เรียนรู้การทำมะม่วงนอกฤดู ที่สหกรณ์การเกษตรหนองพลับ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงตระหนักว่า ยังมีเกษตรกรชาวไทยที่ยากจนอยู่จำนวนมาก เนื่องจากยังขาดเงินทุนสำหรับประกอบอาชีพ และมีพื้นที่ทำประโยชน์จำนวนน้อย ไม่เพียงพอต่อแรงงานและผลตอบแทนเพื่อการดำรงชีพภายในครอบครัว ประกอบกับประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกษตรดังกล่าวจึงได้เข้าหักร้างถางป่าและเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี อันทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรของประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง

ในปี พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างเสด็จแปรพระราชฐานได้ทรงออกเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โดยเฉพาะอำเภอชะอำ อำเภอหัวหิน และอำเภอท่ายาง พระองค์สนพระราชหฤทัยในโครงการหมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพง ซึ่งอยู่ในคำแนะนำ ส่งเสริมของศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง กรมส่งเสริมสหกรณ์

ทรงเห็นว่าการดำเนินงานช่วยเหลือราษฎรให้มีที่ทำกินและประกอบอาชีพเป็นที่น่าพอพระราชหฤทัย ประกอบกับราษฎรในเขตอำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ขาดที่ทำกิน ทูลขอพระราชทานที่ทำกิน พระองค์สนพระราชหฤทัยบริเวณหุบเขาซึ่งมีพื้นที่อาณาเขตติดต่อในท้องที่ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) จึงมีรับสั่งให้ มจ. ภีศเดช รัชนี ติดต่อกรมพัฒนาที่ดินเพื่อให้สำรวจดิน จำแนกดิน รวมทั้งสำรวจภาวะสังคมของราษฎรในบริเวณท้องที่ดังกล่าว จากผลการสำรวจสามารถดำเนินการในพื้นที่ประมาณ 65,000 ไร่ ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ได้

ในปี พ.ศ. 2513 พระองค์จึงทรงมอบให้กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับส่วนราชการอื่นๆ เป็นคณะกรรมการดำเนินการตามพระราชกระแสรับสั่ง ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก บริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ดินดี เหมาะในการเพาะปลูก ให้ดำเนินการจัดพัฒนาที่ดินให้ราษฎร ส่วนที่ 2 สภาพดินและความอุดมสมบูรณ์ของดินไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก ให้ดำเนินการพัฒนาเป็นที่เลี้ยงสัตว์

สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์การเกษตรเพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดให้มีการศึกษาและอบรมเกษตรกรเหล่านี้เกี่ยวกับหลักและวิธีการของสหกรณ์ในเขตขั้นพื้นฐานจนเห็นว่า เกษตรกรเหล่านี้เข้าใจหลักและวิธีการดังกล่าวได้ดีพอสมควรแล้ว จึงได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนสหกรณ์ให้จดทะเบียนเป็น “สหกรณ์การเกษตรหนองพลับ จำกัด”

การบริหารจัดการพื้นที่ในการใช้ประโยชน์ในรูปแบบสหกรณ์ ราษฎรที่เข้ามาอยู่อาศัยและทำกินจึงได้จัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมา เริ่มต้นมีประมาณ 400 คน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น  900 กว่าคน โดยมีพื้นที่ทำกินครอบครัวละ 25 ไร่ ส่วนหนึ่งสำหรับอยู่อาศัย อีกส่วนเป็นพื้นที่เพาะปลูก ทั้งปลูกพืชหลัก ควบคู่กับพืชอายุสั้นแบบผสมผสาน เช่น พริก มะเขือ เพื่อให้มีรายได้ในระหว่างที่พืชหลักยังไม่ได้ให้ผลผลิต บางรายก็ปลูกควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ทั้งพืชหลักและพืชผัก

บางรายก็เลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงหมู เลี้ยงวัว ปัจจุบัน ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เข้ามาส่งเสริมให้มีการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ และบริหารกิจการภายในครอบครัว เช่น จะไม่ลงทุนเพิ่มหากไม่มีความพร้อมของเงินทุนในการทำการผลิต หมายความว่าต้องมีกำไรจากการขายผลผลิตก่อน แล้วเอากำไรนั้นมาเป็นเงินลงทุนเพิ่มเพื่อเพิ่มผลผลิต ไม่กู้เงินมาเป็นทุนเพื่อเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูก เป็นต้น

ด้าน คุณทัน อุ่นเรือน สมาชิกโครงการ ซึ่งใช้พื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรปลูกมะม่วง เปิดเผยว่า เดิมตนประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน มีรายได้ใช้จ่ายภายในครอบครัวแบบเดือนต่อเดือน ไม่มีเหลือเก็บ จึงหันมาทำการเพาะปลูกอย่างจริงจัง ในพื้นที่ของโครงการ ซึ่งได้รับส่งต่อพื้นที่มาจากครอบครัว เนื่องจากพื้นที่ในโครงการจะไม่สามารถซื้อขายกันได้ แต่สามารถส่งมอบกรรมสิทธิ์ เพื่อการอยู่อาศัยและทำกินได้ภายในครอบครัว โดยปลูกมะม่วง และผลิตเป็นมะม่วงนอกฤดูกาล เช่น พันธุ์เขียวเสวย โชคอนันต์ ฟ้าลั่น เป็นต้น

“มะม่วงนอกฤดูบางปี อย่างโชคอนันต์ ราคากิโลกรัมละ 25 บาท ถือว่าประสบผลสำเร็จ และก็ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ในเรื่องการใช้ปุ๋ย ใช้น้ำอย่างประหยัด ควบคู่กับการใช้ปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตขึ้นมาเองตามที่ได้เข้ารับการอบรมจากวิทยากรด้านการพัฒนาดินที่ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดนำมาให้ ก็สามารถประหยัดและลดต้นทุนได้มาก ทำให้มีกำไรในการขายมะม่วงได้มากขึ้น และทำการผลิตกิ่งพันธุ์มะม่วงจำหน่ายด้วย โดยขายกิ่งละ 25 บาท ทำวันละ 100 กิ่ง ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นวันละ 2,500 บาท นอกเหนือจากขายผลมะม่วง ปัจจุบันนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ลำบากเหมือนเมื่อก่อน” คุณทัน กล่าว

การรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ขึ้นมานั้น คุณทัน เล่าว่า เป็นผลทำให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการมีโอกาสในการทำการเพาะปลูกและจำหน่ายผลผลิตได้มากกว่าแบบต่างคนต่างทำ เมื่อเป็นสหกรณ์ก็สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำการเพาะปลูก เมื่อผลผลิตออกมาก็ใช้ระบบสหกรณ์มาทำการตลาด สามารถตัดพ่อค้าคนกลางที่มักจะกดราคาผลผลิตลงได้ แถมสามารถกำหนดราคาได้เองด้วย ซึ่งพ่อค้าคนกลางที่ต้องการซื้อมะม่วงก็ต้องยอมเพราะหากไม่ยอมก็จะไม่มีมะม่วงไปขายต่อ

เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นที่พระองค์ได้พระราชทานพื้นที่ทำกิน และพระราชทานพระราชดำริโครงการตามพระราชประสงค์หนองพลับ-กลัดหลวง ขึ้นมา ทำให้ประชาชนที่ยากไร้ไม่มีที่ทำกิน กลับมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และนับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนองงานพระราชดำริมาดำเนินการและประสบความสำเร็จ ยังผลให้เกษตรกรสามารถผลิตและขายผลผลิตได้อย่างมีราคาภายใต้ระบบสหกรณ์