หลังเกษียณ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ปลูกสับปะรดในถุงพลาสติก

“เกษตรหลังเกษียณ” เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะกำลังอยู่ในช่วงเวลาการเกษียณจากงานประจำของหลายท่าน ทั้งในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งท่านที่สนใจงานด้านการเกษตร แม้จะมีเวลาทำงานอีกไม่นาน และหลายท่านที่เกษียณมาแล้ว ซึ่งมีคำถามบ่อยมาก ที่ว่า หลังเกษียณจากงานแล้วจะทำอะไรกันดี โดยเฉพาะด้านการเกษตร เป็นคำถามที่ตอบค่อนข้างยาก

ตรงนี้ผมจะตอบตรงๆ คงไม่ได้แน่ครับ เพราะอาจจะไม่ตรงกับใจ ความคิด หรือความต้องการของทุกคน ซึ่งมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ผู้เขียนเองก็ต้องประเมินตัวเองเหมือนกัน ทั้งๆ ที่จบด้านเกษตร และทำงานคลุกคลีกับภาคเกษตรมาจนเกษียณราชการ แต่ที่ผ่านมาได้สัมผัสกับงานส่งเสริมการผลิตสับปะรดมาโดยตลอด และสับปะรดนั้นเป็นพืชหลักที่สร้างรายได้/กำไร ให้กับคนไทยจำนวนมาก อีกทั้งยังมีข้อได้เปรียบหลายอย่าง จึงได้นำเอาความรู้และประสบการณ์มาปรับใช้ โดยทดลองปลูกสับปะรดในถุงพลาสติก ซึ่งเก็บผลผลิตไปแล้ว 3 รุ่น ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ นำไปพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ครับ

วิเคราะห์ก่อนตัดสินใจ

มีชัยไปกว่าครึ่งทาง

การตัดสินใจทำอาชีพการเกษตรด้านไหน มากหรือน้อยเพียงใด ก็ต้องเกี่ยวข้องกับการลงทุนลงแรงเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ แต่ถ้าทำแล้วควรจะอยู่ได้ และ/หรืออยู่ดี นั่นคือ ทำแล้วมีรายได้พอเลี้ยงกิจกรรมที่ดำเนินการ โดยไม่ต้องชักเนื้อ หรือเสียไปบ้างก็ไม่มาก แต่หากมองอีกมุมว่า กิจกรรมที่เราทำมันชดเชยให้ด้วยความสุขหลังเกษียณ สร้างความสุขให้สมาชิกในครอบครัว และถือว่าเป็นการพักผ่อนในช่วงปลายของชีวิต ตรงนี้มันก็เกินคุ้มค่าเหมือนกันมิใช่หรือ…

สิ่งแรกที่ผมเห็นว่า เป็นเรื่องที่ทุกท่านควรตระหนักและเตรียมพร้อมก่อนที่จะตัดสินใจทำเกษตรกรรมอะไร เพื่อการลงทุนนั้น ควรทำการศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่อาจจะส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อกิจกรรมที่เรากำลังจะทำหลังเกษียณ สถานการณ์ที่ว่านั้นมีหลายด้าน เช่น ตลาด/แหล่งขายหรือรับซื้อผลผลิต กระแสความต้องการของผู้บริโภค กำลังซื้อ กลุ่ม/จำนวนผู้บริโภค เป็นต้น ส่วนกิจกรรมเกษตรก็ต้องดูว่าพืช/สัตว์อะไรที่เหมาะสมหรือมีแนวโน้นที่จะดีต่อไป ปริมาณ/จำนวนที่ออกสู่ตลาด/การวางขาย มีคนทำกันมากน้อยแค่ไหน อะไรที่น่าจะเพิ่ม/ลงทุนได้ เรียกได้ว่า “ต้องรู้เขา รู้เรา” ให้มากพอ ตัวอย่างการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ สองสามปีนี้ฮิตตามกันมากจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร มีทั้งคนที่สำเร็จและคนที่ล้มเหลว ทั้งๆ ที่มีข้อมูลและโมเดลให้เห็นเป็นแบบอย่างมากมาย

ข้อคิดที่นำมาฝากวันนี้ เป็นกรอบพิจารณาที่จะเลือกกิจกรรมเกษตรหลังเกษียณครับว่า 1. เราชอบและสนใจมันจริงๆ หรือเปล่า 2. มีความรู้ ทักษะหรือความชำนาญกับกิจกรรมนั้นๆ ในระดับใด 3. ตั้งวัตถุประสงค์และเป้าหมายของกิจกรรม/อาชีพใหม่ชัดเจนไหม และ 4. มีทุนมากพอในระยะยาวได้แค่ไหน ขอขยายความไปอีกหน่อยนะครับ

1466476894

เรื่องความชอบ เมื่อตอนต้นผมกล่าวว่า แต่ละคนมีความชอบแตกต่างกัน อาจมาจากประสบการณ์ที่ได้กิน ได้พบเห็น ทราบข่าว หรือมีตัวแบบให้ดู เป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความประทับใจและชอบตามมา ตรงนี้เลยอยากจะทำบ้าง ส่วนความรู้และความชำนาญนั้น หากชอบและสนใจแล้ว มันเรียนรู้ได้/ฝึกฝนได้ ยิ่งวัตถุประสงค์กับเป้าหมายชัดเจน จะเป็นแรงผลักดันที่มีพลัง ดังที่เขาพูดกันว่า “ความรู้นั้นอาจเรียนทันกันหมด” อีกสิ่งที่สำคัญมากๆ คือ เงินทุนดำเนินการ โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นของการทำเกษตร ที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนหนึ่งที่เป็นเงินก้อน ในการเตรียมการ อาจเริ่มต้นที่โครงสร้างพื้นฐาน ที่ดิน เครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็น แหล่งน้ำ/ระบบน้ำ พันธุ์พืช/สัตว์ ฯลฯ หากสภาพคล่องไม่ดีพอคงมีปัญหาได้ เพราะกิจกรรมเกษตรกว่าจะออกดอกเห็นผลต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ซึ่งก็ยังต้องใช้ทุนแบบต่อเนื่อง กิจกรรมอาจไม่เป็นไปตามแผนการหรือเป้าหมาย หรือไม่ประสบผลสำเร็จเอาเลยก็ได้ แล้วจะเกิดความท้อแท้หรือไม่ก็เลิกราไปเลย หลายคนที่เกษียณแล้วมาทำเกษตรก็ประสบเหตุการณ์แบบนี้ มันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ เหมือนกัน

ประเด็นที่ว่าจะทำเพื่อพักผ่อน เพียงขอให้มีกิจกรรม ไม่ให้ว่างและแก้เหงา ก็ว่ากันไปอีกแบบหนึ่ง แต่ว่าถ้าจะทำเป็นอาชีพเสริมหรือจริงจัง ตรงนี้ต้องชัดเจนที่วัตถุประสงค์และเป้าหมายในแต่ละกิจกรรม โดยเฉพาะด้านชนิด ปริมาณ และคุณภาพ หลายคนที่เริ่มต้นแบบสมัครเล่น ทำเพื่อพักผ่อน แต่สุดท้ายก็สามารถพัฒนาเป็นการค้า และกลายเป็นมืออาชีพที่ประสบผลสำเร็จ ร่ำรวย มีชื่อเสียง จนเป็นที่ยอมรับในสังคม ก็พอจะมีให้เห็นกันทั่วไปทุกจังหวัด

ความเสี่ยง เป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่คนทำเกษตรต้องพิจารณาและวิเคราะห์ เพราะการเกษตรมีความซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบหลายด้าน ทั้งในระหว่างการผลิต หลังเก็บเกี่ยว และการทำตลาด แค่ในช่วงการผลิตก็ต้องเจอกับสภาพของดินฟ้าอากาศที่มันแปรปรวนมาก โดยเฉพาะช่วงหลังๆ นี้อากาศร้อน แดดจัด ฝนตกน้อยกว่าปกติ มันพันกันไปหมด รวมถึงการระบาดของศัตรูพืชนานาชนิดอีกด้วย จึงต้องไม่ลืมสิ่งเหล่านี้ไป ถามตัวเราว่าพร้อมระดับไหน พร้อมที่จะเดินไปกับการเกษตรหลังเกษียณหรือไม่

 

ปลูกสับปะรด

ในถุงพลาสติกดำ ทำได้ไม่ยาก

ก่อนเกษียณ มีคนมาบอกขายที่นาสัก 4 ไร่กว่าๆ ตัดสินใจซื้อแล้วถม ประมาณ 70 เซนติเมตร เพื่อเอาไว้ทำสวนหลังเกษียณจากงาน แต่ถมดินไม่สูงพอ ในหน้าฝนน้ำใต้ดินค่อนข้างสูงและซึมท่วมผิวดินเปียกชุ่ม ทำให้มีปัญหาการปลูกพืช เพราะน้ำท่วมราก/ทนไม่ไหว ไม่โตและตายในที่สุด ยกเว้นพวกที่ทนต่อน้ำได้ดี เช่น มะม่วง ชมพู่ ไผ่ ยางนา และยูคาลิปตัส ส่วนพืชอย่างอื่นหน้าหนาวต่อแล้งปลูกได้ แต่พอหน้าฝนก็สำลักน้ำตายหมด โดยเฉพาะสับปะรดนั้น ไม่ชอบสภาพดินชื้นแฉะ ระบายน้ำไม่ดี มีปัญหารากจะเน่า/ต้นเน่า มองไปว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ปลูกในกระถางนั้นก็ได้ แต่ต้นทุนมันสูง หากปลูกจำนวนมากก็สู้ไม่ไหว สุดท้าย มาลงตัวที่ถุงพลาสติกดำ ขนาด 8 คูณ 16 นิ้ว ตกราคาใบละ 1.80-2.00 บาท เท่านั้น  

เตรียมดินลงถุง
เตรียมดินลงถุง

งานปลูกสับปะรดเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2556 หลังเกษียณจากงานแล้ว ได้ซื้อต้นพันธุ์สับปะรด เอ็มดี 2 (MD 2) เป็นต้นจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จำนวน 100 ต้น นำมาลงถุงเล็กพักเลี้ยงไว้จนโต ความสูงสัก 30 เซนติเมตร (ประมาณหน่อขนาดเล็ก/กลาง) แล้วนำมาลงปลูกในถุงพลาสติกดำ โดยใช้ดินธรรมดาเป็นดินร่วนปนลูกรัง ผสมกับขี้ไก่ แกลบแห้งที่ผ่านการหมักจนย่อยดีแล้ว สัดส่วนผสมคือ ดินปลูก 3 ส่วน ปุ๋ยขี้ไก่แกลบ 1 ส่วน ผสมให้เข้ากันดี แล้วนำใส่ถุงปลูกที่เตรียมไว้ ใส่จนเกือบเต็ม เว้นพื้นที่ปากถุงไว้สัก 10 เซนติเมตร เพื่อไว้เติมปุ๋ยและกักน้ำช่วงรอการซึมลงในถุง หากใส่ดินจนเต็มถุงเมื่อให้น้ำจะล้นไหลออกหมด เพราะน้ำซึมลงดินในถุงไม่ทัน หลังจากใส่ดินลงถุงแล้ว นำวางเรียงเป็นแถวคู่ ใช้ระยะห่างตามมาตรฐานการปลูกสับปะรดคือ ระยะต้น 30 เซนติเมตร (วางถุงปลูกเกือบชิดกัน) ใช้ระยะแถวคู่ 50-60 เซนติเมตร ทางเดินระหว่างแถวคู่ 80-100 เซนติเมตร หลังจากเตรียมถุงปลูกและจัดถุงปลูกแล้ว รดน้ำให้ดินในถุงปลูกดูว่ามีความชื้นพอดี นำต้นพันธุ์สับปะรดลงปลูก แล้วให้น้ำอีกครั้ง เพื่อให้ดินแน่นยึดต้นสับปะรดได้ดี เพราะรากสับปะรดจะสัมผัสกับดิน ทำให้ตั้งตัวได้เร็วขึ้น ต่อไปก็ให้น้ำเดือนละ 1-2 ครั้ง สำหรับการให้ปุ๋ยเคมีนั้น ได้ใช้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 กับ สูตร 46-0-0 อย่างละ 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 100 ลิตร คนให้ละลายเข้ากันดี แล้วนำไปฉีดพ่นลงต้นสับปะรด (ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ) ประมาณ 200-300 ซีซี/ต้น/ครั้ง ให้ปุ๋ยเดือนละ 1-2 ครั้ง ตามหลังจากการให้น้ำ เพราะดินจะมีความชื้นพอดี สับปะรดจะดูดปุ๋ยได้ดี/รวดเร็วกว่าสภาพดินที่แห้ง

นำหน่อลงปลูก
นำหน่อลงปลูก

สับปะรดมีการเจริญเติบโตที่ดีมาก ใบกว้าง สีเขียวเข้ม โคน (ตะโพก) ใหญ่ พออายุได้ 6-7 เดือน คำนวณน้ำหนักต้นราวๆ 2.5 กิโลกรัม ก็บังคับการออกดอก โดยใช้เอทิลีน (อีเทรล/อีทีฟอน) ชนิด 39.5 เปอร์เซ็นต์ 8-10 ซีซี กับปุ๋ยยูเรีย (สูตร 40-0-0) จำนวน 300 กรัม (3 ขีด) ผสมน้ำ 20 ลิตร นำไปหยอดลงในยอดต้นสับปะรด ต้นละ 70-80 ซีซี เพียงครั้งเดียว หลังหยอดสารเร่งดอกไป 28-35 วัน สับปะรดออกดอกทุกต้น ช่วงระยะดอกแดง-ก่อนดอกบาน ให้น้ำตามปกติ ไม่มีการให้ปุ๋ย จนผลสับปะรดอายุได้ 90-100 วัน ฉีดปุ๋ย สูตร 0-0-60 ที่ความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ (โพแทสเซียมคลอไรด์ 5 กิโลกรัม ผสมน้ำ 100 ลิตร) ต้นละ 300 ซีซี เพื่อสร้างสีเนื้อและความหวาน เป็นการฉีดปุ๋ยครั้งสุดท้าย และเนื่องจากแดดร้อนจัดมาก จึงต้องห่อผลสับปะรดด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ป้องกันผลไหม้ ส่วนการให้น้ำจะหยุดให้ก่อนการตัดผล ประมาณ 1 เดือน สับปะรดรุ่นแรกที่ปลูกลงถุงพลาสติกดำ เมื่อ วันที่ 1 มีนาคม 2557 ถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตชุดแรก เมื่อ วันที่ 29 ธันวาคม 2557 จนถึง วันที่ 4 มกราคม 2558 รวมใช้ระยะเวลาปลูกถึงเก็บผลผลิต ประมาณ 11 เดือนกว่าๆ เท่านั้น รวมเก็บสับปะรดได้ 80 ลูก (หนูกัดกินเสียหาย และต้นเน่าตายไปบ้าง) ได้น้ำหนักเฉลี่ย 1.29 กิโลกรัม/ผล ความหวานระหว่าง 16-17 องศาบริกซ์ เนื้อเหลืองทองสวยงาม รสชาติหวาน กลิ่นหอม ตัวผลรูปทรงกระบอก ผลผลิตจัดว่าใช้ได้ครับ

ระยะเริ่มตั้งตัว
ระยะเริ่มตั้งตัว

การทดลองปลูก รุ่นที่ 2 ปลูกสับปะรดพันธุ์ตราดสีทอง 500 ต้น เป็นหน่อขนาดกลาง ซื้อพันธุ์จากจังหวัดตราด ลงปลูก วันที่ 28 ธันวาคม 2557 วิธีการปฏิบัติต่างๆ เช่น ให้น้ำและปุ๋ยเหมือนกับการปลูกสับปะรด MD 2 รุ่นแรก,บังคับดอกเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 (อายุ 8 เดือน) ด้วยสารเอทิลีน 1 ครั้ง และฉีดปุ๋ย 0-0-60 อีก 1 ครั้ง เมื่อผลสับปะรดมีอายุได้ 90 วัน เริ่มตัดสับปะรดชุดแรก วันที่ 1 มกราคม 2559 จำนวน 280 ลูก และชุดที่ 2 วันที่ 5 มกราคม 2559 จำนวน 174 ลูก รวมเก็บสับปะรดได้ 454 ลูก น้ำหนักอยู่ระหว่าง 800-1,200 กรัม/ลูก (รวมจุกและก้าน) ความหวาน 15-16 องศาบริกซ์ อายุนับจากวันบังคับดอกถึงเก็บเกี่ยว 122-125 วัน (4 เดือนนิดๆ), คำนวณอายุตั้งแต่ปลูกลงถุงถึงเก็บเกี่ยว 12 เดือน 10 วัน, ในรุ่นที่ 2 นั้นยังได้ปลูกสับปะรด MD 2 อีกจำนวน 40 ต้น ช่วงเก็บเกี่ยวมีดแรก 20 ลูก น้ำหนักระหว่าง 1.3-2.2 กิโลกรัม/ลูก ได้น้ำหนักเฉลี่ย 1.65 กิโลกรัม/ลูก ความหวานระหว่าง 16-18 องศาบริกซ์

 

การตอบรับจากลูกค้า ราคาไม่เกี่ยง

ผู้เขียนทดลองทำตลาดผลผลิตสับปะรด MD 2 และ ตราดสีทอง (ตัดจุกและก้านผล) ให้กับลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ ข้าราชการ และร้านอาหารมาตรฐาน โดยขายเป็นลูก (ผล) เบอร์ใหญ่ น้ำหนัก 1.3-1.8 กิโลกรัม/ลูก ขายลูกละ 40-70 บาท ส่วนสับปะรดลูกเล็ก น้ำหนัก 800 กรัม-1 กิโลกรัม ขายในราคา ลูกละ 30-35 บาท หรือ 3 ลูก/100 บาท ส่วนสับปะรดตราดสีทอง ขายกิโลกรัมละ 20-25 บาท พบว่ามีการตอบรับที่ดีมาก ลูกค้ายอมรับด้านคุณภาพและราคาที่ซื้อขายกัน เป้าหมายต่อไปจะขยายจำนวนให้ได้สัก 10,000 ต้น (ประมาณ 2 ไร่)  ตรงนี้หากมีการผลิตเป็นการค้าเชิงพาณิชย์จริงๆ สามารถปรับวิธีการผลิตและการตลาดได้ตามสถานการณ์ของพื้นที่/สถานที่ แต่ละแห่งตามความเหมาะสม

ระยะการเจริญเติบโต
ระยะการเจริญเติบโต

จากการปลูกสับปะรดในถุงพลาสติก ที่ดำเนินการระหว่าง ปี 2557-2559 นั้น ได้พบข้อมูลและข้อคิดหลายด้านที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตสับปะรดเพื่อการค้าหรือสร้างรายได้เสริม โดยข้อสรุปที่สำคัญคือ หากมีการบริหารจัดการและปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม จะสามารถผลิตสับปะรดที่ให้ทั้งปริมาณและคุณภาพตามที่ต้องการ สามารถกำหนดแผนการผลิตได้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ต้นทุนการผลิตที่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะเกษตรกรรายเล็กๆ คนที่มีพื้นที่ไม่มาก พื้นที่ว่างไม่ได้ทำอะไร ชุมชนคนเมือง/หมู่บ้านจัดสรร พื้นที่เกษตรชุ่มน้ำ/น้ำใต้ดินสูง หรือปลูกไว้เป็นองค์ประกอบการตกแต่ง การจัดร้านค้า/กาแฟ สวนสาธารณะ ฯลฯ เหล่านี้สามารถใช้ข้อมูลตรงนี้ไปเป็นแนวคิดในการผลิต (ปลูก) สับปะรดเพื่อเป็นอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มหรือปลูกไว้กินเองก็ได้ทั้งนั้น เพราะทำได้ง่าย เคลื่อนย้าย/ปรับเปลี่ยนการจัดวาง/รื้อถอนได้สะดวก ต้นทุนต่ำ ได้ผลผลิตแน่นอน สามารถควบคุม/จัดการปัจจัยการผลิตที่ใช้ได้มีประสิทธิภาพ ทั้งการให้น้ำ ปุ๋ย ควบคุมวัชพืช การควบคุม/วางแผนการผลิตให้มีคุณภาพ และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตามช่วงเวลาที่ต้องการ เหมาะกับการผลิตผลสับปะรดเพื่อส่งตลาดบริโภคผลสด ซึ่งมีสับปะรดพันธุ์ใหม่ๆ ที่ตลาดต้องการ ในกลุ่มสับปะรด MD 2 ก็มีพันธุ์หอมสุวรรณ, เหลืองสามร้อยยอด, ทรอปิคอล โกลด์, กลุ่มสับปะรดควีน ก็เป็นพันธุ์เพชรบุรี หรือที่รู้จักกันทั่วไปคือ สับปะรดฉีกตา กับพันธุ์ภูแล ส่วนกลุ่มเคยีนนั้นที่นิยมกันตอนนี้ก็เป็นสับปะรดศรีราชา สับปะรดบ้านคา และห้วยมุ่น นอกจากนี้ ยังมีสับปะรดพันธุ์ใหม่ๆ คุณภาพดี รสชาติหวาน ที่รอการเปิดตัวอีกหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์ภูชวา พันธุ์เพชรบุรี 2 และสับปะรดจากประเทศไต้หวัน ซึ่งจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป

ห่อผลป้องกันแสงแดด
ห่อผลป้องกันแสงแดด

สำหรับข้อมูลที่นำมาเสนอครั้งนี้คงจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านและสมาชิกชาวไร่สับปะรดบ้างตามสมควร ผู้ที่สนใจ ประสานข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (089) 095-0035 ครับ