นกอบเป็นกำ ส่งกลับบ้านต้องมลายหายไป ไพรัตน์โบกมือลาเมืองกรุงด้วยความผิดหวัง และเดินทางกลับบ้านสกลนครเพื่อตั้งหลักใหม่ โดยตั้งใจจะใช้ที่ดินที่มีอยู่ไม่มากนัก 2 ไร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และแล้วเขาก็ตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางปลูกเมล็ดพันธุ์พริกขาย แม้ไพรัตน์จะเรียนรู้ด้วยตัวเองในช่วงแรก แต่ระหว่างทางในอาชีพนี้ เขาไม่ได้เดินลำพัง มีพนักงานของบริษัทไบเออร์คอยให้คำแนะนำ จนถึงตอนนี้ผ่านมา 3 ปีแล้ว รายได้ที่เขาได้รับแน่นอนกว่าทำงานที่กรุงเทพฯ เสียอีก ขณะที่ค่าใช้จ่ายประจำวันในชนบทก็ไม่สูงเมื่อเทียบกับในเมือง

เขาสะท้อนว่า คนในชนบทที่มีที่ทำกิน เหมาะกับอาชีพเกษตรเป็นอย่างยิ่ง ไม่จำเป็นต้องมีที่ดินมากมายก็ทำเกษตรได้ อย่างเขามีที่ดินเพียง 2 ไร่ก็ทำอาชีพเพาะเมล็ดพันธุ์สร้างรายได้ให้ครอบครัวอย่างมั่นคง อาจจะยากสำหรับการเริ่มต้น แต่ไพรัตน์ บอกว่า การทำเกษตรในปัจจุบันค่อนข้างต่างไปจากอดีต มีเครื่องมือ เทคนิคที่ช่วยผ่อนแรง และลดต้นทุน แถมมีวิทยาการใหม่ๆ ให้เรียนรู้ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และขายได้ราคา นอกจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองแล้ว ก็ยังมีบริษัทที่ช่วยจัดการให้เกษตรกรมีโอกาสผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ และฝีมือของเกษตรกรไทยก็ไม่ยิ่งหย่อนสามารถส่งออกไปไกลยังตลาดต่างประเทศ “ชีวิตเกษตรกรที่สกลนครในวันนี้ ทำให้ผมไม่คิดจะกลับเข้ากรุงเทพฯ อีกเลย” เป็นคำมั่นสัญญาของเขา

Advertisement

คนจำนวนไม่น้อยที่เหมือนไพรัตน์ มัวหางานในบริษัท เพราะคิดว่านั่นคือความมั่นคงของชีวิต แต่สุดท้ายอาชีพเกษตรของบรรพบุรุษอาจสร้างความสุขได้มากกว่าหลายเท่า เอกชัย ดิษฐกองทอง เคยทำอาชีพอื่นแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จดังหวัง แล้วก็จับพลัดจับผลูมาปลูกเมล็ดพันธุ์เมล่อนที่อำเภอแก่งค้อ จังหวัดชัยภูมิ เขาปลูก 1 ฤดูกาลต่อปีเท่านั้น นับจากวันแรกของการเดินเข้าสู่เส้นทางอาชีพนี้เมื่อหลายปีก่อนจนถึงตอนนี้ เขาบอกกับตัวเองว่า “คิดถูก” เพราะนี่คืออาชีพที่มั่นคงอย่างแท้จริง “ผมสามารถปลดหนี้ และดูแลครอบครัวได้อย่างดีจากอาชีพเพาะเมล็ดพันธุ์เมล่อน” แต่ความสำเร็จมาด้วยหยาดเหงื่อจากความตั้งใจเสมอ แปลงเกษตรของเอกชัยไม่ได้รอโชคชะตาฟ้าดินพาไป แต่ทำเกษตรแบบมีการวางแผน และนำเทคโนโลยีมาช่วย เพื่อให้ผิดพลาดน้อยที่สุด บวกแรงสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ และยังมีภาคเอกชนอย่างไบเออร์ ช่วยแบ่งปันความรู้การทำเกษตรในวิถีที่ถูกต้องอีกทางหนึ่ง ทำให้ต้นทุนลดลง ผลผลิตเพิ่ม และได้คุณภาพส่งออก เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศต่างๆ สร้างความภูมิใจให้เอกชัยและครอบครัว

ไม่ได้มีเพียงปัญญา ไพรัตน์ และเอกชัยเท่านั้น หลายสิบปีมาแล้วที่เกษตรกรในภาคอีสานต่างหันมาผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อการส่งออกเป็นอีกทางเลือกของการทำเกษตร อย่าง ชัยยุทธ กุลภา ที่เห็นการณ์ไกลทำอาชีพนี้เมื่อ 16 ปีก่อน แปลงของเขาอยู่ที่อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ฤดูกาลล่าสุดมาจับมือกับบริษัท ไบเออร์ไทย ปลูกเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศบนพื้นที่เพียง 2 ไร่ แล้วก็ปลูก 1 ฤดูกาลต่อปีเท่านั้น “อาชีพเพาะเมล็ดพันธุ์ช่วยแก้ปัญหาความยากจน จากเดิมเราปลูกพืชอื่นๆ แทบไม่ได้ราคา ปัจจุบันกลายเป็นอาชีพหลักของหลายครอบครัว”

Advertisement

ดินที่แตกระแหงทั่วอีสาน ทำอะไรแทบไม่ได้ ปลูกพืชก็ไม่ได้ราคา เกษตรกรยิ่งทำยิ่งยากจน แต่อาชีพเพาะเมล็ดพันธุ์ ทำให้แปลงเกษตรอีสานคึกคัก มีการถ่ายทอดความรู้จากบริษัท สู่ชุมชนเกษตรกรเพื่อปลูกเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพ มีวิทยาการใหม่ๆ สามารถนำความรู้ และเทคโนโลยีมาตอบโจทย์การขาดแคลนแรงงานได้อย่างดี ชัยยุทธเป็นอีกคนที่ใช้อาชีพปลูกเมล็ดพันธุ์ดูแลครอบครัวได้อย่างมั่นคง ทำให้ครอบครัวมีกินมีใช้มีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ต่างกับคนเมือง ทศพล อินภูมี เกษตรกรจังหวัดสกลนครเช่นกัน เขาและครอบครัวฝากความหวังไว้กับอาชีพนี้ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้เป็นอาชีพเสริมแล้ว แต่เป็นอาชีพหลักของครอบครัว 8 ปีมาแล้วที่เขาปลูกเมล็ดพันธุ์พริกและมะเขือเทศ บนพื้นที่ 2 ไร่ จนทุกวันนี้เขาและครอบครัวมีพร้อมทุกอย่าง บ้าน รถ ทุกคนอยู่พร้อมหน้า ทำให้ครอบครัวมีความสุข นี่คือความมั่นคงอย่างแท้จริงสำหรับเขา การเพาะเมล็ดพันธุ์จึงเป็นเส้นทางอาชีพที่เขาปักหลักจะทำต่อไป

ทศพล บอกว่า แม้จะมีปัญหาระหว่างการปลูกบ้าง แต่ก็ไม่ต่างกับการปลูกพืชอื่นๆ เพียงแต่การปลูกเมล็ดพันธุ์ต้องละเอียดในทุกขั้นตอน เหมือนเป็นงานฝีมือ เพื่อให้ได้เกณฑ์มาตรฐานการส่งออก โดยเกษตรกรก็ไม่ได้ทำแบบลองผิดลองถูกคนเดียวลำพัง บริษัทมีข้อแนะนำและหลักปฏิบัติเป็นแนวทางให้อย่างชัดเจน “รู้สึกภูมิใจกับเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกด้วยมือเรา เป็นผลงานที่ไปไกล และเติบโตในต่างประเทศ ที่ผมยังไม่เคยไปด้วยซ้ำ ผมจะทำอาชีพนี้ต่อไป ขอบคุณบริษัทที่ช่วยเกษตรกรได้มีความก้าวหน้าและมั่นคงในอาชีพ”

ไม่เฉพาะเกษตรกรชายอกสามศอกเท่านั้น ใครจะรู้ว่ามีเกษตรกรหญิงแกร่งในหลายพื้นที่ในอีสานที่มีความคิดตรงกันในการตัดสินใจปลูกเมล็ดพันธุ์ และทำได้ดีไม่แพ้ผู้ชาย เพียรทอง มูลเกตุ เกษตรกรจังหวัดขอนแก่น เธอบริหารพื้นที่ 7 ไร่อย่างสมดุล มีทั้งแปลงปลูกข้าวไว้กินในครอบครัว และปลูกเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศส่งให้กับบริษัท ไบเออร์มานานกว่า 16 ปีแล้ว เพียรทองยอมรับว่าแรกเริ่มก็ไม่ได้เชี่ยวชาญ แต่บริษัทได้เข้ามาอบรมให้ทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มปลูก การจัดการพื้นดิน การผสมเกสร เพื่อให้ได้ผลผลิตตามมาตรฐานการส่งออก แม้จะเจอปัญหาบ้างในช่วงผสมพันธุ์ ต้องทำแข่งกับเวลา และบางปีขาดแคลนแรงงาน เพราะต้องใช้เกษตรกรที่มีความรู้ในด้านการผสมพันธุ์ แต่บริษัทก็มาช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างฤดูปลูก และเข้ามาเยี่ยมแปลงอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี

“ทุกวันนี้มีรายได้จากการปลูกเมล็ดพันธุ์ ซึ่งถือว่าเป็นรายได้หลักเพื่อใช้จ่ายในครอบครัว ไม่ขัดสน มีเงินทุนหมุนเวียน และใช้เลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว 4 คน พ่อ แม่ ลูก และพ่อสามี ที่สำคัญคือ มีความสุขที่ได้อยู่บ้าน ไม่ต้องแยกครอบครัวไปทำมาหากินที่อื่น แล้วก็เป็นนายตัวเอง”

อุปสรรคในการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่สามารถบริหารจัดการได้เป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความสุขที่ได้อยู่บ้านพร้อมหน้า มีรายได้ดูแลสมาชิกในครอบครัว และทำให้เกษตรกรหญิงสามารถทำหน้าที่แม่บ้านได้ไม่ขาดตกบกพร่อง ระวิวรรณ จันทร์มาลา ปลูกเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศบนเนื้อที่ 1 ไร่เท่านั้นที่อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร 4-5 ปีผ่านไปถึงวันนี้ เธอบอกว่าการปลูกเมล็ดพันธุ์ไม่ยากเลย มีขั้นตอนที่ชัดเจน เพียงต้องเข้าใจและดูแลเอาใจใส่ เพราะแต่ละช่วงเวลามีความสำคัญในการปลูกให้ได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพ แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของไบเออร์เข้ามาช่วยดูแล เป็นพี่เลี้ยงในแปลงปลูกอย่างใกล้ชิด หากมีปัญหาก็จะเข้ามาช่วยตรวจสอบ แก้ไข หาวิธีการให้ผ่านไปด้วยดีเสมอ อาจไม่ราบรื่นไปเสียทุกอย่าง ส่วนที่ยากที่สุดน่าจะเป็นการขาดแคลนแรงงานระหว่างการปลูกในแต่ละปี แต่เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก จึงมีความร่วมมือกับบริษัทในการเก็บ วิเคราะห์ข้อมูล ปัญหา เพื่อใช้วางแผนในการปลูกปีถัดไป แม้จะมีอุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ ในการทำเกษตร แต่การปลูกเมล็ดพันธุ์ไม่ได้เป็นงานที่หนักเกินไป ไม่ต้องเดินทางไปทำงานไกล มีเวลาดูแลลูกและครอบครัว ระยะเวลา 4-5 ปีที่หันมาปลูกเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ รวิวรรณ บอกว่า “เป็นการตัดสินใจที่นำมาซึ่งความสุขให้กับเธอและครอบครัวอย่างแท้จริง”

บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด หนึ่งในภาคเอกชน ที่ให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์ผักเพื่อส่งออกมาตลอดระยะเวลาหลายปี พร้อมสนับสนุนในการผลักดันนโยบายและการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทยให้เป็น World Leader of Tropical Seed โดยได้มีการลงทุนและพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบศัตรูพืช ตั้งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร สามารถออกใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทที่เป็นทั้งผู้ผลิตและส่งออกเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงและได้มาตรฐานการส่งออก และยังมีนโยบายสนับสนุนเกษตรกรไทยให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักเพื่อการส่งออกอย่างมีคุณภาพ ด้วยการส่งต่อเทคโนโลยี ความรู้ ข้อมูลรวมถึงปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพของไทยอย่างต่อเนื่อง