เกษตรกรตรัง ปลูกสะละสุมาลีได้ผลผลิตดี ช่วยเสริมรายได้ ช่วงราคายางพาราตก

คุณวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง ให้ข้อมูลว่า ตรัง เป็นจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทยที่สำคัญ เพราะมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อ อาหารที่อร่อยจากร้านค้าเจ้าดังหลายร้าน รวมไปถึงการทำเกษตรกรรมหลายอย่าง ที่สำคัญหลักๆ จะเป็นสวนยางพารา ประมาณ 1 ล้านกว่าไร่ รองลงมาเป็นการทำสวนปาล์มน้ำมัน และสวนไม้ผลที่เกษตรกรปลูกเพื่อจำหน่ายภายในจังหวัด ต่อมาเมื่อผลผลิตของยางพาราที่จำหน่ายได้มีราคาลดลง ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดจึงได้มีการเข้ามาดูแลเกษตรกรและส่งเสริมการปลูกพืชผสมผสานมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้จากช่องทางอื่น ที่ไม่ใช่จากการผลิตยางพาราเพียงอย่างเดียว

คุณวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง

ซึ่งการส่งเสริมในเรื่องของการปลูกพืชให้หลากหลายนั้น ได้มีการแนะนำให้เกษตรกรไม่ทำเกษตรเชิงเดียวเพียงอย่างเดียว แต่มีการปลูกพืชหลายชนิดเพิ่มขึ้น เช่น การปลูกกล้วย สับปะรด และพืชผักสวนครัวอื่นๆ ภายในสวนยางพาราเพื่อให้มีรายได้ช่องทางอื่นในการสร้างรายได้ และเกษตรกรบางรายได้มีการเรียนรู้ในเรื่องของการปลูกสะละที่มีคุณภาพดีจนสามารถสร้างรายได้เสริมควบคู่ไปกับการทำสวนยางพาราได้เป็นอย่างดี

“เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน เกษตรกรเริ่มมีการปรับตัวมากขึ้น มีการทำเกษตรที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดรายได้หลากหลายช่องทาง แทนที่จะมีรายได้จากการทำสวนยางพาราเพียงอย่างเดียว เมื่อเกษตรกรต้องการความช่วยเหลือ และอยากที่จะปลูกพืชชนิดอื่นๆ ให้มีความชำนาญมากขึ้น เกษตรตำบลแต่ละพื้นที่ก็เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจมากขึ้น ว่าการทำเกษตรที่มีการปรับเปลี่ยนนี้มีพี่เลี้ยงคอยดูแล และจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ เหมือนอย่างเกษตรกรต้นแบบท่านหนึ่งที่มีการปลูกสะละเสริมรายได้ มีผลผลิตที่ดี ก็ทำให้แนวคิดของเกษตรกรท่านนี้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ แล้วจะขยายผลต่อไปให้กับพี่น้องเกษตรกรท่านอื่นๆ ในอนาคต” คุณวสันต์ กล่าว

คุณปรีชา มีสุข

คุณปรีชา มีสุข อยู่บ้านเลขที่ 56 หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ได้ทดลองนำสะละพันธุ์สุมาลีมาปลูกบริเวณบ้านของตัวเองจนประสบผลสำเร็จ และสามารถเรียนรู้การบำรุงต้น การผสมเกสร ทำให้มีผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้เกษตรกรรายนี้มีรายได้จากการปลูกสะละเป็นอาชีพเสริมรายได้ควบคู่กับการทำสวนยางพาราได้เป็นอย่างดี

การผสมเกสร

การปรับตัวให้ทันตลาด

เป็นสิ่งสำคัญของการทำเกษตร

คุณปรีชา เล่าให้ฟังว่า ประมาณปี 2559 ราคายางพาราที่จำหน่ายได้เริ่มลดลง ราคาไม่ได้ขยับขึ้นไปเหมือนเมื่อสมัยก่อน จึงทำให้เกิดความคิดว่าอยากจะหาพืชชนิดอื่นเข้ามาปลูกเสริมเพื่อสร้างรายได้ทดแทนการปลูกยางพารา จึงได้ศึกษาในเรื่องของสายพันธุ์สะละที่น่าจะนำมาปลูกในพื้นที่ของเขาเองได้เป็นอย่างดี เพราะสะละเป็นพืชที่สามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปีหากมีการดูแลบำรุงต้นและหมั่นผสมเกสรอยู่เสมอ

“ช่วงแรกพอรู้ว่าต้องการจะปลูกสะละ ก็ได้ไปเรียนรู้จากสวนที่เขาประสบผลสำเร็จ เพราะเราต้องเรียนรู้จากคนที่สำเร็จแล้ว เวลามาเริ่มต้นจะได้ไม่ต้องลองผิดลองถูก โดยการปลูกสะละก็นำต้นลงมาปลูกบริเวณรอบบ้านแทน โดยมีที่ว่างตรงไหนก็เอามาลงปลูกตรงนั้น เพราะช่วยให้เราไม่ต้องโค่นต้นยางพาราทิ้ง ต้นยางปลูกหลายปีกว่าจะได้ผลผลิต จึงเลือกเอาสะละพันธุ์สุมาลีมาปลูกในพื้นที่รอบๆ บ้าน จนประสบผลสำเร็จและจำหน่ายเกิดรายได้มาจนถึงปัจจุบันนี้” คุณปรีชา บอก

หมั่นผสมเกสร

ช่วยให้สะละมีผลผลิตตลอดปี

ในขั้นตอนของการปลูกสะละให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพนั้น คุณปรีชา บอกว่า จะหาซื้อต้นพันธุ์สะละสุมาลีมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ จากนั้นนำมาปลูกลงในบริเวณพื้นที่บ้านให้มีขนาดระยะห่างระหว่างต้น อยู่ที่ 7×7 เมตร ดูแลรดน้ำและใส่ปุ๋ย สูตร 18-4-5 เดือนละ 1 ครั้ง เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน และหลังจากนั้นจึงเปลี่ยนสูตรปุ๋ย เป็นสูตร 16-16-16 และสูตร 13-13-21 สลับกันไปทุก 1 เดือนครั้ง

อายุสะละหลังจากที่ปลูกลงดิน ต้นสะละตัวเมียจะมีเกสรเริ่มบานออกมาให้ผสมได้นั้น จะใช้เวลาประมาณ 18 เดือน หลังจากนั้นนำเกสรของสะละจากต้นตัวผู้มาผสมได้ทันทีในทุกๆ วัน โดยการผสมเกสรตัวผู้กับเกสรตัวเมียสามารถผสมได้ทุกๆ วัน ซึ่งผลสะละที่ผ่านการผสมเกสรแล้วจะเก็บผลผลิตจำหน่ายได้นั้น จะใช้ต้องเวลาดูแลหลังผสมเกสรจนเป็นผล อยู่ที่ 7 เดือนครึ่ง แต่เนื่องจากการผสมเกสรสะละสามารถทำได้ทุกวัน จึงทำให้ผลผลิตสามารถเก็บหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี

“เนื่องจากสะละให้ผลผลิตกับเราตลอดปี เพราะฉะนั้นการบำรุงต้นนี้สำคัญมาก เราต้องใส่ทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีบำรุงอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้ต้นมีความสมบูรณ์ ส่วนในเรื่องของโรคและแมลงศัตรูพืช จะเน้นป้องกันด้วยวิธีธรรมชาติ จะไม่ใช้สารเคมีในการกำจัด จะเน้นดูแลในเรื่องของความสะอาด เพื่อไม่ให้โรคและแมลงต่างๆ เข้ามาทำลายผลผลิตภายในสวนได้ เพราะฉะนั้นการจัดการสวนให้ดี ก็ช่วยลดต้นทุนในการกำจัดโรคและแมลงด้วยสารเคมีได้” คุณปรีชา บอก

จำหน่ายสะละสุมาลี

ราคา 60-70 บาท ต่อกิโลกรัม

เมื่อผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพและสามารถตัดจำหน่ายได้ คุณปรีชา บอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่อยู่ในละแวกเดียวกันที่จะติดต่อซื้อผลผลิตทุกครั้งที่มี จึงทำให้สะละที่มีผลผลิตออกมาจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี และที่สำคัญการใส่ใจในเรื่องของการดูแลใส่ปุ๋ยอยู่เสมอ ทำให้สะละมีผลที่ใหญ่ได้คุณภาพ มีรสชาติดี จนลูกค้าติดใจกลับมาซื้อซ้ำอยู่เป็นระยะ

“ตลาดการขายสะละของผมนี่ไม่ยุ่งยากเลย เนื่องจากสื่อโซเชียลมีเดียกำลังได้รับความนิยม พอผมมีผลผลิตผมก็จะโพสต์ขายอยู่เสมอ ทำให้ลูกค้าหรือเพื่อนในเฟซบุ๊กติดต่อขอซื้อเข้ามา โดยราคาขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 60-70 บาท ทำให้ผมมีรายได้เสริมที่ดีจากการขายสะละ จากที่สังเกตช่วงแรกลูกค้าจะสั่งซื้อไปทดลองไม่มาก พอนานวันรสชาติดี เราผลิตให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ลูกค้ากลับมาสั่งซื้อในปริมาณที่มากกว่าเดิม และซื้อซ้ำอยู่บ่อยๆ ครั้ง” คุณปรีชา บอก

สำหรับการปลูกสะละเป็นอาชีพเสริมควบคู่กับการทำสวนยางพาราในช่วงที่ราคายางพาราตกลงมานี่ คุณปรีชา บอกว่า สามารถสร้างรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี เพราะแทนที่จะรอจำหน่ายยางพาราเพียงอย่างเดียว ยังสามารถทำพืชชนิดอื่นควบคู่ไปได้อีกด้วย ทำให้เกิดรายได้ที่ดี อย่างเช่น การปลูกสะละสุมาลีที่มีผลผลิตตลอดทั้งปี มีรายได้จากการจำหน่าย นำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายหรือเป็นเงินเก็บ

สนใจในเรื่องของการปลูกสะละ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณปรีชา มีสุข หมายเลขโทรศัพท์ 089- 777-1864