สารสีน้ำเงิน จากสาหร่ายที่มากมายด้วยคุณค่า

คุณทราบไหมว่า ไม่เพียงแต่สารสีเขียวจากสาหร่าย หรือที่เรียกว่า “คลอโรฟิลล์” ที่เรารู้จักกันทั่วไปแล้วนั้น ยังมีสารสีอีกหลายชนิดที่สามารถพบได้เช่นกันในสาหร่ายและมีประโยชน์มากมาย ซึ่งที่รู้จักกันดีและอยู่ในกระแสขณะนี้ อย่างเช่น แอสต้าแซน-ทีน จากสาหร่ายสีแดง หรือแม้แต่ บีตา-แคโรทีน เป็นต้น

ยังมีสารสีอีกชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์มากมายไม่แพ้กัน แต่อาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นเคยและอยู่ในกระแสสักเท่าไร นั่นคือ “สารสีน้ำเงิน” ซึ่งเป็นหนึ่งในสารสีหลายชนิดที่สามารถพบได้ในสาหร่าย

อาจจะมีคำถามตามอีกว่า เจ้าสารสีน้ำเงินที่สามารถพบได้ในสาหร่ายคืออะไร

แท้จริงแล้วสารสีน้ำเงินจากสาหร่ายมีชื่อเรียกว่า “ไฟโคไซยานิน” (Phycocyanin) เป็นโปรตีนสีน้ำเงิน ละลายน้ำได้ อยู่ในกลุ่มไฟโคบิลิโปรตีน (Phycobiliprotein) ซึ่งสามารถดูดซับพลังงานแสงที่ช่วงความยาวคลื่นแสง 610-620 นาโนเมตร สารสีน้ำเงินหรือไฟโคไซยานินนี้ สามารถพบได้ในสาหร่ายกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไซยาโนแบคทีเรีย โดยเฉพาะสาหร่ายเกลียวทอง หรือแม้แต่สาหร่ายสีแดงจนกระทั่งสาหร่ายสีทอง โดยทั่วไปถ้าไฟโคไซยานินที่ได้จากสาหร่ายกลุ่มไซยาโนแบคทีเรีย มักนิยมเรียกว่า ซี-ไฟโคไซยานิน ส่วนไฟโคไซยานินที่พบในสาหร่ายสีแดงมักจะเรียกว่า อาร์-ไฟโคไซยานิน

สารสีน้ำเงิน หรือไฟโคไซยานินจากสาหร่าย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์มากมายหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมอาหารคน เช่น การนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหารชนิดต่างๆ ในแง่ของการเพิ่มสีสัน เช่น ไอศกรีมหมากฝรั่ง ลูกอม แม้กระทั่งเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น น้ำอัดลม ส่วนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์นิยมนำไปใช้เป็นส่วนผสมกับอาหารสัตว์น้ำชนิดต่างๆ เช่น ปลาและกุ้ง เป็นต้น เพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตให้กับสัตว์น้ำ เนื่องจากคุณสมบัติการเป็นโปรตีนของสารสีน้ำเงิน หรือไฟโคไซยานินนั่นเอง นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ในแง่ของการเป็นสารสีธรรมชาติที่ใช้แทนสีสังเคราะห์ ซึ่งนับว่ามีความปลอดภัยสูง เช่น การผลิตลิปสติก ดินสอเขียนขอบตา

ไม่เพียงแต่ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอางเท่านั้น ยังพบว่าในด้านการแพทย์สารดังกล่าวมีคุณสมบัติการมีความไวต่อการดูดกลืนแสง จึงสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องหมายติดฉลากฟลูออเรสเซนต์ โดยใช้เป็นสารตรวจติดตามเนื้องอกในการบำบัดรักษา ความสามารถในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ความสามารถเป็นสารต้านการอักเสบ สารปกป้องเซลล์ตับ เซลล์มะเร็ง และการอักเสบตามข้อต่างๆ ซึ่งสารสีน้ำเงิน หรือไฟโคไซยานินสามารถจำเพาะต่อการยับยั้งเอนไซม์ไซโคออกซีจีเนส-2 ซึ่งเป็นสาเหตุในการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบหรือเกิดมะเร็งนั่นเอง และจากการศึกษาในสัตว์ทดลองประเภทหนู ยังพบว่า สารสีน้ำเงิน หรือไฟโคไซยานินมีความสามารถในการต้านทานความเครียดที่มีสาเหตุมาจากโรคทางระบบประสาท เช่น อัลไซเมอร์ และพาร์กินสันด้วยเช่นกัน

 

ขอบคุณข้อมูลจากจดหมายข่าว วว. ฉบับ 11 พฤศจิกายน 2559 ปีที่ 19

ขอบคุณภาพจาก : www.xafhbio.com