เทคนิคติดหลอดไฟ! สูตรเด็ด เร่ง มะยงชิด-มะปรางหวาน ออกลูกดก

มะยงชิด-มะปรางหวาน ของดีนครนายก เป็นสินค้าขายดี เป็นที่ต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นผลหรือกิ่งพันธุ์ เพราะมีจุดเด่นในเรื่องรสชาติหวานและขนาดใหญ่ของผลแล้ว ยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์อีกด้วย ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของมะปรางหวาน มะยงชิด นครนายก ดีเพิ่มขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ เกษตรกรผู้ปลูกมะยงชิด-มะปรางหวาน ของจังหวัดนครนายก ยังประสบความสำเร็จในการเพิ่มคุณภาพผลผลิต โดยใช้เทคนิคติดหลอดไฟ ทำให้เจ้าผลไม้ลูกสีเหลืองทองนี้ออกดอกออกช่อติดผลเยอะๆ ด้วย

เจ้าของแนวคิดดังกล่าว คือ ร.ต.ต. อำนวย หงษ์ทอง ตำรวจวัยเกษียณ อายุ 66 ปี หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ดาบนวย” นายกสมาคมชาวสวนมะปราง จังหวัดนครนายก และได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องมะปรางมะยงชิดขั้นเทพ เพราะปลูกผลไม้ชนิดนี้มานานกว่า 30 ปีแล้ว และเป็นเจ้าของ “สวนนพรัตน์” ตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 10 ชุมชนบ้านดงละคร ตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เนื้อที่เกือบ 50 ไร่ รวมกับอีกแปลงที่อยู่ตำบลสาลิกา อำเภอเมือง ถือเป็นเกษตรกรยุคแรกๆ ที่เริ่มปลูกมะปรางในจังหวัดนครนายก ซึ่งมีไม่กี่ราย

ร.ต.ต. อำนวย หงษ์ทอง

เทคนิคติดหลอดไฟ พบโดยบังเอิญ

ทั้งนี้ โดยธรรมชาติของต้นมะปราง หากไม่เจออากาศหนาว จะไม่แทงช่อดอก ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะต้องมีอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ประมาณ 3-4 วัน จากนั้นอุณหภูมิจะสูงขึ้นเป็น 22-24 องศาเซลเซียส เปลี่ยนจากอากาศหนาวมาเจออากาศอุ่น ต้นมะปรางจึงจะแทงช่อดอกออกมาได้

แต่ ดาบนวย ได้เรียนรู้เทคนิค ติดหลอดไฟที่ช่วยกระตุ้นให้ต้นมะปรางออกดอกเร็วและดกกว่าปกติ ด้วยความบังเอิญ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่สวนนพรัตน์ ได้ติดหลอดไฟ ขนาด 40 วัตต์ แถวโต๊ะม้าหินอ่อน เปิดตั้งแต่ 6 โมงเย็น จนถึงเช้า ทำให้มีแสงสว่างไปกระทบถูกกิ่งพันธุ์ต้นมะปรางที่ปลูกไว้ จำนวน 10 กว่าต้น เกิดแทงช่อดอกออกมา 1-2 กิ่ง ในช่วงหน้าฝน ซึ่งเป็นเรื่องแปลกเพราะโดยทั่วไปช่อดอกจะออกตอนช่วงหน้าหนาวเท่านั้น

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ดาบนวย เล่าให้ฟังคือ ช่วงปลายปี 2559 ลูกน้องเปิดแผงขายขายจึงแขวนหลอดไฟบนกิ่งต้นมะปราง เปิดไฟตั้งแต่ 6 โมงเย็น ถึง 3 ทุ่ม และช่วง ตี 4-6 โมงเช้า พอถึงหน้าฝน ยังไม่เข้าสู่ฤดูหนาว ปรากฏว่าต้นมะปรางดังกล่าวกลับแทงช่อดอกอยู่ต้นเดียว และออกเฉพาะกิ่งที่ถูกแสงไฟ ทำให้รู้ว่า การออกช่อแบบนี้ผิดธรรมชาติ

ดาบนวย จึงเกิดแรงจูงใจ นำแนวคิดดังกล่าวมาทดลองใช้ในสวนนพรัตน์ ครั้งแรกติดหลอดไฟบนต้นมะปราง จำนวน 20 ต้น โดยใส่หลอดไฟไว้ตรงกลางต้นใหญ่ ปรากฏว่าต้นมะปรางแทงช่อดอกไม่เยอะ มีอยู่ 8-9 ต้น ที่แทงช่อเต็มต้น

ต่อมาเพิ่มจำนวนต้นทดลองเพิ่มขึ้นอีก 40 ต้น แต่ละต้นห่างกัน 8×8 เมตร โดยติดหลอดไฟสลับแถวกัน เปิดไฟในบางแถว บางแถวไม่ใช้ไฟ ปรากฏว่าในส่วนมะปรางที่ใช้แสงไฟจะแทงช่อดอกทุกต้น ส่วนแถวต้นมะปรางที่ไม่ใช้ไฟ ไม่แทงช่อดอกแม้แต่ต้นเดียว

ด้วยเหตุนี้ดาบนวยจึงมั่นใจ ว่าเทคนิคการใช้แสงไฟได้ผลดี จึงทดลองติดหลอดไฟอีกรุ่น ห่างกันประมาณไม่เกิน 7 วัน ใช้จำนวนหลอดไฟ 40 หลอด กับต้นมะปราง จำนวน 20 ต้น ติดหลอดไฟต้นละ 2 หลอด เพื่อให้แสงไฟส่องสว่างอย่างทั่วถึง และติดหลอดไฟนานเป็นเดือน ส่งผลให้ต้นมะปรางแทงช่อติดดีมาก ติดเกือบจะทุกกิ่ง

“วิธีติดดวงไฟ เพื่อให้มะปรางออกช่อดอก เป็นการค้นพบโดยบังเอิญ ผมได้ลองผิดลองถูก ทดลองอีก 3-4 รุ่น แต่บางรุ่น ดูแล้วไม่น่าจะดี เพราะอากาศร้อนมาก ทำได้ 10 กว่าต้นที่ออกช่อ จากการสังเกต ปกติช่อดอกช่อหนึ่งจะออกลูก 2-3 ลูก แต่พอใส่ไฟ ทำให้ออกลูกติดผลเป็น 10 ลูกเยอะมากเกิน 3 เท่า ของการออกลูกปกติ ตอนแรกคิดว่าไม่น่าอยู่รอด แต่แม้จะร่วงก็ยังเยอะอยู่ ร่วงประมาณครึ่งหนึ่ง ได้ผลดกมาก กิ่งย้อยลงมา”

สำหรับรสชาตินั้น ดาบนวย ระบุว่า เท่าที่ชิมใช้ได้ และผิวสะอาดใส โรคหนอนและแมลงแทบจะไม่ค่อยมี

ปกติมะปรางมะยงชิด จะออกช่อหน้าหนาว พอแทงช่อแล้ว นับไปอีก 75 วัน จะเก็บผลได้ บวกลบไม่เกิน 5 วัน ถ้าหน้าหนาวจะเป็น 80 วัน หากอากาศร้อนลดลงไปเหลือ 70 วัน เพราะหน้าร้อนลูกจะสุกเร็ว ส่วนหน้าหนาวลูกจะสุกช้า

ทำนอกฤดูเหมือนมะม่วงไม่ได้

ดาบนวย เล่าว่า ช่วงหลายปีมานี้ ทั้งมะปรางและมะยงชิดที่นครนายกไม่ค่อยติดลูก จึงได้ไปปรึกษาขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากอากาศแปรปรวน นอกจากนี้ ยังเคยทดลองเพื่อให้ออกนอกฤดูแบบมะม่วงแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้

เดิมนั้นสวนของดาบนวย ปลูกมะปราง 30% ปลูกมะยงชิด 70% รวมพันกว่าต้น ต่อมาเจอปัญหาไม่ค่อยออกลูกเลยโค่นมะยงชิดปลูกมะปรางแทน เพื่อให้ได้ 50% เท่ากัน โดยปลูกมะปรางพันธุ์ทองนพรัตน์และมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า

นายกสมาคมชาวสวนมะปรางฯ บอกว่า ได้แนะนำให้สมาชิกของสมาคมใช้หลอดไฟติดตรงต้นมะปรางเพื่อให้ออกลูกดก หลายรายทดลองไปทำก็ได้ผลเช่นเดียวกัน ซึ่งเทคนิคนี้เป็นประโยชน์มากในการจัดงาน งานมะยงชิด-มะปรางหวาน ของจังหวัดนครนายก ในปีต่อๆ ไป เพราะสามารถกำหนดการจัดงานล่วงหน้าได้เป็นปี

ตนเองมั่นใจว่า 90% ใช้ได้ผล นอกนั้นขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ อย่างเช่น กำหนดจัดงาน ช่วงวันที่ 10 มีนาคม ก็ให้นับย้อนหลังไป ประมาณ 80 วัน แล้วเปิดไฟพร้อมกัน เพื่อให้ได้ผลผลิตในช่วงเดียวกัน

ดาบนวย แนะนำว่า เทคนิคการติดหลอดไฟ ควรทำเป็นรุ่นๆ เพื่อง่ายต่อการดูแลจัดการ และมีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปกติเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ฝนหมดแล้ว ก็เริ่มติดหลอดไฟรุ่นแรก 100 ต้น ห่างอีก 1 เดือน ก็ทำอีก 100 ต้น โดยติดหลอดไฟประมาณ 25-30 วัน เน้นให้ทุกกิ่งได้รับแสงไฟอย่างทั่วถึง บางต้นอาจจะต้องติดมากกว่า 1 หลอด

แม้เทคนิคนี้ต้องเพิ่มต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้น หากคำนวณต้นทุน กับจำนวนมะปรางที่ติดลูกและขายได้แล้ว ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะเสียค่าไฟหลักหลายพันบาท ขณะที่จะขายมะปรางมะยงชิดได้หลักหลายแสนบาท
สำหรับนครนายกนั้น ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งใหญ่ในการปลูกมะปราง-มะยงชิดหวาน ที่มีคุณภาพ โดยมีพื้นที่ปลูก 8,000 ไร่ แต่ละปีมีผลผลิตประมาณ 1,500-2,000 ตัน มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท

ในส่วนขนาดลูกใหญ่สุด (เท่าไข่ไก่ เบอร์ 0) ไม่เกิน 13 ลูก ต่อกิโลกรัม ขายได้ในราคา กิโลกรัมละ 250-300 บาท บางปีขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 400-450 บาท ในปีที่มีปัญหาแล้งจัด ส่วนเบอร์รองลงมาประมาณ 10 ลูก ขายกิโลกรัมละ 200 บาท นอกจากนั้น ราคากิโลกรัมละ 100-150 บาท ส่วนกิ่งพันธุ์ทั้งมะปรางและมะยงชิด ราคากิ่งละ 200-300 บาท ความสูงประมาIเมตรเศษๆ

เตือน 7-10 วัน อันตราย ช่วงแทงช่อ

ทั้งนี้ มะปรางพันธุ์ทองนพรัตน์ เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรที่นครนายกนิยมปลูกกัน เพราะมะปรางหวานพันธุ์นี้มีจุดเด่น คือ ออกลูกง่าย ใช้เวลาปลูกเพียง 2 ปีเท่านั้น มีรสชาติหวาน และมีผลใหญ่เท่ากับมะยงชิด น้ำหนักเฉลี่ย ประมาณ 10-12 ลูก ต่อกิโลกรัม ทั้งยังมีความต้านทานโรคและแมลงได้ดี ขณะที่มะปรางพันธุ์ทั่วไปจะออกลูกช่วง 3-5 ปี

ดาบนวย แจกแจงว่า แม้จะติดหลอดไฟที่ต้นมะปรางเพื่อให้ออกช่อและออกลูกดกนั้น แต่ในการดูแลรักษาก็ต้องใส่ใจเหมือนเดิม ซึ่งมะปรางและมะยงชิดนับเป็นผลไม้ที่สร้างรายได้ดีและไม่ต้องดูแลมากเหมือนผลไม้อื่นๆ

กรณีผู้ซื้อกิ่งพันธุ์ที่ทาบกิ่งไปปลูก ปกติจะออกช่อประมาณ 3 ปี เขาแนะนำว่า ควรขุดหลุมประมาณ 50 เซนติเมตร ก็พอ จากนั้นใช้ดินผสมกับขี้วัวและแกลบฝังกลบหลุม ถัดมาอีก 3 เดือน ให้ปุ๋ยอีกรอบ หรือถ้าจะใช้ปุ๋ยเคมี ใช้สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ก็ได้ ซึ่งไม่ควรให้ปุ๋ยมากเกินไป เพราะจะทำให้ต้นเฉาตาย และถ้าแดดร้อนเกินไปจะทำให้ใบแห้งไหม้

เรื่องการรดน้ำนั้น ดาบนวย กล่าวว่า หากให้น้ำมากเกินไปจะแฉะ แต่ช่วงปีแรกในการปลูก ต้องให้ดินชุ่มชื้นอยู่เสมอ ต้องดูดินอย่าให้แห้ง พอผ่านไปถึงปี 2 ปี 3 ถึง 7 วัน ก็ให้น้ำสักครั้ง แต่ช่วงปลูกใหม่ๆ ต้องคอยหมั่นดูแล โดยเฉพาะช่วงแตกใบอ่อน ซึ่งอาจจะแตกได้ทั้งหน้าฝนและหน้าแล้ง อาจจะเจอแมลงหรือหนอนมากินใบอ่อน ทำให้ใบโกร๋นและเติบโตช้า

นอกจากนี้ ตอนมะปรางออกช่อ อาจจะเจอปัญหาเพลี้ยไฟหรือหนอนลงมาทำลายช่อ ส่งผลให้ไม่ติดลูก ดังนั้น ต้องหมั่นดูแลช่อ ซึ่งช่วง 7-10 วัน ถือเป็นอันตราย ต้องสังเกตอย่างละเอียด

หากเกิดปัญหาที่ว่าต้องใช้สารเคมีเข้าช่วย จะใช้พวกสารชีวภาพไม่ได้ผล อย่างไรก็ดี สามารถปรึกษาร้านขายปุ๋ยเคมีได้เลย เพราะใช้สารเคมีประเภทเดียวกับมะม่วง

อย่างไรก็ตาม การใช้สารเคมีกำจัดต้องใช้อย่างมีเหตุผล และรู้ระยะเวลาปลอดภัยส่วนเรื่องที่มีเกษตรกรและผู้คนทั่วไป ซื้อกิ่งพันธุ์ มะปราง-มะยงชิด จากนครนายก แล้วไปปลูกตามพื้นที่ต่างๆ นั้น ดาบนวย บอกว่า อย่างไรเสียรสชาติและคุณภาพก็คงไม่อร่อยเหมือนปลูกที่นครนายกแน่นอน เพราะอากาศและดินแตกต่างกัน เนื่องจากตำบลดงละคร มีระดับน้ำใต้ดินต่ำกว่า 10 เมตร นั่นเอง

สนใจไปชมสวนนพรัตน์ ของ ดาบนวย (ร.ต.ต. อำนวย หงษ์ทอง) หรือซื้อกิ่งพันธุ์ มะยงชิด-มะปรางหวาน ติดต่อได้ที่ โทร. (081) 762-4082 หรือ (093) 113-2694