เด็กประถมโรงเรียนบ้านทุ่งน้อย บางกระทุ่ม ทำเกษตรต่างกิจกรรม ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้

จังหวัดพิษณุโลก เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ครอบคลุมเป็นบริเวณกว้าง มีอำเภอที่ตั้งอยู่พื้นที่สูง มีความหลากหลายของพืชพรรณ และแน่นอนว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตรเช่นเดียวกับจังหวัดอื่น เพราะประเทศไทย เป็นประเทศแห่งเกษตรกรรม

การปลูกฝังให้เด็ก หรือเยาวชน มีความรู้จักรากฐานของบรรพบุรุษ เป็นเรื่องที่ควรกระทำอย่างยิ่ง โรงเรียนบ้านทุ่งน้อย ตำบลท่าตาล อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ระดับประถมศึกษา ที่มีนักเรียนเพียง 63 คน มีครู 11 คน เปิดการเรียนการสอนในระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6

นักเรียนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าตาล รัศมีการเดินทางจากโรงเรียน 7 กิโลเมตร และนักเรียนส่วนใหญ่เดินทางโดยรถจักรยาน ผู้ปกครองมาส่ง หรือเดินมา

เด็กชายจักรพรรดิ์ เรืองทิม

ถนนถูกตัดผ่านกลางระหว่างที่ดินของโรงเรียน ทำให้เกิดที่ตั้งของโรงเรียนบ้านท่าน้อย และพื้นที่อีกฝั่ง ซึ่งโรงเรียนเห็นความสำคัญของการทำเกษตรกรรม จึงจัดสรรให้พื้นที่อีกฝั่งของโรงเรียน เป็นพื้นที่สำหรับทำแปลงเกษตรโดยเฉพาะ

ในวันที่เดินทางไปอำเภอบางกระทุ่ม ผ่านโรงเรียนบ้านท่าน้อย เป็นจังหวะที่เด็กนักเรียนกำลังลงแปลง จึงเป็นโอกาสดีที่ได้แวะพูดคุย

ครูภิรมย์ลักษณ์ ดอนหม้อ ครูโรงเรียนบ้านท่าน้อย บอกว่า โรงเรียนมีแปลงเกษตรพื้นที่ ราว 2 งาน ใช้สำหรับให้นักเรียนทุกระดับชั้นลงแปลง แต่การดูแลต่อเนื่อง เป็นหน้าที่ของกลุ่มยุวเกษตรของโรงเรียนที่มีสมาชิกเป็นนักเรียนระดับชั้นประถมปีที่ 4-6 เท่านั้น

เด็กหญิงปาณิตา เทียนสมจิตร

“โรงเรียนเราจะปลูกต้นไม้แทรกไปทุกที่ที่ทำได้ ถ้าเป็นพื้นที่ที่เป็นซีเมนต์ ก็จะปลูกในกระถาง ล้อยาง เพื่อให้มีต้นไม้ให้มากที่สุด”

แปลงผักที่ครูภิรมย์ลักษณ์ บอก เป็นพื้นที่โล่ง มีซุ้มโปร่งสำหรับไม้เลื้อย บริเวณอื่นจัดสรรเป็นส่วนๆ ของพืชผักแต่ละชนิด เช่น ชะอม แค มะละกอ มะนาว กะเพรา โหระพา พริก ส่วนไม้เลื้อยเป็นกลุ่มของถั่วฝักยาว ฟักทอง ฟักเขียว เป็นต้น

ครูภิรมย์ลักษณ์ บอกด้วยว่า นักเรียนในกลุ่มยุวเกษตร จะได้ฝึกมากกว่าการลงแปลงเหมือนน้องๆ คือ การทำกิจกรรมทางการเกษตรที่ยากขึ้น เช่น การเพาะเห็ด การปักชำ การทำน้ำส้มควันไม้ ทำน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยแปลงเกษตรแห่งนี้มีขึ้นตามโครงการ “เดินตามรอยเท้าพ่อ” และเป็นโรงเรียนที่อยู่ในเครือข่ายของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ทำให้ได้รับการสนับสนุนเรื่องของเมล็ดพันธุ์ วัสดุอุปกรณ์จากโรงเรียนพี่ด้วย

บ่อซีเมนต์ เลี้ยงปลาดุก

นอกเหนือจากแปลงผัก ยังมีการประมง เลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์  4 บ่อ ปล่อยปลาดุก จำนวน 200 ตัว เฉลี่ยลงทุกบ่อ ใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปในการดูแล เพราะเป็นโรงเรียนเด็กเล็กและมีเด็กจำนวนไม่มาก จึงไม่สามารถทำอาหารปลาหรือนำเศษอาหารเหลือจากโรงอาหารมาให้ปลาได้เพียงพอ การซื้ออาหารเม็ดสำเร็จรูปจึงเป็นทางออก แม้ว่าจะเป็นต้นทุนที่สูงก็ตาม แต่ครูภิรมย์ลักษณ์ บอกว่า เพื่อการเรียนรู้ที่มากกว่าเรื่องพืช จึงควรมี

โรงเรือนเห็ด เป็นอีกกิจกรรมหมุนเวียนตลอดปีการศึกษา โรงเรียนปลูกเห็ดนางฟ้า และเห็ดฟาง เพราะดูแลง่ายกว่าเห็ดชนิดอื่น เน้นกิจกรรมที่ไม่ยากเกินไป เพื่อให้นักเรียนมีความสนใจและได้รับความรู้เต็มเปี่ยม

ซุ้มไม้เลื้อยทุกชนิด

ผลผลิตทั้งหมด นักเรียนเก็บมาแล้วจะนำไปจำหน่ายให้กับสหกรณ์ของโรงเรียน โดยโครงการอาหารกลางวัน จะซื้อจากสหกรณ์ เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร รายได้ก็นำเข้าระบบสหกรณ์ ส่วนรายได้จากการขายให้กับสหกรณ์ ก็จะนำไปเป็นต้นทุนในโครงการ “เดินตามรอยเท้าพ่อ” ให้นักเรียนได้ทำแปลงเกษตรต่อไป

การดูแลแปลงนอกเหนือจากการลงแปลงปกติของนักเรียนทุกระดับชั้น ในวิชาเรียนการงานพื้นฐานอาชีพ ครูภิรมย์ลักษณ์ บอกว่า จะจัดแบ่งหน้าที่การดูแลแปลงให้กับนักเรียนในกลุ่มยุวเกษตร ต้องรดน้ำเช้าและเย็น จัดเป็นตารางเวร ส่วนวันหยุดหรือเสาร์อาทิตย์ จะมอบหมายให้นักเรียนที่บ้านอยู่ใกล้โรงเรียนมาดูแล

เด็กชายจักรพรรดิ์ เรืองทิม หรือ น้องหยี อายุ 11 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กล่าวว่า รักต้นไม้ ชอบการปลูกต้นไม้ เพราะต้นไม้ให้ความร่มรื่นและให้ร่มเงา ให้ความสดชื่นและทำให้วิวสวย เคยนำต้นไม้ที่เพาะจากโรงเรียนไปปลูกที่บ้าน เช่น ดอกชวนชม กระบองเพชร เป็นต้น

ส่วน เด็กหญิงปาณิตา เทียนสมจิตร หรือ น้องแก้ม อายุ 10 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เล่าว่า การเรียนในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ และได้ลงแปลงเกษตรเป็นสิ่งที่ชอบ เมื่อมีวิชาเลือกให้เลือกในคาบเรียนพิเศษ จึงเลือกลงกลุ่มผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น และได้ลงมือทำหลายอย่าง เช่น การปักชำด้วยวิธีควบแน่น ที่ ครูอุไร เล็กกระโทก เป็นครูผู้สอน สอนให้ปักชำต้นไม้หลายชนิด ซึ่งตนเลือกปักชำต้นมะลิ เพราะอยู่ในช่วงวันแม่แห่งชาติที่ผ่านมา

โรงเรียนแห่งนี้ แม้จะมีนักเรียนไม่มาก แต่ก็เห็นคุณค่าของการทำเกษตรกรรม จึงจัดสรรแปลงผักไว้ต่างหาก ซึ่งที่ผ่านมาแปลงผักแห่งนี้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องของการซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารในโครงการอาหารกลางวันได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสภาพการเรียนการสอนในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ที่มีการเกษตรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยแล้ว เห็นว่า โรงเรียนแห่งนี้ยังต้องการแรงสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีในอีกหลายเรื่อง อย่างไรสามารถติดต่อได้ที่ โรงเรียนบ้านทุ่งน้อย ตำบลท่าตาล อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก