อีเห็น ยกระดับขึ้นฟาร์ม เป็นสัตว์เลี้ยงน่ารัก ขี้เล่น

ในแวดวงกาแฟ คงจะมักคุ้นกับคำว่า กาแฟขี้ชะมด แต่คงจะแปลก ถ้าได้ยินคำว่า กาแฟขี้อีเห็น ทั้งที่จริงแล้ว ชะมดและอีเห็น เป็นสัตว์ป่าตระกูลเดียวกัน

แต่ข้อสงสัยว่าทำไม เพราะเหตุใด ไม่ได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญมาให้คำตอบ เพราะประเด็นเนื้อหาของเรื่องไม่ได้พุ่งไปที่ส่วนนั้น แต่พุ่งเป้าไปที่จากสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เลี้ยงมากกว่า

ชะมดและอีเห็น ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง มีทั้งสิ้น 8 ชนิด และอีก 3 ชนิด ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งหมายความว่า 3 ชนิดนี้ สามารถนำมาเพาะเลี้ยงได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

แต่โดยธรรมชาติของสัตว์ป่า เมื่อถูกนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องศึกษาเรื่องพฤติกรรม การเลี้ยง การดูแลอย่างดี เพื่อให้เกิดการปรับตัว โดยเฉพาะเมื่อเป็นลูกที่เกิดระหว่างการเลี้ยง พฤติกรรมจะเปลี่ยนไปเป็นสัตว์เลี้ยงค่อนข้างง่าย

คุณเนติยะ ยอดเณร ผู้นำเข้าและเพาะเลี้ยงสัตว์จิ๋วรายแรกๆ ของไทย ก็มีอีเห็น 2 ใน 3 ชนิดที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง เพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงามอยู่ในฟาร์มมานานกว่า 10 ปีแล้ว

จุดเริ่มต้นก็เพียงแค่อยากมีสัตว์เลี้ยงที่แปลกแตกต่าง และเคยสัมผัสกับโครงการทำกาแฟขี้ชะมด เมื่อชะมดกับอีเห็นเป็นสัตว์ในตระกูลเดียวกัน การมองเห็นจุดเด่นในอีเห็นจึงจุดประกายขึ้นมาในมุมของสัตว์เลี้ยง และไม่มองภาพของการผลิตกาแฟ เพราะเชื่อว่าเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ ควรเป็นเมล็ดกาแฟที่ผลิตขึ้นจากภูมิภาคการปลูกที่เหมาะสมมากกว่า

“ดงประดู่ฟาร์ม” มีอีเห็นเพาะเลี้ยง แบ่งออกในรูปของสัตว์เลี้ยง 2 ชนิด คือ อีเห็นหน้าขาว หรืออีเห็นหูด่าง (Arctogalidia trivirgata) และอีเห็นเครือ หรืออีเห็นหน้านวล (Paguma larvata)

คุณเนติยะ บอกว่า ที่เลือกเพาะเลี้ยง 2 ชนิดนี้ เพราะอีเห็นข้างลาย หรืออีเห็นธรรมดา (Paradoxurus hermaphroditus) พบเห็นได้บ่อยกว่า 2 ชนิดที่มี ซึ่งอีเห็นเครือ เป็นที่นิยมของนักเลี้ยงสัตว์แปลก ส่วนอีเห็นหูด่าง เป็นความชอบส่วนตัว

อีเห็นเครือ หัวและลำตัวยาว 50-76 เซนติเมตร หางยาว 50-63 เซนติเมตร มีขนาดค่อนข้างใหญ่ รูปร่างเพรียว ลำตัวไม่มีลายสีเข้ม สีลำตัวมีตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม บางตัวหลังเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ หน้าเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงสีดำ ตัดกันอย่างชัดเจนกับแถบสีขาวที่คาดจากหน้าผากไปจมูก ขาและบริเวณกลางหางไปถึงปลายหางเป็นสีน้ำตาลเข้ม บางครั้งปลายหางมีสีจาง น้ำหนักเมื่อโตเต็มวัย 7-8 กิโลกรัม

ส่วนอีเห็นหูด่าง หัวและลำตัวยาว 43-53 เซนติเมตร หางยาว 51-66 เซนติเมตร รูปร่างเรียว ขนาดค่อนข้างใหญ่ ลำตัวสีเทาเข้มสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลแกมเทา สีข้างไม่มีลายจุด มีลักษณะเด่นตรงที่บริเวณหลังมีจุดสีดำเรียงต่อกันเป็นเส้นจำนวนสามแถว หางยาวมากและมีสีเหมือนสีลำตัว ตั้งแต่กลางหางถึงปลายหางเป็นสีน้ำตาลเข้ม ใบหน้าไม่มีแถบ ท้องเป็นสีออกเหลือง ซึ่งพบในพื้นที่เหนือภาคใต้ขึ้นมา มีจุดสีอ่อนบริเวณใบหูและมีสีขาวคาดจากจมูกไปถึงหน้าผาก น้ำหนักเมื่อโตเต็มวัย 2.5-3 กิโลกรัม

คุณเนติยะ เล่าว่า การผสมพันธุ์ในอีเห็น ตามธรรมชาติการเจริญเติบโตในป่า อาจจะผสมได้ปีละ 1-2 ครั้ง ตามรอบการเป็นสัด แต่เมื่อมาอยู่กับมนุษย์ในแบบของสัตว์เลี้ยง การดูแลจะอุดมสมบูรณ์ อีเห็นจะมีความเจริญเติบโตที่ดีและสมบูรณ์เต็มที่ ส่งผลให้รอบการเป็นสัด พร้อมผสมพันธุ์ เพิ่มรอบมากขึ้นเป็น 2-3 รอบ ต่อปี ซึ่งการให้ลูกแต่ละครั้ง อาจมากถึง 4 ตัว โดยเฉลี่ยราว 1-3 ตัว ต่อครอก

“ที่จริงแล้วนิสัยของอีเห็นคล้ายแมวมาก เขาเหมือนแมวผสมกับกระรอก เพราะปีนต้นไม้ได้ แต่ถ้าอยู่กับคนจะชอบเล่น เอาของเล่นที่ใช้เล่นกับสุนัขและแมวมาล่อ เขาก็จะเล่นซน กระโดดตะปบเหมือนกัน บางครั้งก็นอนกลิ้งไปมา แต่ตามธรรมชาติแล้ว อีเห็นจะออกหากินตอนกลางคืน และนอนตอนกลางวัน แต่เมื่อนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงร่วมบ้านเช่นเดียวกับสุนัขหรือแมว พฤติกรรมเหล่านี้จะเบาบางลง ซึ่งผมไม่ได้ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งหมด ปล่อยให้เป็นการปรับตัวตามธรรมชาติของสัตว์เองมากกว่า”

โดยปกติ อีเห็นจะออกหากินตอนกลางคืน และกินพืชหรือผลไม้ 70 เปอร์เซ็นต์ และกินเนื้อหรือโปรตีน 30 เปอร์เซ็นต์ การให้อาหารจึงควรให้พืชหรือผลไม้เป็นหลัก แต่ควรเสริมด้วยโปรตีนหรือเนื้อสัตว์ ตามสัดส่วนโภชนาการที่ควรได้ ซึ่งดงประดู่ฟาร์ม ให้ผลไม้เป็นอาหารหลัก โดยจะให้ในตอนเย็นของทุกวัน วันละครั้ง อีเห็นจะเริ่มกินตอนเย็นหรือกลางคืน ส่วนโปรตีนหรือเนื้อสัตว์จะให้ในรูปของอาหารแมวสำเร็จรูป เพราะมีโภชนาการที่เหมาะสมอยู่ในอาหารเม็ดสำเร็จรูปครบถ้วน หรือในบางครั้งจะต้มเนื้อไก่และไข่ต้มให้กินเป็นอาหารเสริม

หากต้องการผสมพันธุ์ก็ปล่อยให้ผสมตามธรรมชาติ หากสังเกตว่าเพศเมียเริ่มท้องใหญ่ ก็ควรแยกเพศผู้ออก ตามปกติการตั้งท้องของอีเห็นประมาณ 60 วัน ควรทำรังนอนให้มีลักษณะคล้ายธรรมชาติมากที่สุด โดยควรมีขนาดใหญ่กว่าลำตัวอีเห็น 50-60 เซนติเมตร ทำโพรงให้นอนคล้ายบ้านแมว มีช่องเข้าออก ไม่ควรหันช่องทางเข้าออกของโพรงนอนไปทางแสง เพราะอีเห็นชอบสถานที่ทึบ แสงสว่างน้อย หากจะนำเศษผ้าไปวางไว้ในโพรงนอนให้กับแม่พันธุ์ที่ตั้งท้อง เพื่อเตรียมรอคลอดก็ได้

หลังคลอด ยังคงปล่อยให้แม่อีเห็นเลี้ยงลูกเองตามลำพัง แต่ภายใน 1 สัปดาห์ ควรเข้าไปคลุกคลี ช่วยป้อนนมแมวหรือนมแพะให้กับลูกอีเห็น เพื่อให้ลูกอีเห็นคุ้นเคย แต่ไม่ควรเป็นนมวัว เพราะอาจทำให้ลูกอีเห็นท้องเสียได้ ลูกอีเห็นจะลืมตาประมาณ 1 สัปดาห์หลังคลอด จากนั้นค่อยๆ สอนให้กินอาหารเม็ด ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ เพื่อปรับตัว และเริ่มแบ่งให้กับผู้สนใจนำไปเลี้ยงหลังจากลูกอีเห็นมีอายุ 2 เดือนขึ้นไป

“ด้วยลักษณะนิสัยคล้ายแมว การเลี้ยง การเล่นก็เหมือนเล่นกับแมว ลูกค้าบางคนที่ขอแบ่งไปเลี้ยง เลี้ยงอยู่ในบ้าน ไม่ได้ทำกรงให้ เวลานอนก็พาไปนอนด้วย หรือพาไปเที่ยวนอกบ้านก็ใส่สายจูงรัดอก พาไปด้วยก็ได้ แต่กรณีที่พาออกไปสถานที่เปิดบ่อยครั้ง แนะนำว่าให้นำไปทำวัคซีนเช่นเดียวกับแมว เพื่อป้องกันโรคที่อาจติดต่อหรือติดเชื้อมาจากสัตว์ชนิดอื่นได้ นอกจากนี้ การทำวัคซีนที่แนะนำให้ทำทุกปีให้กับอีเห็นคือ วัคซีนพิษสุนัขบ้า”

คุณเนติยะ บอกด้วยว่า ในแต่ละปี ดงประดู่ฟาร์มได้ลูกอีเห็นจำนวนไม่มากนัก เพราะไม่ได้เน้นขายเชิงพาณิชย์ แต่เพราะต้องการให้เป็นสัตว์เลี้ยงที่มีกลุ่มเฉพาะรักและสนใจเท่านั้น หากต้องการแบ่งไปเลี้ยงก็ติดต่อมาได้ ซึ่งจะยินดีมาก หากผู้ที่สนใจขอโทรศัพท์มาขอคำแนะนำการเลี้ยง

สอบถามเพิ่มเติม คุณเนติยะ ยินดีและพร้อมต้อนรับ แต่ขอให้ติดต่อมาก่อนได้ที่ โทรศัพท์ (062) 936-5915 ดงประดู่ฟาร์ม ตั้งอยู่ที่ตำบลขนงพระ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา หรือติดต่อผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ดงประดู่ฟาร์ม ได้ตลอดเวลา

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564