BEDO หนุนเสริมชุมชนเมืองดอกฝ้ายบาน ดัน ฝ้ายตุ่ย สู่วิถีผ้าทอ

BEDO หนุนเสริมชุมชนเมืองดอกฝ้ายบาน ดัน ฝ้ายตุ่ย สู่วิถีผ้าทอ

“คุณค่าดีๆ ต้นน้ำเลย” หนึ่งเดียวในภูหลวง

BEDO ให้การส่งเสริมด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรสร้างเศรษฐกิจในชุมชนบ้านศรีเจริญ ตำบลเลยวังไสย์ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ตอนบนของแม่น้ำเลย เป็นพื้นที่ต้นน้ำ มีทรัพยากรชีวภาพที่โดดเด่นและสำคัญต่อวิถีชีวิตชุมชน ผลิตภัณฑ์จากผ้าทอจากฝ้ายอินทรีย์สายพันธุ์พื้นบ้าน ย้อมด้วยสีธรรมชาติจากฝ้ายตุ่ยและฝ้ายขาว โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และทอด้วยมือ ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าร่วมสมัย ฝ้ายตุ่ยยังถือเป็นพืชที่เกี่ยวข้องกับวิถีวัฒนธรรมเครื่องนุ่งห่มที่จังหวัดเลย ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องเมืองแห่งฝ้าย ขณะที่ตำบลเลยวังไสย์มีพื้นที่ปลูกฝ้ายมากที่สุดของจังหวัด การปลูกฝ้ายของตำบลเลยวังไสย์มีการปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีใดๆ เมื่อปลูกแล้วจะนำฝ้ายที่ได้มาผ่านกระบวนการ อิ้ว เข็น ปั่นด้าย และทอเป็นผ้าผืนใช้ในครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO เบโด้ ได้ส่งเสริม เห็นคุณค่าและศักยภาพของฝ้ายตุ่ย จึงได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาการทอเป็นผ้าหน้ากว้าง พัฒนารูปแบบลวดลายทั้งจากการทอ ไม่เพียงแค่การส่งเสริมให้กลุ่มปลูกฝ้ายตุ่ยไม่ให้สูญพันธุ์ แต่ยังการมองหาสีธรรมชาติที่ได้จากใบไม้ พืช ในท้องถิ่นของตัวเองที่มีในชุมชน เช่น ใบเบือก ใบเอ็นหม่อน ครั่ง เปลือกต้นมะม่วง เป็นต้น ที่สำคัญตอนนี้ได้มีการนำมูลช้างมาทำสีย้อมให้กับฝ้ายของกลุ่มซึ่งได้รับความนิยมมาก มีการนำผ้ามาออกแบบตัดเย็บในรูปแบบที่ทันสมัยให้คนเมืองสามารถสวมใส่ได้

ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายขุนเลย ฝ้ายตุ่ยกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างความภูมิใจให้กับคนในชุมชนบ้านศรีเจริญ ตำบลเลยวังไสย์ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย ที่นี่มีการปลูกและอนุรักษ์ฝ้ายตุ่ยหรือฝ้ายกระตุ่ย วันนี้ผ้าฝ้ายตุ่ยของชุมชนบ้านศรีเจริญ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อ ทั้งในรูปแบบทอเป็นผืนและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งเสื้อ ผ้าพันคอ หมวก และผ้าเป็นผืน ภายใต้ชื่อ ขุนน้ำเลย สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี รวมถึงสร้างชื่อเสียงผลิตภัณฑ์ของไทยที่ได้ออกแบบ ตัดเย็บ และจำหน่ายในต่างประเทศ

BEDO จึงได้นำเครื่องมือการตลาด เข้ามาปรับใช้สร้างคุณค่าและรายได้ให้กับชุมชนวังไสย์ โดยให้การส่งเสริมด้าน “ท่องเที่ยวชีวภาพ” เป็นการสร้างการรับรู้เชิญชวนให้ผู้คนนอกชุมชนได้รู้จักสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชุมชนและได้เข้ามาสัมผัสเยี่ยมชมวิถีชาวบ้านที่เรียบง่าย โดยจัดงานตลาดปันรักษ์ ในชื่อ “เทศกาลอาหารพื้นบ้าน ดอกฝ้ายบาน @ขุนเลย”

ซึ่งเป็นรูปแบบของตลาดชุมชน และสร้างรายได้ให้ชุมชน ซึ่งปัจจุบัน ชุมชนตำบลเลยวังไสย์ถือเป็นต้นแบบของการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพให้เกิดเศรษฐกิจควบคู่กับการทำกิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี