กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความรู้เกษตร เร่งดันไทยสู่เกษตรมูลค่าสูง

ในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “ความรู้” เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่สามารถงอกเงยให้ผลผลิตอันล้ำค่า และกลายเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนชีวิตของผู้คนในทุกมิติ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ซึ่งเห็นได้จากแนวโน้มการเกิดขึ้นของเกษตรสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการทำเกษตร อาทิ การช่วยให้เกษตรกรเลือกวิธีการเตรียมดินให้เหมาะสมต่อการปลูกพืชแต่ละชนิด ช่วยลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น นำมาสู่การเพิ่มคุณภาพเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกันนี้รัฐบาลไทยต่างให้ความสำคัญ ต่อการพัฒนาส่งเสริมเกษตรกรให้เติบโตอย่างมีศักยภาพและมีความรู้เสมอมา โดยเฉพาะการนำทัพของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นเรื่อง “เกษตรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” ผ่านการทำงานภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยต้องดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ อาทิ ผลักดันสินค้าเกษตรมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เป็นต้น ซึ่งหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่จะทำให้เป้าประสงค์นี้สัมฤทธิผลคือ “กรมส่งเสริมการเกษตร”

กรมส่งเสริมการเกษตร โรงบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรไทย

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีบทบาทในการส่งเสริมและสร้างศักยภาพให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรไทยมีความรู้และทักษะที่เพียงพอในการประกอบอาชีพ สามารถที่จะทราบได้ว่าต้องทำอย่างไรให้ปลูกข้าว พืชไร่ พืชสวน หรือผลไม้ให้ได้ผลผลิตที่ดี รวมถึงทำอย่างไรให้สามารถบริหารต้นทุนให้มีความเหมาะสมกับกำไรที่พึงจะได้ พร้อมผลักดันให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรมูลค่าสูง รวมถึงส่งเสริมการแปรรูปสร้างมาตรฐานสินค้าเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาด Modern Trade หรือตลาดต่างประเทศ เมื่อเกษตรกรมีความรู้ในเรื่องการสร้างประสิทธิภาพในการผลิต มีความรู้ในเรื่องของการแปรรูป ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพียงพอกับรายจ่ายในปัจจุบันและอนาคต

“เราใช้วิสัยทัศน์เดียวกับที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องการใช้แนวคิดการทำงานแบบ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งคำว่า ตลาดนำ ทางกระทรวงเกษตรฯ เล็งเห็นว่าการจะผลิตอะไรต้องดูความต้องการของตลาดก่อนเป็นสำคัญ หากตลาดมีความต้องการ ก็ผลิตสิ่งเหล่านั้น หรือแม้กระทั่งตลาดมีความต้องการปริมาณเท่าไหร่ เราก็ควรผลิตให้ไม่เกินความต้องการของตลาด เพราะถ้าเกินจะเกิดปรากฏการณ์ล้นตลาด

“ในประเด็นเรื่องนวัตกรรมเสริม เรามีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง พร้อมทั้งทำงานร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีการจัดการดิน เอาปุ๋ยชีวภาพมาใช้ มีระบบน้ำหยด โดรน และโรงเรือนอัจฉริยะ เป็นต้น ยกตัวอย่างการตรวจดิน พอเราทราบว่าดินขาดธาตุหรือสารอาหารอะไรบ้าง เราก็จะใส่ปุ๋ยตามธาตุวิเคราะห์ดิน ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ทางกรมได้ลงพื้นที่ไร่มันสำปะหลังแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี จากเดิมที่ผลิตได้ 4 ตัน หลังจากการประยุกต์นำเอานวัตกรรมตรวจสภาพดินมาใช้ทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตได้สูงขึ้นไปถึง 7 ตันกว่า ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5 พันบาทต่อไร่จากปกติ อันนี้คือความสำเร็จของการประยุกต์ใช้นวัตกรรม” 

4 ทักษะ พาไทยสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง

หนึ่งในภารกิจสำคัญของกรมส่งเสริมการเกษตรคือการติดอาวุธทางปัญญาให้กับพี่น้องเกษตรกร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรได้เผยแนวทางในการเพิ่มทักษะสำคัญ 4 ด้านที่จะพาไทยสู่ผู้ผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ประกอบด้วย

1. สร้างองค์ความรู้ สร้างทักษะเชิงบวก หรือกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ (Growth Mindset) ให้กับพี่น้องเกษตรกร เนื่องจากสินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของปัจจัยทางธรรมชาติอยู่เสมอ ดังนั้น การมองโลกเชิงบวกพร้อมเอาชนะปัญหาอุปสรรค จึงต้องมีจิตใจเชิงบวกให้มากขึ้น อีกทั้ง กรมพร้อมสร้างกำลังใจให้พี่น้องเกษตรกรมีความอดทน ขยัน และมีความเพียรตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้และพยายามฝึกฝน เมื่อล้มเหลวจะทำให้พยายามมากขึ้น ซึ่งการต้านทานความเปราะบางถือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญต่อทุกภาคธุรกิจ

2. สร้างทักษะความเข้าใจด้านการเงิน เพราะทุกวันนี้การบริหารการเงินเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นสำหรับคนในยุคปัจจุบันและอนาคต ในบริบทการทำการเกษตรหากทำเกษตรเชิงเดี่ยวจะได้รับเงิน 2 ครั้งต่อปี หากขาดทักษะการบริหารจัดการเงิน จะทำให้ไม่มีเงินเหลือเพียงพอที่จะทำให้มีชีวิตอยู่รอดได้ในอีก 10 เดือน ซึ่งอาจนำไปสู่วงจรการเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น ทางกรมจึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจด้านการเงิน การบริหารจัดสรรเงินก่อนใช้จ่ายและการบริหารการเงิน รวมถึงการกระจายความเสี่ยงทางการเงิน อย่างเหมาะสมให้กับพี่น้องเกษตรกร

3. การสร้างทักษะด้านดิจิทัล หนึ่งในทักษะสำคัญยุคดิจิทัลคือความสามารถในการเข้าใจ เข้าถึง และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ทักษะการเข้าสู่ตลาด e-commerce การส่งสินค้าเกษตรเข้าไปขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ รวมถึงการสร้างทักษะเฉพาะด้านทางภาคการเกษตร อาทิ ในสวนทุเรียนหรือสวนผลไม้ ต้องมีการอ่านค่าความสมดุลระหว่างอุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์ที่อยู่ในแปลง ดังนั้น เมื่อเห็นค่าอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปเกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการให้น้ำหรือให้ปุ๋ยได้ หรือช่วงไหนที่ดีอยู่แล้วก็หยุดการให้น้ำ ทักษะเหล่านี้เรียกรวมว่าความสามารถในการอ่านวิเคราะห์ Data Analytics ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถจัดการเกษตรที่ดีขึ้นได้

4. การสร้างความรู้และความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อม อย่างที่ทราบกันว่าตอนนี้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกต่างเร่งมือแก้ไข ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่มีผลโดยตรงต่อภาคการเกษตรคือ เรื่องคาร์บอนเครดิต โดยเกษตรกรต้องปรับตัว เพื่อทำการเกษตรโดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่เผา และถ้าไม่เผาจะสร้างต้นทุนให้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างไรบ้าง แล้วถ้าไม่เผาแล้วเราจะทำให้สินค้าเกษตรของเรามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างไร หรือถ้าไม่เผาเขาสามารถไปเคลมเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็จะได้มูลค่าเพิ่มขึ้นมาอีก สิ่งเหล่านี้เองจึงเป็นทักษะสำคัญ ที่กรมส่งเสริมการเกษตรจะเติมให้กับพี่น้องเกษตรกรในเรื่องเหล่านี้

วิกฤตและโอกาสในภาคการเกษตรที่น่าจับตามอง

นอกจากการส่งเสริมทักษะ 4 ด้าน นายพีรพันธ์ยังฉายภาพสถานการณ์ภาคการเกษตรที่น่าจับตามองเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มักมาพร้อมกับปัญหาภัยพิบัติ ไม่ว่าจะฝนตกถี่ขึ้น ในความถี่แต่ละครั้งก็มักมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อปรากฏการณ์น้ำท่วม นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องความร้อนไม่ว่าจะโรคร้อนหรือโรคเดือด ซึ่งความร้อนมีผลกระทบต่อภาคเกษตรโดยตรง เพราะทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น อีกทั้งยังมาพร้อมกับโรคและแมลงศัตรูพืช ที่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วท่ามกลางอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ปัญหาทั้งสองประการล้วนกำลังเกิดขึ้นและกำลังทวีความรุนแรงจนอาจกลายเป็นวิกฤตทางด้านการเกษตร

อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตมักมีโอกาสเสมอ ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ได้กระตุ้นให้เห็นว่าเราใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิน น้ำ ที่ค่อนข้างจะใช้อย่างสิ้นเปลือง และเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ เราใช้ปุ๋ยมากขึ้นจนเรียกได้ว่าความอุดมสมบูรณ์ของดินน้อยลงไป

กลายเป็นคำถามว่า ภาคเกษตรจะก้าวข้ามปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร การทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกลายเป็นโจทย์สำคัญของเกษตรกรยุคใหม่ ภายใต้ทรัพยากรที่เสื่อมโทรมลง ประชากรของโลกเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันทรัพยากรน้อยลง จะทำอย่างไรให้ผลิตได้มากเพียงพอ

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการใช้เทคโนโลยีที่เข้มข้นเพิ่มขึ้น

“กลายเป็นโอกาสว่า หากภาคการเกษตรของประเทศไทยสามารถกระโดดข้ามปัญหาอุปสรรคและวางตัวเองสู่ผู้ผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง หันมาใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์ ใช้ความเป็นเกษตรแม่นยำมากขึ้น เช่น โรงเรือนอัจฉริยะ ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิ แสง ดิน น้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือการที่ปลูกพืชไร่ ถ้าเราเร่งให้เกิดกระบวนการปลูกพืชที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าปกติ เราก็สามารถที่จะเอาคาร์บอนที่ปล่อยน้อยกว่าปกติไปขายได้เป็นคาร์บอนเครดิตกลับคืนมา นอกจากนั้น กลุ่มพืชไร่ที่ไปเป็นอาหารให้กับปศุสัตว์ ไก่ หมู ที่ส่งไปขายในยุโรป ก็จะเป็นหมูไก่ที่กินพืชไร่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ก็จะมีโอกาสทางการตลาดและการค้าเพิ่มมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่ยังไม่ได้มีการเตรียมตัวเรื่องเหล่านี้

“กรมส่งเสริมการเกษตรต้องเรียนว่าเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับเกษตรกร เรามีน้องๆ มีพี่ๆ ที่ทำงานในระดับตำบล ถ้าพูดถึงเกษตรตำบลทุกคนคงรู้จัก เราพร้อมที่จะทำงานเป็นเพื่อนคู่คิดกับพี่น้องเกษตรกรอยู่เสมอ เรามีความตั้งใจที่จะให้ความรู้กับพี่น้องเกษตรกรในทุกมิติ เราเป็นที่พึ่งเกษตรกรในทุกๆ เรื่องที่จะบอกเล่าเก้าสิบ มีปัญหาอะไรก็บอกเราได้ถ้าเราสามารถดูแลให้ได้ ก็จะทำให้ทันที แต่ถ้าเราต้องไปปรึกษาหารือกับเพื่อนๆ พี่ๆ ราชการกรมอื่น หรือภาคเอกชน เราก็พร้อมที่จะเป็นผู้ประสานงาน เพราะกรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมทำงานร่วมกับพี่น้องเกษตรกร ให้ทุกคนเดินหน้าอย่างมีความสุข ความเจริญ มีรอยยิ้มเพราะว่ารอยยิ้มของพี่น้องเกษตรกร คือความภาคภูมิใจของพวกเราชาวกรมส่งเสริมการเกษตร” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้าย