ปลูกสะละอินโดฯ ร่วมยาง สร้างรายได้เสริม ที่เมืองตรัง

จังหวัดตรัง ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองยางพารา เมืองขนมเค้ก และเมืองหมูย่าง เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร มีการปลูกยางพาราเป็นอาชีพหลัก ปาล์มน้ำมันเป็นอาชีพรอง ปลูกไม้ผล พืชผักและอื่นๆ รวมทั้งด้านการท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันพบว่าเกษตรกรชาวสวนยางพารามองหาอาชีพเสริมหรืออาชีพทางเลือกเพื่อเสริมรายได้ที่หายไป

1. คุณเสถียร ศิริพันธ์ (ยืนกลาง)

คุณเสถียร ศิริพันธ์ บ้านเลขที่ 74/1 หมู่ที่ 4 ตำบลโพรงจระเข้ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง เรียกขานกันในนาม ลุงขลิก เกษตรกรชาวสวนยางพารา ซึ่งประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เมื่อช่วงปี 2548 จึงมีความคิดที่จะปลูกพืชร่วมยางพารา โดยลุงได้ศึกษาการปลูกพืชร่วมยางพาราและสามารถขายผลผลิตได้ โดยที่มีตลาดรองรับผลผลิตอย่างต่อเนื่อง จึงมีความสนใจ สะละพันธุ์อินโดฯ และได้ศึกษาถึงวิธีการปลูก การดูแลรักษาสะละอินโดฯ อย่างจริงจัง ซึ่งเมื่อ ปี 2548 ลุงได้เดินทางไปซื้อต้นพันธุ์สะละอินโดฯ มาจาก อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ในราคา ต้นละ 10 บาท จำนวน 913 ต้น เป็นต้นตัวเมีย 656 ต้น และต้นตัวผู้ 257 ต้น โดยอัตราส่วนต้นตัวเมียกับต้นตัวผู้ ประมาณ 3 : 1 ปลูกร่วมยางพารา จำนวน 15 ไร่ บริเวณบ้าน ซึ่งยางพาราอายุประมาณ 9 ปี

เป็นสินค้าที่ขายดี

วิธีการปลูก

สะละอินโดฯ ควรปลูกในสภาพดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนปนดินเหนียวที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำดี โดยปลูกระหว่างแถวยางพารา จำนวน 1 แถว ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 1.5-3 เมตร การปลูกขุดหลุมขนาดกว้าง 30-50 เซนติเมตร ลึก 30-50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก หลุมละประมาณครึ่งกิโลกรัม ทิ้งไว้ 7 วัน ก่อนที่จะนำต้นกล้าลงปลูก หลังปลูกแล้วรดน้ำ วันละ 1 ครั้ง เมื่อมีสะละอินโดฯ อายุได้ 2 ปี สะละจะเริ่มออกดอก

2. คุณแพรวพรรณ ทองพิทักษ์ เกษตรตำบล

การช่วยผสมเกสร

การที่สะละสายพันธุ์อินโดนีเซียจะออกผลได้ดีตามที่ต้องการนั้น เกษตรกรจะต้องช่วยผสมเกสร ระหว่างดอกตัวผู้กับดอกตัวเมีย โดยการนำผงเกสรตัวผู้ (สีเหลือง) มาเคาะใส่เกสรตัวเมีย (สีแดง) หรือนำเกสรตัวผู้เคาะใส่ในจานแล้วใช้พู่กันป้ายไปยังเกสรตัวเมีย โดยการผสมเกสรสามารถทำได้ตลอดทั้งวัน เพื่อช่วยให้ติดผลได้ง่ายขึ้น

การตัดแต่งพวงสะละ

ตัดแต่งพวงสะละโดยเด็ดผลที่บิดเบี้ยวทิ้งไป เพื่อให้มีปริมาณผลพอเหมาะ ผลสะละมีความสมบูรณ์ ได้ผลโตตามขนาดที่ต้องการ และป้องกันการขาดของก้านช่อดอก

คุณวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง (ขวา)

วิธีการเก็บเกี่ยว

สามารถเก็บผลผลิตได้หลังจากผสมเกสรแล้ว 6 เดือน หรือ 175-180 วัน เมื่อผลสะละอินโดฯ มีอายุครบตามอายุการเก็บเกี่ยว จะมีผลขนาดใหญ่ มีกลิ่นหอม ควรใช้มีดหรือกรรไกรที่สะอาดตัดเก็บสะละออกมาเป็นช่อโดยระวังไม่ให้ผลหลุดร่วง

ติดผลดีหลังผสมเกสร

ผลผลิตและรายได้ ปี 2563

ปัจจุบัน ทำรายได้ปีละประมาณ 441,304 บาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายสะละ จำนวน 264,400 บาท และรายได้จากการทำสวนยางพารา จำนวน 176,904 บาท

          รายการ            น้ำยางสด           สะละอินโดฯ
    ค่าจ้าง     70,758 บาท     –
    ค่าปุ๋ยหมัก     –     11,200 บาท
    ค่าปุ๋ยเคมี     –     11,650 บาท
    รวมต้นทุนการผลิต     70,758 บาท     22,850 บาท
    ผลผลิต     4,536 กิโลกรัม     5,288 กิโลกรัม
    ราคา     กิโลกรัมละ 39 บาท     กิโลกรัมละ 60 บาท
    รายได้     176,904 บาท     264,400 บาท
    กำไร     106,146 บาท     241,550 บาท

ปัญหาที่พบ

  1. ต้นตัวผู้มีเกสรตัวผู้ไม่เพียงพอในการผสมเกสร

 ข้อเสนอแนะ

  1. มีการใช้เกสรตัวผู้จากพืชตระกูลเดียวกันกับสะละในการผสมเกสร เช่น ระกำ หรือสะละสายพันธุ์อื่นๆ
  2. เก็บเกสรตัวผู้ไว้ในตู้เย็น เพื่อให้สามารถนำมาใช้ผสมเกสรได้ในช่วงที่ขาดแคลน
  3. นำเกสรตัวผู้ผสมกับแป้งก่อนนำไปผสมกับเกสรตัวเมีย เพื่อช่วยให้เกสรตัวผู้ฟุ้งกระจายผสมกับเกสรตัวเมียได้ดีขึ้น
คุณอำนาจ เซ่งเซี่ยง เกษตรอำเภอย่านตาขาว

ล่าสุดเกษตรจังหวัดตรัง คุณวสันต์ สุขสุวรรณ พร้อมด้วยเกษตรอำเภอ คุณอำนาจ เซ่งเซี่ยง และ เกษตรตำบลผู้รับผิดชอบพื้นที่ คุณแพรวพรรณ ทองพิทักษ์ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียน และให้คำแนะนำการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาป้องกันเชื้อราสาเหตุโรคพืช โดยผสมเชื้อสด 1 กิโลกรัม : รำละเอียด 4 กิโลกรัม : ปุ๋ยอินทรีย์ 100 กิโลกรัม โรยรอบโคนต้น ต้นละ 1-2 กิโลกรัม การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้รากพืชนำปุ๋ยเคมีไปใช้ประโยชน์ได้สูงยิ่งขึ้น

สะละอินโดฯ

พร้อมทั้งให้กำลังใจในการทำงานด้านการเกษตรของ คุณเสถียร ศิริพันธ์ เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรบริเวณใกล้เคียง และต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เสริมที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอย่านตาขาว โทร. 075-281-241