เล็บนก – เฉี้ยง “2 ข้าวพันธุ์” พัทลุง ยิ่งใหญ่

ข้าวเล็บนก เป็นข้าวที่ได้จากการรวบรวมพันธุ์ 307 พันธุ์ จาก 104 อำเภอใน 14 จังหวัดภาคใต้ ในปี 2527 โดยพันธุ์เล็บนกที่เก็บมาจากตำบลชะรัด อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง มีคุณสุชาติ อ่อนเรือง เป็นผู้เก็บรวบรวมไว้ โดยคุณละม้าย เศรษฐสุข เป็นเจ้าของนา และได้ดำเนินการพัฒนาพันธุ์โดยสถานีทดลองข้าวปัตตานี และศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง จนเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมาจนถึงขณะนี้

ข้าวพันธุ์เล็บนก

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ระบุว่า ข้าวพันธุ์เล็บนก (PTNC 84210 ) ที่ชาวนานิยมปลูกกันมาก มีมากที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 146,856 ไร่ คิดร้อยละ 15 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดของจังหวัด รองลงมาคือจังหวัดพัทลุง มีพื้นที่ปลูกประมาณ 207,536 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 45 ของพื้นที่ปลูกทั้งจังหวัด รองลงมาอีกจังหวัด คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ปลูกประมาณ 30,672 ไร่ คิดเป็นร้อยละ  8 ของพื้นที่  นอกจากนี้ยังพบว่ามีการปลูกในจังหวัดกระบี่ จำนวน 3,567 ไร่ และสตูล จำนวน 192 ไร่

โดยสรุปแล้วรวมพื้นที่ปลูกข้าวเล็บนกในภาคใต้  มีประมาณ 388,031 ไร่ เท่ากับร้อยละ 13 ในพื้นที่ปลุกข้าวภาคใต้ทั้งหมดที่มีอยู่จำนวนกว่า 2.9 กว่าล้านไร่ (ข้อมูลเมื่อปีพ.ศ.2561)

ข้าวพันธุ์เล็บนก

ข้าวพันธุ์เล็บนกมีผลผลิตเฉลี่ย 476 กก. /ไร่  ส่วนราคาที่โรงสีท้องถิ่นรับซื้อกัน ราคาอยู่ที่ระหว่าง 9,500 –10,000 บาท โดยกลุ่มโรงสีรับไม่จำกัดจำนวน และจะรับซื้อสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ หลังจากนำมาสีขายเป็นข้าวสารขายในพื้นที่แล้ว บางส่วนจะนำไปขายให้กับตลาดต่างจังหวัดด้วย เพราะเป็นข้าวที่มีคุณภาพ เมื่อหุงเป็นข้าวสุกจะอ่อน นุ่มนวล เป็นที่นิยมของผู้บริโภคและตลาดมีความต้องการมาก

ข้าวเล็บนกเป็นข้าวมีรสชาติ และมีคุณภาพการหุงต้มเป็นที่นิยมของผู้บริโภค เป็นพันธุ์ข้าวที่ผลิตเป็นการภายในท้องถิ่นภาคใต้ โดยเป็นการเพิ่มรายได้ที่ดีของเกษตรกร โดยในจังหวัดพัทลุงปลุกทั้ง 11 อำเภอ แต่ที่ปลูกมากคือ อำเภอกงหรา มีพื้นที่ปลูกมากถึง 11 หมู่บ้าน

ข้าวพันธุ์เล็บนก

ลักษณะประจำพันธุ์ของข้าวพันธุ์เล็บนก เป็นข้าวเจ้า ประเภทไวต่อแสง มีอายุการเก็บเกี่ยวในเดือนกุมภาพันธ์ รวงยาวจับกันแน่น ระแง้ถี่ คอรวงยาว และความสูงประมาณ 170 เซนติเมตร ข้าวพันธุ์เล็บนกให้ผลผลิตค่อนข้างสูง เมื่อปลูกในสภาพนาเป็นลุ่มน้ำที่แห้งช้า ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมของภาคใต้ตอนกลาง บริเวณพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง

สำหรับข้อจำกัดของพันธุ์ข้าวที่ต้องระมัดระวัง คือไม่ต้านทานต่อโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง เช่นเดียวกับพันธุ์นางพญา 132 และไม่ควรปลูกในพื้นที่ที่เป็นนาดอน เนื่องจากเป็นข้าวหนัก

อีกพันธุ์ข้าวที่ขึ้นชื่อลือชาของภาคใต้ คือ ข้าวพันธุ์เฉี้ยงพัทลุง เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และเป็นที่ต้องการของตลาดกับโรงสีมาก โดยเฉพาะในอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา นับตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา ปัจจุบันข้าวพันธุ์เฉี้ยง เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรและผู้บริโภค เช่น จังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล และนราธิวาส

ข้าวเฉี้ยงเป็นพันธุ์หนึ่งที่มีความสามารถในการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมได้ดี และปลูกได้ในหลายท้องที่ทุกจังหวัดในภาคใต้ อายุในการเก็บเกี่ยวปานกลาง ปลูกได้ในพื้นที่ที่มีชลประทาน และที่อาศัยน้ำฝน

ข้าวพันธุ์เฉี้ยง

ข้าวพันธุ์เฉี้ยง ปลูกมากที่สุดในพื้นที่จังหวัดพัทลุง และสงขลา โดยพัทลุงมีพื้นที่ปลูก จำนวน 94,707 ไร่ และสงขลาปลูกจำนวน 54,591 ไร่  ส่วนราคาข้าวนั้นทางโรงสีจะรับซื้อในราคาสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ อยู่ประมาณ 10  เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูลเมื่อปีพ.ศ.2561)

ความเป็นมาของข้าวพันธุ์เฉี้ยงมีประวัติว่า นายเฉี้ยง ทองเรือง อายุ 70 ปี ซึ่งเป็นเกษตรกรอำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง แต่เดิมนั้นมีนายเฉี้ยงมีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา นายเฉี้ยงได้ขอข้าวพันธุ์นี้จากเพื่อนบ้านชาวมุสลิมที่บ้านบางม่วง ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง และนำไปปลูกที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2517 เพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วงปลายฤดูในขณะนั้น

ข้าวพันธุ์เฉี้ยง

เดิมมีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกัน เช่น ขาวกาหวินเปอร์วิต ขาวมาเล บางแก้ว เป็นต้น กระทั่งในที่สุดเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกแพร่หลายในเวลาต่อมามาก พร้อมทั้งเรียกชื่อข้าวพันธุ์นี้ว่า เฉี้ยง ตามชื่อผู้นำมาปลูกเป็นคนแรก

ในการรับรองพันธุ์นั้น คณะกรรมการวิจัยและพัฒนากรมวิชาการเกษตร ได้มีมติให้เป็น พันธุ์แนะนำเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2537 โดยให้ชื่อว่า เฉี้ยงพัทลุง

ข้าวพันธุ์เฉี้ยง

ลักษณะประจำพันธุ์  เป็นข้าวเจ้านาสวน  มีส่วนสูงประมาณ 150 เซนติเมตร ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ เดือนมกราคม  มีใบสีเขียว  ใบธงแผ่เป็นแนวนอน คอรวงยาว รวงยาวปานกลาง ระแง้ค่อนข้างถี่ เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง  โดยมีระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 1 สัปดาห์ ให้ผลผลิตประมาณ  470   กิโลกรัม ต่อไร่ ส่วนเมล็ดข้าวกล้อง กว้าง  x ยาว x หนา = 2.1x 6.7 x 1.6 มิลลิเมตร มีท้องไข่ปานกลาง ปริมาณอมิโลส  27 เปอร์เซ็นต์

ลักษณะเด่นของข้าวพันธุ์เฉี้ยงนั้นมีอายุเบา โดยจะให้ผลผลิตค่อนข้างสูง และสม่ำเสมอ  อีกทั้งยังสามารถปรับตัวได้ดีทั้งในพื้นที่ที่เป็นนาดอน และนาลุ่ม มีความเหมาะสมกับพื้นที่ทุกจังหวัดในภาคใต้ทั้งที่เป็นน้ำชลประทาน และน้ำฝน มีการปลูกกันมากในจังหวัดพัทลุง และนครศรีธรรมราช

คุณภาพการสีดี และคุณภาพการหุงต้มดีทั้งข้าวเก่า และข้าวใหม่ ข้าวใหม่สามารถสีบริโภคได้ทันที สำหรับคุณภาพข้าวสุกแล้ว  ร่วนแข็ง และหอม แต่สิ่งสำคัญมีข้อควรระวัง  คือไม่ต้านทานต่อโรคไหม้ และค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง

ทั้งข้าวพันธุ์เล็บนก และข้าวพันธุ์เฉี้ยงเป็นที่ต้องการตลาดเป็นอย่างมาก เกษตรกรเองก็ได้ราคาดีจากพันธุ์ข้าวทั้ง 2 พันธุ์ด้วย

ราคาข้าวพันธุ์เล็บนก ประมาณ 11,000 บาท/ตัน ข้าวพันธุ์เฉี้ยง 8,000 บาท/ตัน ส่วนราคาปลีกข้าวสารพันธุ์เล็บนก 30–35 บาท/กก. ส่วนข้าวพันธุ์เฉี้ยง ราคา 28–30 บาท/กก.

พัทลุงพันธุ์มีข้าว 3 พันธุ์ สังข์หยด เล็บนก และพันธุ์เฉี้ยง ข้าวพันธุ์เหล่านี้สร้างชื่อเสียง  หากสนใจข้าวพันธุ์เล็บนก หรือข้าวพันธุ์เฉี้ยง ติดต่อศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง จังหวัดพัทลุง