โรงเรียนบ้านซำรัง พิษณุโลก นำร่อง “ซำรังโมเดล” ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เพราะความไม่พร้อมของบุคลากร ผนวกกับความล้ำสมัยของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ทำให้โรงเรียนบ้านซำรัง หมู่ที่ 15 ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก เหลือพื้นที่จัดการภาคเกษตรไว้ไม่มากนัก เท่าที่สำรวจด้วยตาพบว่ามีเพียงแปลงผักเล็กๆ ด้านหลังโรงเรียน พื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่ แต่จากการพูดคุยกับ อาจารย์ภูริณ คำโท อาจารย์ที่ทำหน้าที่ดูแลแปลงเกษตรและเวลาเรียนในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพของเด็กนักเรียน เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบัน และมีพื้นที่ด้านนอกของโรงเรียนอีก 4-5 ไร่ ในอดีตพื้นที่ด้านนอกนี้เป็นแปลงนา สำหรับให้นักเรียนของโรงเรียนลงแปลงทำนา แต่ด้วยขาดอาจารย์ที่รับผิดชอบ ทำให้แปลงทำนาจำต้องยุติลง และปล่อยให้ชาวบ้านเช่าทำนาไปก่อน ส่วนพื้นที่ภายในโรงเรียนที่ใช้เป็นที่ตั้งขณะนี้ มีพื้นที่ด้านหลังโรงเรียนประมาณ 1 ไร่ ทำแปลงเกษตรเท่านั้น

คณะอาจารย์และบุคลากรจากกองทัพอากาศ ที่มาส่งเสริมโครงการ

อาจารย์ภูริณ บอกด้วยว่า พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ที่มีก็ทำได้แค่ปลูกผักสวนครัวและผักอายุสั้น เจริญเติบโตเร็ว เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนสำหรับเด็กเท่านั้น และไม่ได้จัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกร เพื่อมุ่งมั่นในอาชีพเกษตรกร เพราะประสบปัญหาที่ไม่เอื้ออำนวยให้ก่อตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรหลายประการ อาทิ ไม่มีบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทาง เทคโนโลยีสมัยใหม่รุกเข้ามาในโรงเรียนมากขึ้น รวมทั้งไม่ได้รับการส่งเสริมจากผู้ปกครองให้สนใจในภาคเกษตร ทำให้เด็กนักเรียนให้ความสนใจด้านอื่นมากกว่า

“นอกจากความสนใจของนักเรียนที่มีต่อการเกษตรค่อนข้างน้อยแล้ว แปลงเกษตรที่แบ่งพื้นที่ไว้ก็เป็นดินค่อนข้างเหนียว ทำการเกษตรได้ผลไม่ดีนัก แม้ว่าครูคนเดิมจะพยายามปรับวิธีการปลูกด้วยการก่ออิฐบล็อก แล้วนำดินที่เหมาะสมกับการปลูกผักสวนครัวมาใส่ไว้ แต่เพราะสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร และที่สำคัญเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัวที่ต้องการหาซื้อได้ยาก แม้ปัจจุบันจะกางซาแรนช่วยลดแสงแดดไว้และติดตั้งสปริงเกลอร์ในแปลงผักแล้วก็ตาม”

ด้วยเหตุนี้ กองทัพอากาศ โดย น.อ. ฐากูร นาครทรรพ ผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือน สำนักกิจการพลเรือนและประชาสัมพันธ์ กรมกิจการพลเรือน กองทัพอากาศ เห็นว่า กิจกรรมในภาคเกษตรที่ไม่ได้ผล ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนดำเนินกิจกรรมร่วมกับนักเรียนได้อย่างไม่ราบรื่น กองทัพอากาศต้องการให้นักเรียนเรียนหนังสืออย่างมีความสุข โดยมีความพร้อมทางด้านโภชนาการ ซึ่งเดิมโรงเรียนมีโครงการอาหารกลางวันอยู่แล้ว และเพื่อส่งเสริมโภชนาการให้ครบถ้วนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม การทำแปลงเกษตรภายในโรงเรียนจึงเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและเหมาะสมที่สุด จึงมีแนวคิดก่อตั้งโครงการ “ชีวิตที่ดีกว่า ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งน้อมนำแนวทางพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาดำเนินตาม โดยใช้กองทัพอากาศเป็นแกนหลักในการประสานงานร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย และ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในการวางโมเดล เริ่มต้นจากให้โรงเรียนเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเลือกโรงเรียนบ้านซำรัง เป็นโรงเรียนนำร่องแห่งแรก

น.อ. ฐากูร กล่าวอีกว่า โรงเรียนบ้านซำรัง จะเป็นโรงเรียนนำร่องแห่งแรกที่กองทัพอากาศและหน่วยงานพันธมิตรเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ซึ่งตั้งเป้าว่า เมื่ออาจารย์และนักเรียนมีความเข้มแข็ง โครงการที่ดำเนินอยู่จะช่วยสร้างรายได้จากแปลงผักให้กับนักเรียนได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ เมล็ดพันธุ์ที่เปรียบเสมือนเป็นตัวตั้งต้นของกิจกรรม ก็ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด บริจาคเมล็ดพันธุ์ผักบุ้งจีน ถั่วฝักยาว พริกหนุ่ม พริกขี้หนู ฟักทอง และผักอื่นๆ มากพอสำหรับการทำแปลงผักสวนครัวของโรงเรียน ซึ่งหากโครงการนำร่องดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะสามารถขยายผลของโครงการไปยังโรงเรียนในภูมิภาคอื่นอีก

“พื้นที่อำเภอเนินมะปราง เป็นพื้นที่ปลูกมะม่วงจำนวนมาก อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เห็นโอกาสจึงเข้ามาสอนการแปรรูปมะม่วงสุกที่ตกเกรดให้กับนักเรียน เพื่อเพิ่มรายได้ จากนั้นสอนทำการตลาดออนไลน์ ส่วนที่ขาดบุคลากรที่มีความรู้ในภาคเกษตร ก็จะขอความร่วมมือจากปราชญ์ชาวบ้านเป็นผู้ให้ความรู้กับนักเรียนและครู เพื่อให้กิจกรรมในภาคเกษตรเดินต่อไปข้างหน้าได้”

แม้ว่าโครงการ “ชีวิตที่ดีกว่า ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” จะเริ่มเข้ามานำร่องที่โรงเรียนบ้านซำรังแห่งนี้แล้วก็ตาม แต่สำหรับ อาจารย์อารุณ เกตุพุฒ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านซำรัง และ อาจารย์ภูริณ คำโท อาจารย์ผู้ดูแลด้านแปลงเกษตรให้กับนักเรียน ก็ยังเห็นว่า นักเรียนจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจในกิจกรรมการเกษตรทุกภาคส่วน ซึ่งหากได้รับความรู้และการถ่ายทอดจากผู้ชำนาญการหรือผู้เชี่ยวชาญ จะทำให้การบริหารจัดการการเกษตรของโรงเรียนดำเนินกิจกรรมได้อย่างราบรื่นและคืบหน้ามากกว่านี้ ฉะนั้น หากมีหน่วยงานใดยินดีส่งเสริมสนับสนุนถ่ายทอดความรู้ โรงเรียนก็ยินดีน้อมรับ เพื่อนำมาเผยแพร่ให้กับนักเรียน นำไปต่อยอดเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตและเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว สามารถติดต่อได้ทางโทรศัพท์ ที่อาจารย์อารุณ เกตุพุฒ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านซำรัง โทรศัพท์ (081) 379-6080 หรือ โรงเรียนบ้านซำรัง หมู่ที่ 15 ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก