มะละกอพันธุ์ขอนแก่น 80 ต้านทานโรคไวรัสจุดวงแหวนได้ดี

มะละกอพันธุ์ขอนแก่น 80 ชื่อนี้มีที่มาคือ เลข “80” นั้น เป็นการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่มีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา และ “ขอนแก่น” เพื่อบอกที่มาของแหล่งปรับปรุงพันธุ์

มะละกอพันธุ์ขอนแก่น 80 เป็นลูกผสมระหว่าง มะละกอพันธุ์ฟลอริด้า โทเลอแรนต์ กับ พันธุ์แขกดำ มีลักษณะประจำพันธุ์คือ ดอกเริ่มบาน เมื่ออายุ 74 วัน หลังปลูก ลำต้นสูง 132 เซนติเมตร เมื่ออายุครบ 7 เดือน ผลมีรูปทรงยาวรี ส่วนก้นป่องออกมามากกว่าส่วนหัว น้ำหนักเฉลี่ย ประมาณ 700 กรัม ต่อผล ผลสุกแก่ เนื้อสีแดงเข้ม รสหวาน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 13-14 องศาบริกซ์ ให้ผลผลิต 6,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ต้านทานโรคไวรัสจุดวงแหวนได้ดี จะแสดงอาการเพียงเล็กน้อยที่ใบ แต่ไม่ปรากฏให้เห็นที่ผล เปลือกหนา ผิวมัน ไม่บอบช้ำง่ายในขณะขนส่ง ด้วยมีขนาดผลเล็กพอเหมาะ

ลักษณะเด่น มะละกอ “ขอนแก่น 80”

มะละกอพันธุ์ขอนแก่น 80 มีการเจริญเติบโตทั่วไปดีและสม่ำเสมอ ดอกแรกบานเมื่ออายุ 74 วัน และติดผลแรกเมื่ออายุ 81 วัน ความสูงของต้นเมื่ออายุ 7 เดือน เฉลี่ย 132 เซนติเมตร ผลแรกเริ่มสุก เมื่ออายุ 7 เดือน หลังย้ายปลูก (ซึ่งมะละกอสายพันธุ์อื่นจะให้ผลผลิตเมื่ออายุ 9-10 เดือน) มีรูปร่างผลสม่ำเสมอเป็นรูปรี ส่วนหัวเล็กก้นป่อง น้ำหนักผลเฉลี่ย 700 กรัม โดยประมาณ

ผลสุกเนื้อสีแดงส้ม รสชาติหวาน หอม อร่อยมาก และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ความหวานเฉลี่ย 13-14 องศาบริกซ์ ผลผลิตเท่ากับ 6,000 กิโลกรัม/ไร่ หรือ 6 ตัน/ไร่ มีความทนทานต่อโรคจุดวงแหวนดี คือ แสดงอาการเหลืองด่างที่ใบ แต่ไม่มีอาการที่ผล

นอกจากนี้ ผลมีผิวเป็นมัน เปลือกหนา จึงทนทานต่อการขนส่งได้ดี เนื้อแน่น และหลังการเก็บเกี่ยวสุกช้ากว่าพันธุ์แขกดำและแขกดำท่าพระ ผลมีขนาดเล็ก เหมาะที่จะผ่าและใช้ช้อนตักรับประทาน เป็นผลไม้ที่มีรสชาติดีมาก มีศักยภาพที่จะเป็นพันธุ์แนะนำและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้าทางเลือกหนึ่งได้

มะละกอสายพันธุ์ขอนแก่น 80 มีคุณภาพดีเด่นกว่าพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ ในกรณีของการบริโภคสุก จะว่าไปแล้ว มะละกอ “ขอนแก่น 80” เมื่อบริโภคสุก มีรสชาติหวาน หอม และอร่อยกว่าพันธุ์เรดมาราดอร์ด้วยซ้ำไป ปัจจุบันทั้งคนไทยและต่างประเทศนิยมรับประทานมะละกอสุกผลเล็ก เนื้อสีแดงหนา มะละกอสายพันธุ์ “ขอนแก่น 80” ที่มีความดีเด่นในด้านความหวานและขนาดของผลที่เล็กกว่า อาจใช้เป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับบริโภคสุก

การเลือกพื้นที่ปลูก

มะละกอพันธุ์ “ขอนแก่น 80” ปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ที่เหมาะสมควรเป็นดินร่วนปนทรายหรือร่วนปนเหนียวที่มีการระบายน้ำดี ต้นมะละกอไม่ชอบน้ำขัง จะทำให้โคนต้นเน่าตายได้ ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลมแรง การทำสวนขนาดใหญ่ควรปลูกไม้กันลมไว้ เช่น ไผ่ กล้วยหิน มะละกอจะเจริญเติบโตได้ดีถ้าได้รับแสงแดดเต็มที่ จึงไม่ควรปลูกถี่หรือชิดเกินไป

การเตรียมดินและการปลูก ไถพื้นที่เพื่อปราบวัชพืช 2 ครั้ง ครั้งแรกไถกลบ ครั้งที่ 2 ไถพรวนย่อยดินให้ร่วน โดยทั่วไปใช้ระยะ 2.5×2.5 เมตร ขุดหลุมสี่เหลี่ยม ผสมดินปากหลุมกับปุ๋ยคอกประมาณครึ่งปี๊บ ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 20 กรัม/หลุม ไม่ควรปลูกลึก จะทำให้รากเน่า ปลูกหลุมละ 2-3 ต้น เมื่อมะละกอแสดงเพศแล้วจึงถอนแยกทีหลัง ให้เหลือต้นกะเทยไว้ หลุมละ 1 ต้น

การเก็บเกี่ยว

เริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 7-8 เดือน ปกตินิยมเก็บเกี่ยวเมื่อต้นอายุได้ประมาณปีครึ่ง ถึง 2 ปี แล้วปลูกใหม่ เนื่องจากต้นจะสูงขึ้น ผลเล็กลง และผลผลิตก็ลดลงเช่นกัน การเก็บเกี่ยวควรใช้กรรไกรหรือมีดตัดขั้วผลให้ติดต้น ไม่ควรบิดผลมะละกอ จะทำให้ขั้วช้ำ และเชื้อราเข้าทำลาย ทำให้ต้นเน่าเสียหายได้ ผลที่ใช้รับประทานสุกควรเก็บเมื่อผิวมีสีส้ม หรือเหลือง ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ผิว