BEDO ขยายผลองค์ความรู้การใช้ความหลากหลายทางชีวภาพ

BEDO ขยายผลองค์ความรู้การใช้ความหลากหลายทางชีวภาพในการปรับเปลี่ยนวิถีเกษตร มุ่งสู่สังคมการทำเกษตรยั่งยืนด้วยแมลงโปรตีน BSF

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO จัดประชุมเสวนา “ปรับ เปลี่ยน สู่สังคมเกษตรยั่งยืนด้วยแมลงโปรตีน BSF” ภายใต้โครงการการขยายผลการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตแมลงโปรตีน (Hermetia illucens L.) สำหรับอาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้ในระดับชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (RU: Research Utilization) ณ ห้อง Grand Hall 2 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร

ภายในงานประชุมเสวนาฯ ได้รับเกียรติจาก นางสาวศิริกร วิวรวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ความท้าทายและโอกาส เกษตรคาร์บอนต่ำ สู่ความยั่งยืนด้วยวิจัยและนวัตกรรม” และ ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายที่ดินกับการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ของเกษตรกร” และ การอภิปรายแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การขยายผลและการประโยชน์แมลงโปรตีน BSF โดย ตัวแทนเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้แทนหน่วยงาน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากโครงการ ดำเนินการอภิปรายโดย ศาสตราจารย์ ดร.ยุพา หาญบุญทรง และ ดร.นภศูล ศิริจันทร์ และเวทีเสวนา เรื่อง “การขับเคลื่อนองค์ความรู้สู่ระดับนโยบาย” โดยมีตัวแทนนักวิจัยโครงการ ตัวแทนภาคธุรกิจ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเสวนาและนำเสนอประเด็นสำคัญต่างๆ ดำเนินรายการโดย นางสาวณัฐฐิญา กงภูธร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและจัดการองค์ความรู้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)

นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ สพภ. กล่าวว่า ภายใต้สภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทั้งสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ได้ก่อให้เกิดการสูญเสียอย่างมหาศาล ทำให้ภาคีระหว่างประเทศมุ่งพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน ทั้งการตั้งเป้าหมายการรักษาระดับไม่ให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส การสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร การหาแนวทางจ่ายเงินชดเชยค่าผลกระทบที่ไม่อาจย้อนคืนจากหายนะทางสภาพอากาศ แนวทางหนึ่งในความพยายามในการแก้ไขปัญหาคือ แก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution ย่อว่า NbS) มาใช้ในการบริหาร จัดการอย่างยั่งยืน และฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยการจัดการกับความท้าทายด้านสังคม (Societal Challenges) อย่างมีประสิทธิภาพและปรับให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของมนุษย์ และดำรงรักษาประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพ

นางสุวรรณา กล่าวต่อว่า แมลงโปรตีน (Black Soldier Fly) ช่วยสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร เป็นแหล่งโปรตีนทดแทนโปรตีนสัตว์ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกร แมลงโปรตีนสามารถย่อยสลายซากอินทรีย์ได้ในระยะอันสั้น ส่งผลให้เกิดแหล่งโปรตีนสำคัญของโลก และลดการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจกจากการทำปศุสัตว์ได้อย่างมหาศาล แต่ประเทศไทยยังไม่มีการใช้ประโยชน์จากแมลงโปรตีน BSF อย่างจริง สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายนักวิจัย ร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้การเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน พร้อมขับเคลื่อนองค์ความรู้การใช้ประโยชน์กระจายสู่เกษตรกรผ่านเครือข่ายสถาบันการศึกษาท้องถิ่นกว่า 11 แห่งทั่วประเทศ

นางสุวรรณา กล่าวอีกว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งขยายผลการนำเอาองค์ความรู้จากงานวิจัยไปขยายผลในระดับชุมชนเพื่อการพัฒนาและยกระดับการผลิตแมลงโปรตีนซึ่งเป็นความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญในการสร้างระบบเศรษฐกิจ BCG และทำให้เกิดการจัดการทรัพยากรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนในอาหารสัตว์ ลดต้นทุนการผลิต และสร้างรายได้ในระดับชุมชน มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแมลงโปรตีน BSF และถ่ายทอดวิธีการที่ถูกต้องสำหรับการผลิตและใช้ประโยชน์แมลงโปรตีนสำหรับเป็นอาหารสัตว์แก่เกษตรกรและชุมชน และพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์แมลงโปรตีน BSF ให้แก่เกษตรกร โดยโครงการได้สร้างวิทยากรตัวคูณได้ 52 คน จากมหาวิทยาลัยท้องถิ่น 11 แห่ง ขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจรวม 713 คน จากพื้นที่ 22 จังหวัดทั่วประเทศ ช่วยลดต้นทุนการทำเกษตรให้เกษตรกรได้ร้อยละ 30-50 และช่วยหมุนเวียนนำเศษอาหาร เศษเหลือจากการแปรรูปผลผลิตเกษตร หรือขยะอินทรีย์ (Organic Waste) กลับมาใช้เลี้ยงหนอนแมลงโปรตีนจำนวนกว่า 670 ตัน

“เกษตรกร และประชาชนทั่วไป ยังขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์แมลงโปรตีน BSF อยู่จำนวนมาก รวมทั้งยังจำเป็นต้องมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเกษตรกรโดยตรงในการขับเคลื่อนการขยายผลการใช้ประโยชน์แมลงโปรตีน BSF ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชนระดับฐานราก เตรียมความพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture System) ตามปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืน ระบบอาหารที่ยืดหยุ่น และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Declaration on Sustainable Agriculture, Resilient Food Systems, and Climate Action) คาดหวังว่าการประชุมเสวนาในครั้งนี้จะสามารถสร้างการรับรู้ในวงกว้างและสามารถขยายผลการแก้ปัญหาราคาค่าอาหารสัตว์แพงให้กับเกษตรกร และช่วยลดจำนวนขยะอินทรีย์ในชุมชนตั้งแต่ต้นทางได้อย่างยั่งยืนต่อไป” ผู้อำนวยการ สพภ. กล่าวย้ำ