“น้ำตาลจาก” กระบุรี กู้วิกฤตราคายาง-ปาล์ม สร้างรายได้ ครัวละ 1-3 แสนบาท

ริมชายแดนจังหวัดระนอง บริเวณอำเภอกระบุรี ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำกระบุรี ตรงข้ามกับจังหวัดเกาะสอง ประเทศเมียนมา เป็นพื้นที่ที่มีน้ำทะเลหนุนเข้าถึง สภาพของดินเหมาะกับการเจริญเติบโตของต้นจาก ทั้งต้นจากที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และเกิดจากการปลูกของเจ้าของพื้นที่ ชาวบ้านบริเวณนี้ได้อาศัยต้นจากในการหารายได้ให้กับครอบครัวมานานนับร้อยปี

“จรินทร์ กรมโยธา” หรือ ลุงดำ ชาวบ้านหมู่ 3 บ้านบางหมีล่าง ตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ในวัย 63 ปี เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนพื้นที่หลังบ้านเป็นนาข้าว แต่ปลูกข้าวไม่ค่อยได้ดีนัก เนื่องจากมีน้ำทะเลหนุนเข้าถึง จึงปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกต้นจาก มีรายได้จากการทำน้ำตาลจาก ตัดยอดจากมาทำใบยาสูบ ทำลูกจากเชื่อม รวมถึงเย็บตับจากหรือหลังคาจาก โดยทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ มาถึงตนเอง ขณะนี้มาถึงรุ่นลูกและหลานก็ยังคงทำอยู่

“แต่ปัจจุบันมีแต่ตัดยอดจากทำใบยาสูบ และน้ำตาลจาก ส่วนลูกจากและตับจากมีคนทำกันน้อยลง โดยในสมัยตนนั้นทำน้ำตาลจากส่งขายเป็นโอ่ง โอ่งละ 25 บาท ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยนี้ก็ประมาณ 2 ปี๊บ ซึ่งที่ผ่านมามีคนทำน้ำตาลจากลดน้อยลง เพราะหันไปทำยางพารากันมากขึ้น อีกทั้งการทำน้ำตาลจากก็จะลำบากมากกว่า และปัจจุบันจะมีปัญหาในเรื่องของการหาไม้ฟืนมาเคี่ยวน้ำตาล เพราะไปตัดไม้ในป่ามาทำฟืนเองไม่ได้”

ขณะที่ “ชิตณรงค์ เนตรแสงแก้ว” หรือพี่เคี่ยม อายุ 43 ปี และ “แก้วสวรรค์ มารัตน์” หรือ พี่แก้ว อายุ 41 ปี สองสามีภรรยาซึ่งกลับมาช่วยกันทำน้ำตาลจากกันอีกครั้ง หลังจากทิ้งอาชีพนี้ไปกว่า 10 ปี โดยพี่แก้วเล่าให้ฟังว่า เคยทำน้ำตาลจากมานาน ซึ่งตอนนั้นปี๊บละ 200 กว่าบาท และหยุดทำไปเกือบ 10 ปี แล้วกลับมาทำกันอีกครั้งในปีนี้ เนื่องจากได้ราคาดี ปัจจุบันส่งขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อในราคาปี๊บละ 650 บาท และใน 1 วัน จะเคี่ยวน้ำตาลจากได้ 2 ปี๊บ โดยจะเริ่มเคี่ยวน้ำตาลตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ แต่ในช่วงน้ำใหญ่ที่น้ำทะเลหนุนก็จะไม่มีการเคี่ยว ส่วนรายได้จากการทำน้ำตาลจากก็สามารถดูแลครอบครัวได้ดี

ส่วนพี่เคี่ยม เสริมว่า เมื่อถึงเดือนสิงหาคมจะเป็นการเริ่มเตรียมทำน้ำตาลจาก ทั้งการตีงวงจาก การทำเตาเคี่ยวโดยใช้ดินเลนมาตำและก่อขึ้นโดยหุ้มด้วยไม้ไผ่สาน การตัดกระบอกไม้ไผ่รองรับน้ำตาล และเมื่อถึงเดือนกันยายนก็จะเริ่มตัดงวงตาล โดยจะนำกระบอกไม้ไผ่ไปรับน้ำตาล ซึ่งเรียกว่า “สู้ตาล” เริ่มตั้งแต่บ่ายสามครึ่ง และจะไปเก็บตอน 7 โมงเช้า เรียกว่า “กู้ตาล” แล้วนำน้ำตาลจากที่ได้มาเคี่ยวในกระทะ ซึ่งใน 1 วัน ตนจะออกไปสู้และกู้ตาลวันละ 350-400 กระบอก ตามกำลังที่ทำได้ ทางด้านแก้วก็จะจุดไฟตั้งกระทะรอเคี่ยวน้ำตาลจาก โดยเริ่มเคี่ยวตั้งแต่ 8 โมงเช้าในกระทะแรก ซึ่งใน 1 วันจะเคี่ยว 3 กระทะแล้วเหลือเป็นน้ำตาล 2 กระทะ เทลงปี๊บได้ราว 2 ปี๊บ ปี๊บละประมาณ 25 กิโลกรัม การตัดปลายงวงต้องออกมาตัดทุกวันเพื่อไม่ให้งวงตัน แต่จะไม่มีการสู้และกู้ตาลเพื่อนำไปเคี่ยวในช่วงที่น้ำใหญ่หนุนเข้าพื้นที่

“ช่วงที่สำคัญคือตอนเคี่ยว ซึ่งในช่วงแรกเป็นการต้มไปเรื่อยๆ ก่อน ต้องระวังอย่าให้น้ำตาลเดือดจนล้น จะมีการกวนเป็นระยะๆ ผ่านไปราว 4 ชั่วโมง น้ำตาลจะเริ่มข้นและเปลี่ยนเป็นสีน้ำผึ้ง ตอนนี้จะเป็นช่วงสำคัญที่ต้องมีการกวน โดยใช้ไม้กวนไปตลอดไม่ให้หยุด ซึ่งต้องใช้เวลากวนน้ำตาลในช่วงนี้ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยเบาไฟลงจนน้ำตาลเริ่มเป็นทรายละเอียด แล้วยกลงจากเตาแล้วกวนต่ออีกราว 20 นาที จนน้ำตาลเริ่มเย็นตัวลงจึงทำการเทลงปี๊บ ในการกวนน้ำตาลช่วงเป็นน้ำผึ้งสำคัญมาก หากกวนไม่ดี หรือกวนไม่สม่ำเสมอ น้ำตาลจะเม็ดหยาบไม่ละเอียด เมื่อบรรจุลงปี๊บแล้วน้ำหนักจะไม่ได้ คือไม่ถึง 25 กิโลกรัม ก็จะเป็นของที่ไม่ได้คุณภาพ แต่ปัญหาที่สำคัญของการเคี่ยวน้ำตาลจากในปัจจุบัน คือการหาไม้ฟืน เพราะหายากมากขึ้น ต้องคอยดูว่าที่ไหนมีการตัดต้นยางก็จะไปขอ หรือซื้อเศษไม้ในส่วนของปลายเล็กๆ ที่เขาไม่เอา มาสะสมไว้เป็นไม้ฟืน”

ด้าน “อรุณ อภิรักษ์วรากร” ประธานโครงการรับซื้อผลิตภัณฑ์น้ำตาลจาก กองทุนหมู่บ้านบางหมีล่าง หมู่ที่ 3 ตำบลลำเลียง บอกว่า ปัจจุบันพี่น้องในพื้นที่หันมาทำน้ำตาลจากกันมากขึ้น เนื่องจากได้ราคาดี ทางกองทุนเล็งเห็นว่าราคาน้ำตาลจากน่าจะได้ดีกว่านี้ จึงตั้งโครงการโดยใช้งบประมาณประชารัฐมารับซื้อน้ำตาลจากพี่น้องในราคาที่สูงกว่าพ่อค้าทั่วไป ปัจจุบันจะให้ราคาปี๊บละ 700 บาท โดยจะมีพ่อค้ามารับซื้อจากโครงการไปในราคาปี๊บละ 770 บาท ก็สามารถยกระดับราคาน้ำตาลจากให้กับพี่น้องในพื้นที่ได้มากขึ้น และเมื่อหักราคาปี๊บออกไปแล้วก็จะเหลือเงินอยู่ในกองทุนอีก 40 บาท

“สายชล เกิดจันทอง” พ่อค้ารับซื้อน้ำตาลจาก บอกว่า ทำอาชีพรับซื้อน้ำตาลจากมากว่า 20 ปีแล้ว ในพื้นที่ อำเภอกระบุรี มียอดน้ำตาลจากปีละประมาณ 4,000 ปี๊บ โดยรับซื้อมาตั้งแต่ราคา 200 กว่าบาท จนตอนนี้ราคาไปเกือบ 800 บาทแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาน้ำตาลจากราคาไม่เคยตกมีแต่เพิ่มขึ้น และผลิตเท่าไหร่ก็ไม่พอ สามารถส่งขายได้หมดโดยไม่เหลือค้างไว้เลย ทั้งนี้ตนจะส่งขายไปยังโรงเหล้าชุมชน แถบจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา ซึ่งส่วนหนึ่งจะนำไปทำขนมลา ขนมพื้นบ้านของภาคใต้ในงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ

“สายชล” บอกต่อว่า อาชีพการทำน้ำตาลจากเป็นอาชีพที่ควรมีการสานต่อไปในอนาคตเพราะรายได้ดี ต้นตาลก็ไม่ต้องดูแลรักษาอะไรมาก ปุ๋ยก็ไม่ต้องใส่ แต่ต้องอาศัยความอดทน ขยัน และต้องสู้กับความลำบากสักนิด ซึ่งในปีนี้เท่าที่รับซื้อน้ำตาลจากในพื้นที่ แต่ละครอบครัวจะมีรายได้จากน้ำตาลจากไม่ต่ำกว่าครอบครัวละ 1-3 แสนบาทเลยทีเดียว แต่ต้องรักษาคุณภาพของน้ำตาลไว้ให้ได้ในน้ำหนักปี๊บละไม่ต่ำกว่า 25 กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักที่ถือว่าคุณภาพดีที่ผู้รับซื้อปลายทางพึงพอใจ

การเคี่ยวน้ำตาลจาก นับเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถหารายได้มาชดเชยการทำยางพารา และปาล์มน้ำมันที่กำลังตกต่ำได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เพียงแต่ต้องใช้ความขยัน อดทน และสู้กับสภาพดินฟ้าอากาศ…

ผลตอบแทนสุดท้ายก็นับว่าคุ้มค่ากับการลงแรง

ขอบคุณข้อมูลจาก พรชัย เอี่ยมโสภณ