เด็กโรงเรียนวัดท่าอิฐ ทำเกษตรเพื่อปากท้อง เลี้ยงเด็กนักเรียนทั้งมื้อเช้าและกลางวัน

โรงเรียนขยายโอกาสที่จัดได้ว่าเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ไม่ใช่ของตนเอง ยังคงเหลืออยู่หลายแห่งในประเทศไทย โรงเรียนวัดท่าอิฐ ตำบลท่างาม อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ก็เป็นอีกโรงเรียนหนึ่ง ที่จัดอยู่ในรูปแบบนั้น

ดร. นุชนารถ ยิ้มจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดท่าอิฐ ให้ข้อมูลว่า โรงเรียนแห่งนี้ เสมือนโรงเรียนในอดีตที่รวมวัด บ้าน และโรงเรียนไว้ด้วยกัน เพราะโรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัด อยู่บริเวณวัด วัดแบ่งพื้นที่ให้โรงเรียนใช้สอย ประมาณ 2 ไร่เศษ ทั้งหมดเป็นที่ตั้งของอาคารเรียน 3 หลัง สนาม และพื้นที่ใช้สอยอื่น เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น มีนักเรียนทั้งหมด 140 คน ครูผู้สอน 14 คน

ดร. นุชนารถ ยิ้มจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดท่าอิฐ

“เพราะเด็กเราเยอะ และพื้นฐานของเด็กที่เรียนที่นี่ฐานะยากจน และกว่าครึ่งไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ มีเพียงปู่ย่าตายายเป็นผู้ปกครอง การดูแลเด็กต้องมีความละเอียดและเข้าถึงเด็กให้มากกว่าแค่การมาเรียนที่โรงเรียนแล้วกลับบ้าน”

ดร. นุชนารถ บอกด้วยว่า การมองเพียงแค่มาเรียนหนังสือแล้วนำวิชาการติดตัวกลับไปนั้น ยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเพิ่มวิชาชีพที่มองว่า อนาคตจะสามารถช่วยให้เด็กมีทักษะในการดำรงชีวิตประจำวันต่อไปได้ด้วยซึ่งที่มองเห็นใกล้ตัวมากที่สุดคือ การเกษตรเพราะโดยพื้นฐานของชุมชนที่นี่ทำการเกษตร แม้ว่าจะลดจำนวนการทำเกษตรของผู้คนในชุมชนลงไปมากแล้ว แต่วันหนึ่งเด็กนักเรียนต้องกลับมาใช้ชีวิตในภูมิลำเนาของตนเองก็จะได้อยู่ ใช้ชีวิตได้โดยไม่เป็นภาระของสังคม พื้นที่โรงเรียน 2 ไร่เศษก็จริง แต่ไม่ได้มีพื้นที่ไว้สำหรับการทำการเกษตรเลย

แม้ในวิชาเรียนการงานพื้นฐานอาชีพ ในระยะแรกก็ยังคงเรียนภายในห้องเรียน กระทั่ง เล็งเห็นพื้นที่ทิ้งขยะของวัด มีประโยชน์เพียงเป็นสถานที่ทิ้งขยะเท่านั้น จึงขออนุญาตวัดปรับพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่สำหรับทำแปลงเกษตร

“เรามีโครงการอาหารกลางวัน ที่รัฐบาลสนับสนุนค่าอาหารเด็ก 20 บาทต่อคน ในระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 แต่เรารู้ว่าเด็กของเรามีฐานะยากจน จึงอยากให้เด็กได้กินอิ่ม เพื่อการเรียนที่มีสมาธิ จึงมีอาหารให้เด็กครบทุกชั้นเรียน และยังเพิ่มอาหารมื้อเช้าให้กับเด็กนักเรียนทุกๆ คนอีกด้วย”

ครูประสิทธิ์ ฟักสุข

ครูประสิทธิ์ ฟักสุข ครูที่ให้ความสนใจเรื่องเกษตร นำความสนใจส่วนตัวที่มีอยู่ พยายามศึกษาเพิ่มเติม เพื่อนำมาสอนเด็กในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ซึ่งมีการเรียนการสอนการเกษตรรวมอยู่ในวิชาดังกล่าว ทั้งที่ตนเองไม่ได้จบมาทางด้านเกษตรโดยตรง และครูประสิทธิ์ ยังเป็นครูที่ดูแลแปลงเกษตรทั้งหมดและกลุ่มยุวเกษตรกรของโรงเรียนด้วย
ครูประสิทธิ์ บอกว่า การทำการเกษตรในโรงเรียนของเรามีพื้นที่ไม่มาก และดินไม่ได้อยู่ในสภาพดี จึงทำได้เพียงการปรับปรุงดินและขึ้นแปลงเป็นแปลงผัก ปลูกผักที่จำเป็นต้องใช้ในโรงครัว และเน้นผักที่เด็กชอบรับประทาน ขึ้นง่าย มีระยะรอบการผลิตสั้น เช่น พริก มะเขือ ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว และกะหล่ำปลี

กะหล่ำปลี เป็นพืชหัวที่พื้นที่ตำบลท่างามในอดีต มีเกษตรกรปลูกจำนวนมาก เด็กคุ้นเคยกับพืชชนิดนี้และชอบรับประทาน ทำให้กะหล่ำปลีเป็นพืชที่ถูกนำมาปลูกบนพื้นที่แปลงผักมากกว่าพืชชนิดอื่น
ครูประสิทธิ์ กล่าวว่า เพราะพื้นที่ไม่มาก จึงไม่ได้ทำการเกษตรในรูปแบบอื่น แต่ก็แบ่งพื้นที่สำหรับทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพไว้ด้วย เพราะทั้งสองชนิดนี้ ช่วยให้แปลงผักมีคุณภาพ และดินดี

 

การแบ่งการดูแลแปลงผักของโรงเรียน มีนักเรียนระดับมัธยมต้นเป็นผู้ดูแลหลัก ส่วนเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาและอนุบาล ให้ลงมือทำเฉพาะส่วนที่ทำได้ เพื่อเรียนรู้และก้าวไปสู่พี่มัธยมศึกษา ถึงจะเป็นผู้ดูแลหลัก

“ผมพยายามเน้นให้เด็กทำเองทุกๆ ขั้นตอน แต่ก็ดูว่า วัยของเด็กสามารถทำได้แค่ไหน ทุกระดับชั้นจะได้ลงมือทำไม่เหมือนกัน มัธยมศึกษา ถือว่าเป็นพี่คนโต ต้องทำทุกอย่างให้น้องเห็น เช่น การตอนกิ่ง ทาบกิ่ง ระบบการขยายพันธุ์ต้องเรียนรู้ทั้งหมด จับจอบ เสียม ขุดกลบ ต้องทำเป็น แต่ประถมศึกษาอาจจะงานเบาลง เช่น กำจัดวัชพืช ดูแลเรื่องโรคและแมลง เก็บผลผลิต ประมาณนี้”

ในทุกเช้า นักเรียนจะต้องลงแปลง เพื่อดูแลรดน้ำผัก ใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืช และเก็บผลผลิต ส่วนนี้ครูประสิทธิ์ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มและหน้าที่กันเอง มีเวรประจำวัน

ครูประสิทธิ์ เล่าว่า ก่อนหน้านี้นักเรียนไม่ค่อยให้ความสนใจ บ่นว่าร้อนและเหนื่อย แต่เมื่อผลผลิตออกมาให้เห็น เด็กนักเรียนได้ถือกลับบ้านไปฝากผู้ปกครองประกอบอาหาร และรับประทานผักที่ปลูกด้วยมือของตนเอง เด็กมีความภาคภูมิใจในผลงาน เด็กไม่บ่นว่าเหนื่อยหรือร้อนอีกเลย

เมื่อถามว่า ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากเพียงใด ในโครงการอาหารกลางวัน ครูสิริพร สุดตา ครูผู้ดูแลโครงการอาหารกลางวัน บอกว่า ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะโรงเรียนมีอาหารกลางวันให้เด็กทุกระดับชั้น มากเกินกว่างบประมาณที่ภาครัฐให้การสนับสนุนมา ทั้งยังมีอาหารเช้าให้กับเด็กทุกคนอีกด้วย แต่เป็นความโชคดีที่ชุมชนเข้าใจ บริจาคงบประมาณบางส่วนให้กับโรงเรียนไว้ซื้อเนื้อสัตว์ เครื่องปรุง และผักชนิดอื่นที่เด็กนักเรียนควรได้รับตามโภชนาการ นอกจากนี้ ข้าวสาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของโครงการอาหารกลางวัน ยังได้รับบริจาคมาจากวัดอัมพวัน ทำให้มีข้าวสารให้เด็กรับประทานได้ตลอดปี


เมื่อถามถึงความต้องการของโรงเรียนในภาคเกษตร ครูประสิทธิ์ เป็นตัวแทนครูเสนอความคิดเห็นว่า โรงเรียนตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีดินไม่อุดมสมบูรณ์ และอยากให้เด็กได้เรียนรู้นวัตกรรมการปลูกพืชไร้ดิน จึงเห็นว่าหากมีโรงเรือนสำหรับปลูกผักไร้ดินและปลูกแบบออร์แกนิกได้จะเป็นการดีต่อนักเรียน ส่วนการเลี้ยงสัตว์นั้น นอกจากพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยแล้ว ยังเกรงว่าจะมีกลิ่นกระทบกับชุมชนที่อยู่แวดล้อม จึงไม่ขอเพิ่มการเกษตรในมุมของการเลี้ยงสัตว์แต่อย่างใด

เด็กหญิงคิรากร กาญจนถิ่น

เด็กหญิงคิรากร กาญจนถิ่น หรือ น้องบิว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อายุ 14 ปี เล่าว่า ชอบการปลูกข้าวโพดมาก เพราะเป็นพืชที่มีความทนทานสูง ตายยาก และรับประทานอร่อย ชอบการเรียนรู้ที่ครูสอน ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในการดูแลพืชผักไปถ่ายทอดต่อให้ผู้ปกครองที่บ้าน

เด็กหญิงพรพิรุณ ศรีอุทิศ

ด้าน เด็กหญิงพรพิรุณ ศรีอุทิศ หรือ น้องมด อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที้ 3 บอกว่า พ่อและแม่ประกอบอาชีพรับจ้าง แต่พ่อเคยทำนา และพาไปดูการทำนาด้วย รู้ว่าการทำการเกษตรเหนื่อยและใช้ความอดทนสูง แต่ก็ชอบ เพราะได้ประโยชน์และความสุข

นางสาวอันวิตา มิตรนอก

ส่วน นางสาวอันวิตา มิตรนอก หรือ น้องอัน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อายุ 15 ปี กล่าวว่า ที่บ้านเคยทำนา แต่ปัจจุบันเหลือเพียงผักสวนครัว ซึ่งปลูกไว้รับประทานเองในครัวเรือน หรือเหลือก็นำไปขาย ชอบการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกผัก เพราะทำเป็นประจำ และสนใจการปลูกพืชไร้เคมี เพราะไม่ต้องการให้สารเคมีทำร้ายเรา

เด็กชายธวัชชัย พุฒสอน

สำหรับ เด็กชายธวัชชัย พุฒสอน หรือ น้องเหยินคิว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อายุ 14 ปี อธิบายว่า พ่อประกอบอาชีพกรรมกร แม่รับจ้างทั่วไป ไม่มีพื้นที่ทำการเกษตรเลย แต่ก็รักการทำการเกษตรจากที่โรงเรียนสอน ปัจจุบันได้นำเอาวิชาที่ครูสอนไปใช้ที่บ้าน โดยการปลูกผักขึ้นแปลงเล็กๆ ไว้รับประทานในครัวเรือน ไม่ต้องซื้อ ลดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก นอกจากนี้ยังสนใจการเลี้ยงไก่ไข่และไก่ชน ซึ่งหากมีท่านใดต้องการสนับสนุนหรือสอนก็ยินดี

โรงเรียนขยายโอกาสที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงหลัก ยังพบว่ามีปัญหาเรื่องพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเกษตรให้กับเยาวชน หากผู้ใหญ่ใจบุญที่ใด ต้องการส่งเสริมและสนับสนุน สามารถติดต่อได้ที่ ครูประสิทธิ์ ฟักสุข โทรศัพท์ 081-426-7961 ตลอดเวลา

 

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก  1 ก.พ. 2020