กระบาก ไม่ต้องกลัวลำบาก ถ้าปลูกต้นกระบาก ฝากไว้ให้ลูกหลาน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Anisoptera costata Korth.

ชื่อวงศ์ DIPTEROCARPACEAE

ชื่อสามัญ mersawa

ชื่ออื่นๆ ตะบาก กระบากขาว กระบากช่อ กระบากดำ กระบากด้าง กระบากแดง กระบากโคก บาก หมีดังว่า ประดิก พนอง ชอวาตาผ่อ

“ปู่เทียด” ไม่รู้ว่าจะใช้สรรพนามแทนตัวเองว่าอะไรดี นะโหลนเหลนเอ๊ย

เพราะพบประวัติตัวเองที่เขาบันทึกไว้ว่า มี “ต้นกระบากใหญ่” อยู่ที่ “อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช” จังหวัดตาก ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย วัดโดยรอบ 16.6 เมตร สูง 50 เมตร ประมาณ 14 คนโอบ อายุปัจจุบันกว่า 700 ปี อย่างนี้แล้วถ้าลำดับญาติกัน “ปู่เทียด” ก็อยู่มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย ก่อนพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรไทย พ.ศ. 1826 ผ่านมา 737 ปี ตอนนั้น ยังไม่ได้บัญญัติศัพท์วงศาคณาญาติ ตอนนี้ปู่เปิด u-tube ดู เขาว่าญาติแก่สุด “ปู่ของทวด” เขาเรียก “เทียด” แต่ถ้าอ่านพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน มิถุนายน 2555 และฟังรายการวิทยุ “รู้รัก ภาษาไทย” มีคำว่า “ปู่ทวด” ซึ่งถ้านับลงจากเหลน ได้อีก 3 ชั้น มีเรียกลำดับลงคือ ลื่อ ลืบ และลืด แต่ไม่มีโหลน เพราะเป็นคำสร้อยจาก “เหลน” ดังนั้น ปู่ขอแทนตัวว่า “ปู่เทียด” ก็แล้วกันนะ “ลืดๆ” เอ๊ย..!

ปู่เทียด มีชื่อโด่งดังอยู่ที่จังหวัดตาก เพราะอยู่ใน “อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่” ซึ่งตั้งใน พ.ศ. 2524 ต่อมา พ.ศ. 2529 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ด้วยเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และมีเอกลักษณ์ทั้งทางภูมิประเทศ และประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีผู้รักธรรมชาติ รักการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยจำนวนมากเดินทางไปชมต้นกระบากใหญ่ แม้ว่าการเดินทางจะต้องเดินลงในหุบเขาชัน 400 เมตร ไปถึงพื้นล่างที่มีธารน้ำตกไหล ดูสะพานหิน สัตว์ป่ามากมาย อ้อ..! ถ้าจะไปเยี่ยมปู่แล้ว อย่าลืมเลยไปชม “น้ำตกปางอ้าน้อย” ด้วยนะ

สิ่งที่ปู่เทียด ถือเป็นเกียรติยศอีกอย่างคือ ได้เป็นพันธุ์ไม้พระราชทาน เพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดยโสธร เมืองแห่ง “บั้งไฟโก้” ข้าวหอมมะลิดัง ทั้งหมอนขวานผ้าขิด ศิลปะงามชื่อดัง และแตงโมหวาน ตามคำขวัญประจำจังหวัด จริงๆ แล้ว เรื่อง ชื่อปู่ไม่คิดว่าจะแปลกมากนักหรอก เพราะมีชื่อ “กระบาก” ทุกสี ทั้งขาว ดำ แดง แล้วยังมีเพื่อนชื่อ “กระบากทอง” อีก สำหรับชื่อที่ปู่ชอบเป็นส่วนตัว คือชื่อ “ประดิก และ พนอง” แต่ไม่ค่อยมีใครเรียก หรือรู้จัก แล้วยังนำชื่อกระบากไปล้อเล่น หยอกเด็กๆ ที่แต่งตัวเครื่องแบบลูกเสือว่า “ลูกเสือกระบาก” อีก ปู่เองก็ไม่ค่อยชอบใจเหมือนกัน

“ปู่เทียด” ในป่าธรรมชาติ ทั้งสูง ใหญ่ อายุยืน เขาจัดเป็นต้นไม้ใหญ่ กลุ่มไม้ผลัดใบ สูงได้กว่า 30 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกหนาสีน้ำตาล โคนต้นเป็นพูพอน บางครั้งแตกกว้างเป็นร่องตามยาว ใบเดี่ยว กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 5-16 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ผิวใบด้านล่างมีขน มีดอกขนาดเล็กรวมเป็นช่อตามปลายกิ่งและง่ามใบ บางครั้งออกดอกแยกแขนง กลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาวแกมเหลืองอ่อน ออกดอกเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ มีฝักมีผลกลม ผิวเรียบ เส้นผ่ากลางเพียง 1 เซนติเมตร แต่มีปีกยาว 2 ปีก บินปลิวเป็นเมล็ด บินกระจายพันธุ์ ปู่จึงขอตั้งสมญาเองว่า “ลูกไม้หล่นไกลต้น” เป็นพันธุ์ไม้ที่กระจายในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น ขึ้นได้ทุกภาค รวมทั้งพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ถึง 600 เมตร

กระบากต้นใหญ่สุดที่จังหวัดตากนี้ ถูกค้นพบโดยชาวเขาเผ่ามูเซอ เมื่อปี 2519 ก่อนประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติปัจจุบัน และอยู่ในกลุ่ม “รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี”

ตอนนี้ปู่ก็มีเหลนอีกต้น ที่จังหวัดกาญจนบุรี ในอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ แต่เรียกกันว่า “ต้นขมิ้นดำ หรือ กระบากใหญ่” ก็ได้รับการคัดเลือกตามโครงการ “รุกขมรดกของแผ่นดิน” เช่นกัน

ปู่รู้ดีว่า แม้ปู่จะเป็นไม้ใหญ่อายุยืน แต่ส่วนใหญ่เขาใช้ปู่เป็นไม้แบบก่อสร้างมากกว่าเป็นไม้สร้างตัวอาคารบ้านเรือน ตามร้านค้าเขาให้สมญาปู่ว่า “สุดยอดไม้แบบ” เพราะเป็นแผ่นไม้ไม่บิดงอ เป็นไม้ค้ำยันดี ตีตอกตะปูง่าย ใช้ซ้ำได้ดี แต่เนื้อไม้หยาบกัดคมเลื่อย เครื่องมือทื่อเร็ว จึงนิยมใช้เป็นไม้แบบเทหล่อคอนกรีต คาน ตง พื้น หรือทำเรือมาด พาย แจว เกวียน ตัวถังรถกระบะ และหีบศพ ที่เด็ดมากๆ คือ ชันยาง ใช้ผสมน้ำมันชักเงา ยาแนวไม้กันซึมได้เยี่ยม แต่ไม่พบรายงานวิชาการด้านสมุนไพร

ถ้าไม่สะดวกไปเยี่ยมปู่ที่อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ก็ลองไปเปิด u-tube ดูที่ “ร้อยป่า ร้อยเรื่อง หลากเรื่องเล่า” โดย “คนเล่าเรื่องผ่านกองไฟ” จะได้เหมือนไปเที่ยวป่าใหญ่ในหุบเขา รวมทั้งเขาเล่าเรื่อง “เจ้าธันวา” และกิ้งก่าเก่งพรางตา ธรรมชาติล้ำค่า “ต้นกระบากใหญ่” เพราะว่าเขาจะพาไป “กอดกะบากใหญ่ในหุบเขา” ฟังเรื่องเล่าเจ้าธันวาหมีควายผู้อาภัพ ด้วยภาพประกอบการผจญภัยที่ร่มรื่นสวยงาม แต่บ่นอยู่คำเดียว ที่กระบากต้นใหญ่ถ้าถ่ายความสูงเต็มต้นต้อง “คอตั้งบ่า” เท่านั้น แต่ก็ให้โคนกับยอดอยู่ในภาพเดียวกันไม่ได้สักที สูงใหญ่จริงจริ๊ง

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563