อดีตวิศวกรโรงงาน ปลูกละมุด ที่เมืองลุง ผลผลิตไม่พอขาย ฟันรายได้หลักล้านต่อปี

ละมุดเกรดเอไซซ์จัมโบ้

เคยสังเกตกันไหมว่า หากพูดถึงเรื่องผลไม้หรือลองถามกับเพื่อนเล่นๆ ว่า เพื่อนชอบรับประทานผลไม้อะไร เชื่อว่าคำตอบที่หลายคนมักจะได้ยินกันบ่อยๆ ก็คงจะหนีไม่พ้น ทุเรียน เงาะ มังคุด แตงโม กล้วย และอื่นๆ แต่เคยสังเกตไหมว่า จะมีผลไม้อยู่ชนิดหนึ่งที่จะหาคนชอบรับประทานได้น้อยมาก นั่นก็คือ “ละมุด” แต่ก็ไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัดว่า จริงๆ แล้วที่คนส่วนใหญ่ไม่นิยมรับประทานเป็นเพราะรสชาติที่ไม่ถูกปาก หรือเป็นเพราะหารับประทานได้ยากกันแน่ ละมุดจึงถูกจัดอยู่ในหมวดผลไม้ที่ถูกลืม กลายเป็นผลไม้นอกกระแสไปโดยปริยาย แต่รู้หรือไม่ว่าผลไม้ที่หลายคนมองข้ามกลับกลายเป็นผลไม้ที่ช่วยเกษตรกรสร้างรายได้แบบเงียบๆ กว่าปีละเป็นล้านบาทกับพื้นที่การปลูกเพียง 11 ไร่ และที่สำคัญเจ้าของสวนผลิตไม่ทันขายด้วยซ้ำ

คุณสิทธิชัย ขวัญทอง อยู่บ้านเลขที่ 623/1 หมู่ที่ 1 ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง อดีตวิศวกรโรงงาน ผันชีวิตเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เข้ามาพัฒนาพื้นที่มรดกของครอบครัวด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ภายในสวน เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน จนสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวให้อยู่อย่างสุขสบายได้จนถึงทุกวันนี้

คุณสิทธิชัย ขวัญทอง

คุณสิทธิชัย เล่าถึงจุดเริ่มต้นในอาชีพการเป็นเกษตรกรว่า อดีตเคยทำงานเป็นวิศวกรด้านอิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่โรงงานแห่งหนึ่งนานกว่า 10 ปี หลังจากนั้นได้ลาออกจากงาน เนื่องจากต้องมาสานต่อธุรกิจของที่บ้าน นั้นคือ การทำสวนผลไม้ โดยคุณพ่อมีพื้นที่ 2 แปลง แบ่งปลูกมะม่วงมันศาลายาไว้ 1 แปลง อีกหนึ่งแปลงเป็นละมุด ตนได้เข้ามาดูแลในส่วนของแปลงละมุดที่คุณพ่อปลูกไว้เมื่อ 16 ปีก่อน ซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 จำนวน 11 ไร่ ใช้เวลาสะสมประสบการณ์กว่า 5 ปี ในการศึกษาการปลูกการดูแลละมุดจนเกิดความชำนาญ จึงตัดสินใจขยายแปลงปลูกละมุดเพิ่มอีก 11 ไร่ รวมทั้งหมดเป็น 22 ไร่ กลายเป็นสวนละมุดที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดพัทลุง และในอนาคตมีการวางแผนขยายพื้นที่ปลูกให้ครบ 50 ไร่ เนื่องจากละมุดเป็นผลไม้ที่อยู่นอกกระแสแต่ราคาดีไม่มีตก ต่างจากผลไม้ทั่วไปที่ราคาผันผวนสูง และอีกส่วนคือการใช้ประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่กับละมุดมาตลอด 9 ปี มองตลาดแล้วว่าละมุดยังไปได้อีกไกล สังเกตจากสถานการณ์ของสวนตอนนี้ผลิตเท่าไรก็ยังไม่พอขาย เพราะยังมีคนปลูกน้อย จึงกลายเป็นโอกาสเป็นช่องทางสร้างรายได้อีกมาก แต่ยังติดปัญหาเรื่องแรงงาน จึงต้องชะลอไว้ก่อน

 

“ละมุดกระสวยมาเลย์” ดก ใหญ่ หวาน กรอบ
ผลไม้ม้ามืดทำเงินหลักล้านต่อปี

เจ้าของบอกว่า โดยทั่วไปละมุดสายพันธุ์หลักๆ ที่นิยมปลูกในประเทศไทยจะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์มะกอก และกระสวยมาเลย์ ซึ่งที่สวนจะเลือกปลูกเป็นพันธุ์กระสวยมาเลย์ทั้งหมด ด้วยจุดเด่นของพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดก รูปร่างผลยาวรี เนื้อแน่น เนียนกรอบ หวานเข้ม และเป็นพันธุ์ที่ปลูกได้ดีในพื้นที่รับน้ำอย่างภาคใต้ เรียกว่าทนฝน ทนแล้ง ต่างจากพันธุ์มะกอก ถ้าปลูกในพื้นที่รับน้ำจะไม่ค่อยเห็นผล เมื่อเวลาติดผลแล้วลูกจะร่วงเยอะ

ละมุดกระสวยมาเลย์ลูกใหญ่ ดกเต็มต้น

ส่วนขั้นตอนการปลูกและดูแลนั้น ตนได้เข้ามาจัดการสวนให้เป็นระบบมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการจัดการแปลงปลูก ดูทิศทางของแสง รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ภายในสวน ปรับเปลี่ยนการปลูกให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน ด้วยลักษณะที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมทุกปี จึงต้องใช้วิธีการปลูกแบบยกร่องสวน

การเตรียมดิน ต้องยกความดีความชอบให้กับดินที่นี่ ที่เป็นดินเหนียว เพราะละมุดชอบดินเหนียว แต่จริงๆ แล้วสามารถปลูกขึ้นและมีผลได้ทุกดิน เพียงแต่ว่าด้านรสชาติที่เยี่ยมที่สุดก็ต้องเป็นดินเหนียว

การปลูก ขุดหลุมกว้างและลึกเท่าขนาดปีบครึ่งใบ จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกแล้วเคล้าผสมดินให้เข้ากัน จากนั้นลงมือปลูกด้วยกิ่งตอน ในช่วงเริ่มต้นการปลูกนั้นจำเป็นต้องหาไม้มาประคองต้นไว้ เพราะจุดอ่อนของละมุดคือไม่มีรากแก้ว ดังนั้น เมื่อเกิดลมพายุต้นจะล้มได้ง่าย จึงจำเป็นต้องใช้ไม้ประคองให้รากยึดติดดิน ประคองจนต้นอายุได้ 2 ปี เนื่องจากปัญหาของที่สวนคือ น้ำมาแล้วดินจะนิ่ม และ 3 ปี ถึงจะปลอดภัยตอนน้ำท่วม

ยกร่องสวน

ระยะห่างระหว่างต้น โดยทั่วไปสวนละมุดส่วนใหญ่จะปลูกกันในระยะ 4-6 เมตร แต่ที่สวนใช้ประสบการณ์คำนวณระยะการปลูกเป็นของตัวเอง เป็น 7×7 เมตร เพราะในระยะ 7×7 เมตร นี้มีข้อดีหลายข้อด้วยกัน

  1. ที่สวนจะให้ความสำคัญกับแสง เพราะแสงจะช่วยให้พืชปรุงอาหารได้เต็มที่ ส่งผลทำให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น
  2. ปัญหาเรื่องโรคแมลงลดลง เพราะถ้าปลูกระยะใกล้เกินไป ใบหนาแน่นเกินไป โรคแมลงจะเยอะ และความชื้นของดินก็มีผลกับเชื้อรา ถ้าต้นโปร่งแดดส่องถึงปัญหาเชื้อราก็จะน้อยลง
  3. เพื่อสะดวกในการใช้เครื่องจักร เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในการเก็บผลผลิต ต้องใช้เรือค่อยๆ เก็บ แต่ในปัจจุบันที่สวนมีการพัฒนาใช้รถเก็บผลผลิตของญี่ปุ่น สามารถวิ่งเก็บได้รอบต้น จึงยอมเสียจำนวนต้นที่ปลูกได้น้อยลง แต่ได้แดด และการจัดการที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น

ระบบน้ำ ละมุดถือเป็นพืชทนแล้ง และทนน้ำท่วม การให้น้ำ 3-4 วันครั้ง และจะให้แค่เฉพาะช่วงหน้าแล้ง 3-4 เดือน ต่อปี ตอนที่ติดลูกเยอะๆ เป็นระบบน้ำสปริงเกลอร์ โดยใช้เครื่องวัดความชื้นเข้ามาช่วยในการให้น้ำ หรืออาจจะใช้วิธีการสังเกตจากใบ ผล และน้ำหนักของกิ่ง ใบ ถ้าแห้งก็เปิดน้ำรดแค่เพียงเท่านี้

ปุ๋ย ที่สวนจะค่อนข้างทันสมัย มีการพ่นปุ๋ยด้วยรถแอร์บัส ส่วนปุ๋ยที่ใส่นั้นเป็นปุ๋ยหมักเองตามสูตร คือ ปุ๋ย 1 ตัน ต่อไร่ ต่อปี หรือถ้าปีไหนทำปุ๋ยเองไม่ทัน จะใช้ปุ๋ยคอกที่ซื้อมา ในอัตราการใส่ที่เท่ากัน คือ 1 ตัน ต่อไร่ ต่อปี และเสริมด้วยปุ๋ยเคมีทุก 2 เดือน เพราะละมุดมีผลติดต้นตลอดปี และช่วงเก็บเกี่ยวคือ จะได้ผลผลิตละมุด 8 เดือน ต่อปี การให้ปุ๋ยจึงต้องต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ละมุดจะติดผลในปีที่ 4 แต่โดยทั่วไปจะออกผลตั้งแต่อายุ 3 ปี แต่ในช่วง 3 ปีแรกที่สวนจะเดินตัดดอกตัดลูกทิ้งให้เลี้ยงลำต้นอย่างเดียว แล้วจึงค่อยปล่อยให้ติดลูกปีที่ 4 ส่วนฤดูกาลของละมุดนั้น เริ่มออกตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกรกฎาคมของอีกปี เท่ากับมีผลผลิตให้เก็บยาวนานถึง 8 เดือน

การเก็บผลผลิต บางรอบสามารถเก็บผลผลิตติดต่อกันได้ทุกวัน โดยการเก็บแต่ละครั้งจะดูความแก่ของผลเป็นหลัก ถ้าผลยังแก่ไม่จัดก็ต้องหยุดเก็บสัก 1-2 สัปดาห์ แล้วแต่จังหวะ ผลไม้ถ้าแก่ไม่จัดความหวานจะไม่ได้

การเก็บละมุดต้องสังเกตที่ผิว ถ้าลูบผิวแล้วเห็นเป็นสีเหลืองทองคือเก็บได้ แต่ถ้าลูบผิวแล้วยังเป็นสีเขียวแสดงว่ายังไม่แก่ เก็บยังไม่ได้ ไม่ใช่เพียงแค่ว่าลูกใหญ่แล้วเก็บได้ แต่ให้สังเกตที่สีผิวเป็นหลัก หลังจากนั้นเมื่อเก็บผลผลิตที่ได้คุณภาพมาแล้ว จะนำไปสู่ขั้นตอนการล้าง โดยใช้เครื่องล้างอัตโนมัติ จากนั้นนำไปเข้าเครื่องคัดไซซ์ เมื่อได้ไซซ์ต่างๆ ที่ต้องการแล้ว นำไปผึ่งลมให้แห้ง แล้วใช้คนที่มีความชำนาญตรวจผลผลิตอีกครั้งว่ามีตำหนิ หรือมีลูกที่ไม่แก่จัดหลงอยู่บ้างไหม ถ้ามีก็คัดออก แล้วนำผลผลิตที่ได้คุณภาพไปบ่มไว้ 2 คืน เพื่อให้ละมุดสุกสม่ำเสมอเท่ากันทุกลูก

ปริมาณผลผลิต 11 ไร่ เก็บได้ประมาณ 30-40 ตัน ต่อฤดูกาล ถือว่าผลผลิตดก น้ำหนักดี มีตั้งแต่ไซซ์จัมโบ้ขนาด 8 ลูก 1 กิโลกรัม ที่สวนสามารถผลิตได้ประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตทั้งหมด ราคาขายอยู่ที่ 120-140 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนไซซ์รองลงมาราคาก็จะลดหลั่นไปเรื่อยๆ แต่จะไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 50 บาท ถือเป็นผลไม้ที่ราคาดีมากๆ และที่สำคัญราคาไม่ดีไม่ตกเหมือนผลไม้ชนิดอื่น คิดเป็นรายได้ต่อปี ละมุด 11 ไร่ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณหลักล้านบาท ส่วนอีก 11 แปลง ที่ปลูกเพิ่มกำลังจะเริ่มให้ผลผลิตในปีหน้า

ปัญหาและอุปสรรค นอกจากช่วง 2 ปีแรก ที่ต้องระวังไม่ให้ต้นล้มแล้ว ยังต้องระวังหนอนเจาะลำต้นอีกด้วย ในช่วง 3 ปีแรก คือช่วงที่ต้องหมั่นเฝ้าระวัง เพราะถ้าหนอนเจาะลำต้นได้ไปถึงราก จะทำให้ยืนต้นตาย นี่คือปัญหา วิธีแก้สำหรับมือใหม่คือ ต้องทำให้โคนต้นโล่ง พยายามเดินยามบ่อยๆ 3-4 วัน เดินครั้ง ให้สังเกตว่าถ้ามีหนอนเจาะลำต้น จะมีลักษณะเหมือนขี้เลื่อยตามกิ่ง ตามโคนต้น ถ้าเป็นแบบนี้ต้องหาตัวให้เจอ ถ้าไม่เจอแนะนำให้ใช้ไบกอนฉีดเข้าไปในรู แล้วใช้ดินเหนียวอุดทิ้งไว้ 2-3 วัน แล้วกลับมาดูว่าจะเกิดใหม่อีกไหม ถ้ายังเจอขี้เลื่อยอยู่แสดงว่าตัวยังไม่ตาย ให้พยายามหาให้เจอ แต่ถ้าเป็นที่สวนทำประจำจนเกิดความชำนาญแล้ว จะสามารถรู้ระยะในการปล่อยขี้เลื่อย และจะรู้ได้เลยว่าตัวอยู่ตรงไหน ก็สามารถใช้มีดกรีดที่ลำต้นแล้วเจอตัวได้โดยที่ไม่ต้องแกะเปลือกลำต้นเยอะ

รถแอร์บัสพ่นปุ๋ย

แนวคิดการตลาดแบบคนรุ่นใหม่
ผู้ผลิตต้องสามารถกำหนดราคาเองได้

คุณสิทธิชัย เผยแนวคิดการทำตลาดของตนเองว่า ก่อนหน้าที่จะออกจากงานประจำ ตนและภรรยามีการวางแผนการตลาดกันก่อนแล้วว่า จะให้ภรรยาลาออกจากงานมาทำการตลาดก่อน โดยเริ่มแรกลงมือทำการตลาดใหม่ๆ ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนราคาเดิมที่ทางบ้านตั้งไว้ เพราะมั่นใจในคุณภาพของผลผลิตว่าน่าจะขายได้แพงกว่านี้ จากที่เคยโดนพ่อค้าคนกลางกดราคาให้เหลือเพียงกิโลกรัมละยี่สิบกว่าบาท ก็แก้ด้วยวิธีขายเอง แบ่งทีมกับภรรยาแยกตลาดกันขาย แล้วเริ่มทำราคา เริ่มมีคนรู้จักละมุดของสวนมากขึ้น จนแม่ค้าที่เคยติดต่อไว้เริ่มกลับมา ซึ่งก็ตอบกับแม่ค้าไปตรงๆ ว่า ตอนนี้ราคาละมุดของสวนเราแพงนะ แต่แม่ค้าก็ยอมสู้จนได้ราคาที่เราพอใจ และเมื่อราคาที่สวนรับได้แล้ว ก็หยุดเรื่องการตลาด แล้วยกให้แม่ค้าแต่ละคนไปทำการตลาดกันเอง ซึ่งวิธีการนี้จะเห็นได้ว่าถ้าเราได้ใช้ความพยายามและความตั้งใจ บวกกับผลผลิตที่มีคุณภาพ เกษตรกรจะสามารถกำหนดราคาสินค้าได้เองเพราะของเราดี และให้คิดเสมอว่าสินค้าเรา เราต้องควบคุมได้เอง ไม่ใช่ให้พ่อค้าแม่ค้าคนกลางเป็นคนควบคุม จนถึงปัจจุบันนี้ทุกอย่างอยู่ในแนวทางที่ตั้งใจไว้ คือเป็นธุรกิจเงินสดทั้งหมด และไม่มีการส่งสินค้า แม่ค้าต้องมารับเองที่สวน

ฝากถึงลูกหลานเกษตรกร
ที่ต้องกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว

“อยากจะแนะนำสำหรับลูกหลานเกษตรกรที่ต้องกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัวว่า ให้พยายามตั้งใจทำและนำความรู้ของคนรุ่นใหม่มาพัฒนามรดกของบรรพบุรุษให้เจริญยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง ผมเมื่อก่อนที่สวนจะฉีดพ่นปุ๋ยทีนึงต้องใช้คนงานประมาณ 4-5 คน ในการฉีดพ่น แต่พอผมมาทำตอนนี้ ผมทำงานคนเดียว เพราะมีการศึกษาการเกษตรของญี่ปุ่น มีการนำรถพ่นปุ๋ยแอร์บัสเข้ามาใช้ในสวน และในส่วนของขั้นตอนการล้างผลผลิตได้เห็นแล้วว่า ปริมาณละมุดต่อวันมีประมาณหลาย 100 กิโลกรัม ถ้าใช้แรงงานคนล้างอย่างเดียวจะกินเวลามาก ผมก็ได้เริ่มศึกษาจากหลายๆ ที่ว่าเขาทำกันยังไง แล้วนำมาดัดแปลงในแบบที่เราทำได้ เพราะเรามาสายนี้อยู่แล้ว มีการเก็บสะสมอุปกรณ์มาเรื่อยๆ แล้วก็เขียนแบบให้น้องๆ ในแผนกช่วยทำขึ้นมา กลายเป็นเครื่องล้างอัตโนมัติ ตั้งเวลาได้ เติมน้ำ ถ่ายน้ำเองได้ และในส่วนของการคัดไซซ์ในสมัยรุ่นพ่อต้องใช้เวลาตรงนี้นาน จึงมีการคิดแบบ หาความรู้จากยูทูบมาปรับเปลี่ยนทำเครื่องมือคัดแยก ประหยัดเวลา ประหยัดต้นทุน เพราะฉะนั้นจึงอยากแนะนำให้คนรุ่นใหม่กลับมาพัฒนาที่ทางของตัวเอง แล้วจะรู้ว่าความสุขวนอยู่รอบตัวเรา” คุณสิทธิชัย กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทร. 081-583-5486 หรือทางช่องทางเฟซบุ๊ก : สวนขวัญทอง

โลโก้สวนขวัญทอง
เครื่องคัดไซซ์
ใช้รถเก็บสะดวกรวดเร็ว