โรคปริทันต์ คืออะไร

โรคเหงือกที่หลายๆ คนรู้จักเป็นหนึ่งในโรคปริทันต์ โรคปริทันต์คือโรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะปริทันต์ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Periodontal disease” ส่วนอวัยวะปริทันต์คืออะไร ชื่อดูไม่ค่อยคุ้นหู แท้จริงแล้วอวัยวะปริทันต์ คืออวัยวะที่อยู่รอบๆ ฟันครับ โดยมาจากคำว่า Peri หรือปริ แปลว่ารอบๆ dont หรือทันต์ คือฟัน ซึ่งประกอบไปด้วยเหงือก เคลือบรากฟัน กระดูกเบ้าฟัน และเอ็นยึดปริทันต์ โรคปริทันต์ที่สำคัญคือ โรคเหงือกอับเสบ คือโรคที่มีการอักเสบของเหงือกโดยไม่มีการทำลายของอวัยวะปริทันต์ส่วนอื่นๆ และโรคปริทันต์อับเสบ หรือที่บางคนรู้จักในชื่อ รำมะนาด โรคนี้จะมีการอักเสบของเหงือกที่รุนแรงขึ้น ร่วมกับมีการทำลายของกระดูกเบ้าฟันด้วย

สาเหตุหลักๆ ของโรคปริทันต์คือคราบจุลินทรีย์ หรือ Bacterial plaque เป็นคราบสีขาวอมเหลือง ที่เกาะอยู่ตามคอฟัน ซึ่งประกอบด้วยเชื้อแบคทีเรียมากมาย คราบนี้จะทำให้เหงือกอักเสบ ถ้าเราดูแลทำความสะอาดไม่ดี จะเกิดการตกตะกอนของแร่ธาตุในน้ำลาย ทำให้คราบจุลินทรีย์แข็งเป็นหินปูนหรือหินน้ำลาย พื้นผิวของหินปูนมีลักษณะขรุขระ ส่งผลให้เกิดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปโดยไม่ได้รับการรักษา มีการสะสมของเชื้อโรคในปริมาณที่มากขึ้น กลไลการอักเสบของร่างกายก็จะต่อสู้กับเชื้อโรค จนก่อให้เกิดการทำลายของอวัยวะปริทันต์ขึ้น

อาการสำคัญของโรคเหงือกอักเสบ เช่น เหงือกบวมแดง มีเลือดออกขณะแปรงฟัน มีกลิ่นปาก ส่วนโรคปริทันต์อักเสบที่มีการทำลายของกระดูกร่วมด้วย นอกเหนือจากอาการที่พบในผู้ป่วยโรคเหงือกอักเสบแล้ว อาจจะมีฟันโยก มีหนองจากร่องเหงือก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะรู้ว่าตนเองว่าเป็นโรค เมื่อโรคลุกลามไปมากแล้ว ซึ่งยากต่อการรักษา เนื่องจากอาการของโรคในระยะแรกๆ นั้นจะไม่เด่นชัด แต่เมื่อเวลาผ่านไปโดยไม่ได้รับการรักษาหรือการดูแลที่เหมาะสม โรคก็จะลุกลามและมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ปวดฟัน ฟันโยกมากขึ้น เป็นหนอง เหงือกบวมรุนแรง เมื่ออวัยวะปริทันต์ถูกทำลายไปมากจนเกินกว่าที่จะรักษาได้ ก็ส่งผลให้ต้องถอนฟันในที่สุด

การรักษาโรคเหงือกอักเสบนั้น ทำได้โดยการขูดหินปูนโดยทันตแพทย์ แต่สำหรับโรคปริทันต์อักเสบ ในเบื้องต้นผู้ป่วยต้องได้รับการขูดหินปูน ร่วมกับการเกลารากฟัน เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์และหินปูนออก แต่หากมีการทำลายอวัยวะปริทันต์ที่มากผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการทำศัลย์ปริทันต์ เช่น การปลูกกระดูกเพื่อทดแทนกระดูกเบ้าฟันที่ถูกทำลายไปร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการรักษาคือการดูแลอนามัยช่องปากให้สะอาดด้วยตัวผู้ป่วยเอง เพื่อป้องกันไม่ให้มีคราบจุลินทรีย์ และหินปูนเกิดขึ้นใหม่ซึ่งอาจจะทำให้การรักษาล้มเหลวได้

โรคในช่องปากส่วนใหญ่ รวมทั้งโรคปริทันต์ เป็นโรคที่ป้องกันได้ ดังนั้นการดูแลสุขภาพช่องปากทั้งฟันและอวัยวะปริทันต์ให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวัน รวมทั้งไปพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน จะช่วยให้ฟัน เหงือก และอวัยวะต่างๆ ในช่องปากแข็งแรงอยู่เสมอ

ขอบคุณข้อมูลจาก ทพ. กันตภณ รัตนพฤกษ์สกุล