“รองฯ สมศักดิ์” ถกจัดการน้ำฤดูแล้ง 66/67

ด้าน สทนช. เตรียมระดมทุกภาคส่วน เสวนา “ผ่าทางรอดประเทศไทย จับมือฝ่าวิกฤติภัย “เอลนีโญ”” พฤศจิกายนนี้

รองนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง 66/67 สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทบทวนมาตรการรับมือหน้าแล้งนี้ ทั้ง 9 มาตรการ รวม 3 ด้าน เพื่อรับมือผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ด้าน เลขาธิการ สนทช. เผยพฤศจิกายนนี้เตรียมจัดงานใหญ่ ระดมทุกภาคส่วน ร่วมเสวนา “ผ่าทางรอดประเทศไทย จับมือฝ่าวิกฤติภัย “เอลนีโญ””

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุมเตรียมการในการบริหารจัดการน้ำปี 2566/2567 ณ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวน (ร่าง) มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2566/2567 ทั้ง 9 มาตรการ แบ่งเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย

1. ด้านน้ำต้นทุน คือ เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ และปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

2. ด้านความต้องการใช้น้ำ คือ กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชหน้าแล้ง ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรัง สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำ ที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ และ

3. ด้านการบริหารจัดการ คือ เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชนหรือองค์กรผู้ใช้น้ำ สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ และติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อให้มาตรการมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากในช่วงปลายฤดูฝนนี้มีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปัจจุบัน อ่างฯ ใหญ่ ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย มีจำนวนลดลงจากเดิม 11 แห่ง เหลือ 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนคลองสียัด โดยจะเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ เพื่อให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ได้กำชับให้บริหารจัดการน้ำช่วงปลายฤดูฝนส่งต่อหน้าแล้งอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอทั้งประเทศรับมือปรากฏการณ์เอลนีโญ หลังคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566-พฤศจิกายน 2567 จากนั้นจะมีกําลังอ่อนลงและต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2567

ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์เอลนีโญในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงอย่างเต็มที่ โดยจะปฏิบัติตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่สาธารณชนถึงสถานการณ์เอลนีโญและขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน สทนช. จะมีการจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ หัวข้อ “ผ่าทางรอดประเทศไทย จับมือฝ่าวิกฤติภัย “เอลนีโญ” โดยระดมภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ ยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU หัวข้อ “การอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินแบบบูรณาการ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี” ระหว่าง สทนช. กับ กรมพัฒนาที่ดิน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรธรณี และกรมทรัพยากรน้ำ การมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดคลิปสั้น และ TikTok รณรงค์ประหยัดน้ำ เพื่อกระตุ้นให้พี่น้องประชาชนรู้จักใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และตระหนักถึงภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงจัดนิทรรศการแสดงผลดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานต่างๆ ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้