เผยแพร่ |
---|
มาตรฐาน ‘RSPO’ ยกระดับผู้ผลิตปาล์มน้ำมันไทยสู่มาตรฐานสากล ตอกย้ำเกษตรกรสวนปาล์มกว่า 5 ล้านไร่ สร้างผลผลิตที่ยั่งยืน
น้ำมันปาล์มเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่เราใช้ในชีวิตประจำวันทั้งอุปโภคและบริโภค ดังนั้น การผลิตน้ำมันปาล์มให้เกิด ‘ความยั่งยืน’ จึงเป็นแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก และในประเทศไทยก็เช่นกัน ซึ่งน้ำมันปาล์มเป็นพืชน้ำมันที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งของโลก โดยประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้เอง และปลูกปาล์มมากเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งมีพื้นที่ในการปลูกปาล์มมากกว่า 5 ล้านไร่ ทั้งยังมีแนวโน้มในการใช้น้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศสูงขึ้นทุกปี สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก เพราะนอกจากเราจะใช้ในการบริโภคในชีวิตประจำวันแล้ว ยังนำไปใช้ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เครื่องสำอาง และต่อยอดไปอีกในหลายๆ ผลิตภัณฑ์ เรียกได้ว่า ตื่นเช้ามาทุกคนจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์ม ตั้งแต่สบู่ ยาสีฟัน แชมพู และเครื่องสำอางที่ใช้ทุกวัน หรือขนมขบเคี้ยวและของทอด ก็อาจมีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนหนึ่งในนั้น ยังไม่นับการนำน้ำมันปาล์มไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมข้นหวาน ไอศกรีม และเนยเทียม หรืออุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค เช่น น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก ไปจนถึงน้ำมันรถยนต์
แต่มากไปกว่านั้น คือการที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ได้ตระหนักถึงที่มาของปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นต้นทางของการผลิตเหล่านี้ ทำให้ยังไม่เห็นข้อแตกต่างระหว่างการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มาจากน้ำมันปาล์มแต่ละแหล่ง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หากเข้าใจข้อแตกต่างก็จะเข้าใจเหตุผลและมองเห็นวิธีการที่จะช่วยสนับสนุนเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันด้วยวิธีการที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น การทำให้น้ำมันปาล์มเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกมากขึ้น จึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจจะต้องใส่ใจกับสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน วันนี้ความยั่งยืนจึงกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูกค้ายอมรับ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม ไม่เพียงแค่สร้างการยอมรับในตลาดโลก แต่ยังเป็นการช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าในการปลูกปาล์มที่เกิดขึ้นทั่วโลก มาตรฐาน RSPO จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าในการปลูกปาล์มที่เกิดขึ้นทั่วโลก
RSPO คืออะไร? Roundtable on Sustainable Palm Oil หรือ RSPO เป็นมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากที่สุดขณะนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเติบโตและการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มที่ผ่านมาตรฐานสากลที่น่าเชื่อถือ ที่สอดรับกับแนวทาง ESG ที่เน้นความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แม้มาตรฐานจะได้รับการพัฒนาในขั้นต้นโดย RSPO แต่สถาบันมาตรฐานอังกฤษ (bsi.) ในสิงคโปร์และมาเลเซียเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่ได้รับการอนุมัติและให้อำนาจในการตรวจประเมินและรับรององค์กรที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปาล์ม
สถานการณ์ปาล์มน้ำมันทั่วโลก ความต้องการน้ำมันพืชที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมามีการผลิตน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากย้อนไปในปี 1970 ทั่วโลกผลิตน้ำมันปาล์มได้เพียง 2 ล้านตันเท่านั้น แต่ปัจจุบันทั่วโลกสามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้ 72.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 36.45 เท่า โดยมี 3 ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในโลก คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย
ทั้งนี้ ปาล์มน้ำมันมีข้อดีหลายประการ เป็นพืชที่ให้ผลผลิตสูงสุด มีประสิทธิภาพมาก ทั้งยังใช้ที่ดินน้อยกว่าครึ่งที่พืชอื่นต้องการเพื่อผลิตน้ำมันในปริมาณเท่ากัน ด้วยความที่มีราคาถูกและมีประสิทธิภาพ ทำให้น้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันพืชที่ใช้กันมากที่สุดในโลก ประกอบกับการที่น้ำมันปาล์มเป็นผลิตภัณฑ์อเนกประสงค์ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก จึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จากการที่มีสารกันบูดตามธรรมชาติซึ่งช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์อาหาร ส่วนใหญ่จึงใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3 หรือ 68% ไม่ว่าจะเป็นมาการีน ช็อกโกแลต พิซซ่า ขนมปัง และน้ำมันประกอบอาหาร ที่สำคัญสามารถนำไปใช้ในการผลิตสินค้าในชีวิตประจำวันถึง 27% เช่น สบู่ ผงซักฟอก เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ ส่วนที่เหลือใช้เป็นพลังงานชีวภาพ 5% ได้แก่ เชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับการขนส่ง ไฟฟ้า และพลังงานความร้อน เป็นต้น
ความต้องการ RSPO ในประเทศไทย และปัญหาที่เกิดขึ้น แม้ว่า RSPO จะเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 แต่สำหรับในประเทศไทย ยังถือเป็นเรื่องใหม่มากๆ แม้ RSPO จะถือเป็นมาตรฐานที่ดีที่สุด และถือเป็นวิธีที่จะรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการรักษาทรัพยากรได้ แต่ยังมีข้อจำกัดสำหรับเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทย ซึ่งมีมากกว่า 95% ของจำนวนผู้ผลิตปาล์มทั้งหมด เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยที่ได้มาตรฐาน RSPO จะต้องเป็นเกษตรกรที่มีพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ แต่ในประเทศไทยเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ มีพื้นที่เพียง 10-15 ไร่ต่อรายเท่านั้น ดังนั้น การรับรองมาตรฐานนี้ให้กับเกษตรกร 1 ราย จึงค่อนข้างยาก ต้องมีการรวมกลุ่มกันจำนวนเยอะๆ เพื่อให้มีพื้นที่แปลงใหญ่ขึ้น
ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีน้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรอง RSPO อยู่ไม่มาก คือมีการเติบโตขึ้น แต่อาจไม่รวดเร็วเท่ากับประเทศอินโดนิเซียและมาเลเซีย ที่อยู่ภายใต้การผลิตของบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก็สามารถรับการรับรองมาตรฐานได้แล้ว
ทั้งนี้จากข้อมูลเดือนมิถุนายน 2566 RSPO ในไทยมีสมาชิกผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ทั้งเกษตรกรรายย่อยและรายใหญ่ จำนวน 84 กลุ่ม โดยแบ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อยอิสระที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน RSPO มีจำนวน 6,814 ราย มีพื้นที่ที่ได้รับการรับรอง 265,377.56 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.36 ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมดของประเทศไทย และอยู่ระหว่างการตรวจรับรองอีก 2,955 ราย 67,782.00 ไร่ คาดว่าภายในปลายปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทย จะมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่ได้รับการรับรองจาก RSPO จำนวน 333,159.56 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 5.48 ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมดของประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีสมาชิก RSPO ที่เป็นผู้ผลิตกลางน้ำ ผู้ผลิตสินค้าบริโภค (Consumer Goods Manufactures) อีก 11 บริษัท ผู้ค้า ผู้ผลิตแปรรูป (Processors and Traders) 33 บริษัท ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำมันปาล์มรายย่อย (Supply Chain Associated) 40 บริษัทและบริษัทเกี่ยวข้องอีก 1 แห่ง รวมทั้งสิ้น 169 แห่ง ดังนั้น การมีเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนของประเทศไทย จะเป็นการส่งเสริมฐานกำลังให้แข็งแกร่งต่อการผลักดันทั้งระบบห่วงโซ่การผลิตที่มีประสิทธิภาพของทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้น และ RSPO มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดการขยายตลาดปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืน ให้เป็นบรรทัดฐานของประเทศไทยสู่เวทีโลก
ซึ่งการรวมตัวกันของภาคีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนี้ จะเป็นพลังความร่วมมือในการส่งเสริมและเพิ่มความเชื่อมั่นในการผลิตปาล์มน้ำมันและเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เกิดการขับเคลื่อนและการปฏิบัติร่วมกันทั้งระบบเพื่อบรรลุเป้าหมายหลักของ RSPO พร้อมกับสร้างการรับรู้และความตระหนักในการผลิตและการใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืน บริโภคสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเทียบกับมาตรฐานสากลต่อไป
ผลกระทบจากการปลูกปาล์มน้ำมันแบบไม่ยั่งยืน อย่างที่เราทราบกันดีว่า ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกปาล์ม คือตัวอย่างหนึ่งของการปลูกปาล์มน้ำมันที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากจะเป็นการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์แล้ว ยังเป็นการทำลายแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย แม้ในปัจจุบัน เกษตรกรไทยจะมีปัญหาเรื่องนี้ไม่มากเท่ากับประเทศที่เป็นแหล่งผลิตปาล์มน้ำมันอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งมีสัตว์ป่าบางชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์เพราะบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อใช้ปลูกปาล์มน้ำมัน แต่เกษตรกรไทยที่เข้าใจเรื่องการผลิตอย่างยั่งยืนยังมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรกรปาล์มน้ำมันทั้งหมด หลายคนยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการปลูกที่ลดการพังทลายของดินและการปกป้องแหล่งน้ำ
ดังนั้น เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ในฐานะประเทศที่มีผลผลิตน้ำมันปาล์มสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งมีพื้นที่ปลูกปาล์มมากกว่า 5 ล้านไร่ ทั้งยังมีแนวโน้มในการใช้น้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศสูงขึ้นทุกปี องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประเทศไทย จึงทำ ‘โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ ตั้งแต่ปี 2561 โดยร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในระหว่างขยายแผนงานที่วางไว้ไปสู่การทำงานร่วมกับเกษตรกรและโรงงานโดยตรง โดยใช้เกณฑ์ชี้วัดจาก Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) มาเป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างมาตรฐานให้กับเกษตรกรไทย นำไปสู่การผลิตที่ยั่งยืน เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญและใส่ใจกับการเลือกผลิตภัณฑ์ที่มาจากระบบการผลิตแบบนี้มากขึ้น ซึ่งต่อจากนี้ไป มาตรฐาน RSPO จะมีบทบาทเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้นจากกฎการค้าโลกที่กดดันเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นทุกขณะ
อย่างเช่น มาตรการการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) โดยเฉพาะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป หนึ่งในผู้บริโภคน้ำมันปาล์มหลักของโลก ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกทยอยลดการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นพืชที่มีความเสี่ยงต่อการทำให้เกิดการสร้างคาร์บอนสูง
โดยตั้งเป้าหมายยุติการใช้ภายในปี 2573 ส่งผลให้เกิดกระแส ‘Zero Palm Oil’ ในภาคอุตสาหกรรมของยุโรป นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับสุขภาพยังทำให้เกิดกระแส ‘Palm Oil Free’ สำหรับสินค้าอาหารต่างๆ ในยุโรป เนื่องจากน้ำมันปาล์มถูกมองว่าเป็นแหล่งไขมันอิ่มตัว (Saturated Fat) และมีสารก่อมะเร็งในปริมาณมากเมื่อเทียบกับพืชน้ำมันอื่นๆ
ทั้งนี้โครงการแรกได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้ให้มากขึ้น และขยายไปถึงการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืนครบทั้งวงจร ตั้งแต่ตัวเกษตรกร โรงงานน้ำมันปาล์ม ธุรกิจที่ใช้น้ำมันปาล์ม ไปจนถึงผู้บริโภคในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์มด้วย
RSPO มีประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างไร? ทำไมผู้ประกอบการธุรกิจปาล์มน้ำมันต้องให้ความสำคัญ จากการสำรวจเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ‘พัฒนาการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน RSPO’ พบว่าความรู้ที่ได้รับ เช่น วิธีการคัดเลือกพันธุ์ปาล์มน้ำมันให้เหมาะสมกับสภาพดินและการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันต้นใหม่แทนที่ต้นเก่าเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อหน่วย สามารถลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรบางรายได้ถึง 50% เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขความเสียหายจากดินเสื่อมคุณภาพและพื้นที่เพาะปลูกที่ต้องเพิ่มหรือเคลื่อนย้ายบ่อย
โดย RSPO ได้กำหนดหลักการ 8 ข้อ เพื่อเป็นกรอบสำหรับการผลิตปาล์มที่ยั่งยืน โดยครอบคลุมถึงการบริหารจัดการและดำเนินงานด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐกิจ ความเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม และความเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยมีหลักการดังนี้
- ความมุ่งมั่นให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้
- การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติ
- การปฏิบัติตามแบบแผนในด้านเศรษฐกิจและการเงิน
- การใช้วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับผู้ปลูกน้ำมันปาล์มและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม
- ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ
- ความรับผิดชอบต่อบุคลากรและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากผู้ปลูกปาล์มและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม
- ความรับผิดชอบต่อการพัฒนาการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ใหม่
- การพัฒนาอย่างต่อเนื่องในกิจกรรมที่สำคัญ
ปัจจุบันประเทศที่ได้รับการรับรองเกณฑ์กำหนดและตัวชี้วัดตามกรอบ RSPO ได้แก่ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ขณะที่ปาปัวนิวกินีอยู่ระหว่างการนำเสนอหลักการระดับชาติต่อ RSPO ส่วนไทยเริ่มต้นให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มที่มีการตั้งกลุ่มกันผ่านโรงงานรับซื้อปาล์มสกัดน้ำมัน
โดยได้จัดตั้งคณะทำงาน หลังจากตีความหลักการและเกณฑ์กำหนด ตามกรอบ RSPO (Generic P&C) และภาคเอกชนภายในประเทศก็ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวในการขอใบรับรองว่าสินค้าของตนเองเป็นไปตามหลักการและเกณฑ์กำหนดของ RSPO โดยประเทศไทยได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO ในประเภทกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ขณะที่ประเทศอื่นเป็นการรวมกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ผ่านโรงงานอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันขนาดใหญ่
SME ต้องพร้อมปรับตัวสู่ BCG เพื่อไปต่ออย่างยั่งยืน โรงงานผลิตน้ำมันปาล์มดิบจัดเป็นเศรษฐกิจชีวภาพที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวได้เป็นอย่างดี ตามแนวทาง BCG Economy ซึ่งนอกจากการเพาะปลูกตามมาตรฐาน RSPO แล้ว ยังสามารถนำกระบวนการรีไซเคิลมาใช้ในโรงงาน ด้วยการนำส่วนต่างๆ ที่เหลือมาใช้ประโยชน์จากผลปาล์มให้ได้มากที่สุด เช่น เส้นใย นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตไฟฟ้า น้ำที่ผ่านการบำบัดกลั่นตะกอน เกิดเป็นก๊าซชีวภาพ (Biogas) ก็นำไปผลิตไฟฟ้าได้ ส่วนกากที่เหลือนำมาใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพให้กับชาวสวนปาล์มที่อยู่ในพื้นที่ได้ใช้กัน โดยต่อท่อลำเลียงออกจากโรงงาน โดยจะมีทั้งน้ำและปุ๋ย ทำให้ชาวสวนปาล์มลดต้นทุนจากการใช้น้ำ ในขณะเดียวกันก็มีส่วนผสมของปุ๋ยชีวภาพอยู่ด้วย จึงไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีเยอะเหมือนที่ผ่านมา ส่วนกะลาก็จำหน่ายให้โรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อีกด้วย
ที่กล่าวมานี้สะท้อนให้เห็นว่า การทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทย ต้องไปตามเทรนด์ของโลกที่มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพราะโลกร้อน ไม่ว่าสินค้าอะไร จะโดนบังคับให้ต้องลดคาร์บอน หากผลิตสินค้าที่ไม่ใส่ใจในเรื่องนี้จะไปต่อยาก ดังนั้น ถ้าเราเริ่มก่อนจะได้เปรียบ เพราะเจาะตลาดได้ก่อนเข้าถึงผู้บริโภคได้ก่อนนั่นเอง
โรงงานปาล์มครบวงจร สู่ Zero Waste ยกตัวอย่าง บริษัท เอส.พี.โอ.อะโกรอินดัสตรี้ส์ จำกัด ผู้ผลิต ‘ปาล์มน้ำมัน’ ครอบคลุมทุกพื้นที่ในภาคใต้ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม หีบน้ำมันปาล์ม และผลิตพลังงานไฟฟ้าจากวัสดุชีวมวลและก๊าซชีวภาพ นอกจากนี้ ยังได้รับมาตรฐานการผลิตปาล์มคุณภาพ ระดับสากลจาก RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) เป็นมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (Sustainability) ที่สามารถสร้างรายได้ที่ดีกว่าและสามารถลดต้นทุนการผลิต เชื่อมโยงเกษตรกรสู่มาตรฐานระดับโลก
ติดตามอ่านบทความทั่วไป และบทสัมภาษณ์ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นแนวคิด แนวทางในการบริหารธุรกิจ ได้ที่…
อ้างอิง
https://www.thai-german-cooperation.info/en_US/morakot/
https://www.bsigroup.com/th-TH/RSPO-for-Sustainable-Palm-Oil/
https://www.ditp.go.th/contents_attach/69456/55002012.pdf
https://themomentum.co/branded-content-giz-rspo/
https://www.facebook.com/gizthailandagrifood/photos/a.174759813099264/541163259792249/?type=3
https://www.greennetworkthailand.com/rspo-tei/
https://www.tei.or.th/en/environment_news_detail.php?eid=2308