“ถาวร ค้ำคูณ” Smart Farmer ลพบุรี เต็งหนึ่งเรื่องปลูกกระท้อนห่อ 35 ปี

“กระท้อนตะลุง” เป็นหนึ่งในไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดลพบุรี ผลผลิตเข้าสู่ตลาดช่วงปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี กระท้อนตะลุงมีคุณภาพดี รสชาติเนื้อและปุยเมล็ดหวาน อร่อยเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ราคากระท้อนผลสดเฉลี่ย 35-120 บาท ต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และขนาดผล กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในพื้นที่ได้เพิ่มมูลค่าทางการตลาดโดยการนำไปแปรรูป อาทิ กระท้อนลอยแก้ว กระท้อนแช่อิ่ม กระท้อนหยี

ผลผลิตกระท้อนปุยฝ้ายที่รอการขาย

ที่มาของ “กระท้อนตะลุง”

กระท้อนตะลุง สินค้า จีไอ

เมื่อ 75 ปีก่อน (ปี พ.ศ. 2489) ปู่พร้อม ยอดฉุน เป็นผู้นำต้นกระท้อน (พันธุ์ทับทิม พันธุ์อีล่า พันธุ์นิ่มนวล) จากจังหวัดนนทบุรี นำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในตำบลตะลุงจนเต็มสวน สวนแห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรี ซึ่งเป็นดินน้ำไหลทรายมูล ดินทรายหวาน ทำให้ได้ผลผลิตคุณภาพดี ถูกใจผู้บริโภค เกษตรกรชาวจังหวัดลพบุรีจึงนิยมปลูกกระท้อนครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ริมแม่น้ำลพบุรี ในอำเภอเมืองลพบุรี คือ ตำบลโพธิ์เก้าต้น ตำบลตะลุง และตำบลงิ้วราย ผลผลิตโดยเฉลี่ย 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่

สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี ร่วมกับหน่วยงานภาคี ผลักดันให้เกิดการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของกระท้อนจังหวัดลพบุรี จนได้รับการรับรองเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในชื่อ “กระท้อนตะลุง” จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2561 ลักษณะเด่นของกระท้อนตะลุง คือ ผลมีรูปทรงกลมค่อนข้างแป้น ผิวนอกเรียบละเอียดและอ่อนนุ่ม มีขนนิ่มขนาดเล็กคล้ายกำมะหยี่ เปลือกบาง เนื้อและปุยเมล็ดค่อนข้างแห้งและนุ่ม รสชาติเนื้อและปุยเมล็ดหวาน และไม่มีรสฝาด ค่าความหวานอยู่ในช่วง 9-16 องศาบริกซ์

กระท้อนปุยฝ้าย

ปัจจุบัน จังหวัดลพบุรีมีพื้นที่ปลูกกระท้อนตะลุง จำนวน 145 ราย ปลูกกระท้อนตะลุง จำนวน 5 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ปุยฝ้าย พันธุ์อีล่า พันธุ์ทับทิม พันธุ์นิ่มนวล และพันธุ์กำมะหยี่ เท่านั้น เนื้อที่ปลูกรวม 319 ไร่ ในพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอเมืองลพบุรี ได้แก่ ตำบลตะลุง ตำบลงิ้วราย และตำบลโพธิ์เก้าต้น

“ถาวร ค้ำคูณ” เกษตรกรสู้ชีวิต

คุณถาวร ค้ำคูณ เกิดในครอบครัวเกษตรกร ทำงานสู้ชีวิตมาตลอด เคยไปรับจ้างทำงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย หลังกลับมาอยู่เมืองไทย คุณถาวรมีปัญหาสุขภาพไม่ค่อยดี คุณตา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งกำนัน ได้แนะนำให้คุณถาวรหันมาทำการเกษตรอยู่ที่บ้านเกิด เริ่มจากปลูกกระท้อน เลี้ยงโคนม ตั้งแต่ ปี 2526 จนถึงปัจจุบัน

คุณถาวร ได้รับฟังข่าวสารทางโทรทัศน์ เรื่องคำสอนของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 เรื่องการทำเศรษฐกิจพอเพียง ยึดหลักทางสายกลาง มีความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน ควบคู่กับการใช้ความรู้คู่คุณธรรม และทำงานตอบแทนคุณแผ่นดินเกิด คุณถาวรตั้งใจทำสวนกระท้อน สวนมะลิตัดดอก โคนม และปลูกชะอมควบคู่กันไป

คุณถาวร หมั่นศึกษาหาความรู้ ประเมินศักยภาพของครอบครัว พบว่า ตนเองมีศักยภาพในการทำสวนกระท้อน และเลี้ยงโคนมได้ดีที่สุด แต่มีปัญหาเรื่องแรงงาน จึงตัดสินใจเลิกเลี้ยงโคนม และหันมาทำสวนกระท้อนอย่างเดียว พร้อมคิดค้นเทคนิคใหม่ๆ ในการดูแลและบำรุงผลกระท้อนให้เป็นที่ต้องการของตลาด

Advertisement

ปี พ.ศ. 2554 เกิดอุทกภัย มีน้ำท่วมสวนนานถึง 3 เดือน แต่สวนของคุณถาวรมีกระท้อนยืนต้นตายเพียง 10 ต้น เท่านั้น จึงเกิดแนวคิดปลูกพืชแซมในสวนกระท้อน เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ลดความเสี่ยงเรื่องราคาผลผลิต ช่วยควบคุมวัชพืชภายในสวน รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวของตนเอง

ลุงแกะ หรือ คุณถาวร ค้ำคูณ

เต็งหนึ่งเรื่องปลูกกระท้อนห่อ 35 ปี

คุณถาวร ประสบความสำเร็จในเรื่องการปลูกกระท้อนห่อ 35 ปี จากรางวัลในการส่งประกวดผลผลิตกระท้อนห่อ (ใช้หลักเกณฑ์ประกวดโดยดูจากลักษณะภายนอก ดังนี้ ขนาด รูปร่างลักษณะ ความสม่ำเสมอ ความสมบูรณ์ และลักษณะภายใน ดังนี้ เปลือก เนื้อ เมล็ด รสชาติของปุย ความหวาน สภาพความสมบูรณ์) ในงานเทศกาลกระท้อนหวานและของดีเมืองลพบุรีต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ ปี 2542-2562

Advertisement

ปัจจุบัน คุณถาวรและภรรยาปลูกดูแลสวนกระท้อนเนื้อที่ 16 ไร่ จำนวน 260 ต้น หลายสายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ปุยฝ้าย พันธุ์อีล่า พันธุ์ทับทิม และพันธุ์นิ่มนวล คุณถาวรพัฒนาสวน พัฒนาดิน รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย พับถุงสำหรับห่อกระท้อนเอง จักตอกเอง ห่อเอง เก็บผลผลิตเอง ขายเอง ด้วยความพากเพียรอดทน พัฒนาสายพันธุ์กระท้อนจนเกิดความสมบูรณ์ สามารถให้ผลผลิตที่ดี จนประสบความสำเร็จและเป็นแบบอย่างที่ดีงาม และมีการปรับเปลี่ยนแนวคิด เนื่องจากมีปัญหาด้านราคา ด้านการตลาด ด้านภัยธรรมชาติ เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน และต้องการใช้พื้นที่ในสวนให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงสนใจที่จะปลูกพืชให้มีความหลากหลายมากขึ้น

นายสุชาติ กลิ่นทองหลาง รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดลพบุรี เยี่ยมชมสวนลุงแกะ

การปลูกดูแลกระท้อน            

คุณถาวร ได้ประยุกต์วิธีการปลูกตั้งแต่เริ่มปลูกจนให้ผลผลิต โดยกระท้อน 1 ต้น ใส่ปุ๋ยคอกผสมปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินบริเวณที่ปลูกตามความต้องการของกระท้อนในระยะนั้น เมื่อโตจะมีระยะที่ต้องใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยแห้ง ทั้งฉีดพ่นทางใบ ใส่โดยตรงทางดิน เมื่อถึงช่วงเวลาจะตัดแต่งกิ่งทำสาว โดยมีวิธีการตัดแต่ง 2 แบบ คือ แบบฝาชีคว่ำ และแบบฝาชีหงาย เพื่อควบคุมแสง ความชื้น มีผลต่อความแข็งแรงของต้นกระท้อน

คุณถาวร ใส่ทั้งปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยแห้ง และปุ๋ยเคมี ตามแผนการผลิต เมื่อถึงอายุช่วงออกดอกจนติดผล จะมีการฉีดยาเชื้อรา ยาเพลี้ยแป้ง ก่อนการห่อผลกระท้อน ตั้งแต่เริ่มห่อ โดยห่อด้วยมือตนเองและภรรยาทุกผล ระหว่างห่อมีการเลือกผลที่ไม่ได้คุณภาพทิ้ง ทำความสะอาดช่อ ใช้ระยะเวลาห่อไปเรื่อยจนครบ 200 ต้น ในระยะเวลาห่อ ก็ห่อไปพร้อมกับขายผลผลิตที่แก่เต็มที่ไปด้วย ทยอยห่อและขายตามแผนที่ตนเองวางแผนการผลิตไว้ ตลอดช่วงอายุการผลิตของกระท้อนแต่ละปีจะไถพรวนวัชพืชทั้งหมด 3 ครั้ง โดยมีการผลิตที่ถูกหลักการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) ทุกขั้นตอน

ลุงแกะกับป้าทองสุข

ด้านการตลาด

คุณถาวร เน้นผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นแม่ค้าเจ้าประจำที่ได้คุยกันไว้ทุกปี และเปิดสั่งจองสินค้าทางโทรศัพท์ โดยผลผลิตกระท้อนจะออกผลผลิตให้เก็บไปขายได้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกจะออกผลผลิตประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน เก็บผลผลิตออกขายช่วงเดือนเมษายน และ ครั้งที่ 2 จะออกผลิตในเดือนธันวาคม เก็บผลผลิตออกขายประมาณช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี มีรายได้เฉลี่ย 1,100,000-1,210,000 บาท ต่อปี

ค่าใช้จ่ายย้อนหลัง 3 ปี ส่วนใหญ่เป็นค่าถุงห่อกระท้อน ค่าปุ๋ยเคมีบางตัว ค่าซื้อดิน ค่าอุปกรณ์แทนบางตัวที่ชำรุด ค่าน้ำมัน ค่าวัตถุดิบในการนำมาทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยแห้ง และสารขับไล่แมลงต่างๆ ตนเองไม่เสียค่าแรงในการจ้างแรงงานใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากใช้แรงงานภายในครอบครัวตนเองเท่านั้น โดยคิดค่าใช้จ่ายย้อนหลัง 3 ปี ประมาณปีละ 100,000 บาท

รถกระเช้าสำหรับห่อผลและเก็บผลกระท้อนทดแทนการใช้บันได

ใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการผลผลิต

คุณถาวร เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า หมั่นศึกษาเรียนรู้ หาความรู้ต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ต และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น

– ซื้อรถกระเช้าจากประเทศญี่ปุ่น มาใช้ในการห่อผลกระท้อนที่อยู่สูง แทนการใช้บันได ซึ่งเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวของสวนกระท้อนในอำเภอเมืองลพบุรี

– ต้นกระท้อนอายุมาก มีขนาดใหญ่ ผลผลิตด้อยคุณภาพ ต้องตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มเพื่อ “ทำสาวกระท้อน” เพื่อส่งเสริมผลผลิตของกระท้อน คุณถาวรประยุกต์ใช้ดูซินคอย (ใช้พ่นเคลือบใต้รถยนต์ป้องกันสนิม) ผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มา ทาแผลต้นกระท้อนหลังจากการตัดแต่งกิ่งกระท้อนทันที

– แก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังภายในสวนช่วงฤดูฝน โดยประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เรื่อง “คลองไส้ไก่” มาจัดการการผลิตภายในสวน เพื่อระบายน้ำให้กระจายรอบพื้นที่ในสวน สร้างความชุ่มชื้น และลดพลังงานในการรดน้ำในฤดูแล้ง

– การใช้สูตรการเพิ่มดิน (เป็นดินร่วนปนทราย หรือดินที่มีการระบายน้ำและระบายอากาศได้ดี) มาจัดการการผลิตภายในสวนกระท้อนทุกปี ปีละประมาณ 10 เซนติเมตร เพื่อดูแลเรื่องรากของต้นกระท้อน

– การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาเรื่อง “การปลูกพืชแซม” มาจัดการการผลิตภายในสวนเพื่อลดปัญหาวัชพืชภายในสวน และนำกิ่งใหญ่ของกระท้อนหลังจากการตัดแต่งกิ่ง มาทำฟืนใช้ภายในครอบครัว หากเหลือจากใช้ก็รวบรวมขาย เพื่อเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว

– การใช้เทคโนโลยีเรื่องการฝังระบบท่อน้ำใต้ดิน เพื่อควบคุมการเปิด-ปิด ระบบให้น้ำภายในสวน โดยแบ่งโซนการเปิด-ปิด ออกเป็น 11 โซน

– ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน เพื่อบำรุงธาตุอาหารในดินให้ตรงตามความต้องการของต้นกระท้อน ผลิตปุ๋ยหมักเองทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีบางตัว เพื่อใช้ภายในสวน

– ใช้วัตถุดิบสมุนไพรธรรมชาติภายในสวนแทนการใช้สารเคมี เช่น กล้วยสุก เพื่อทำน้ำหมักฮอร์โมนสำหรับปรับปรุงดิน  คิดค้นสูตรสารฝาด สารขับไล่แมลง สารบำรุงต้น บำรุงใบ และบำรุงดิน

– แก้ปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างต้นกระท้อนแต่ละต้นที่เกิดจากความเสียหาย เช่น ตาย โตช้า ทำให้เหลือพื้นที่ ด้วยการปลูกพืชแซม เช่น มะปราง มะยงชิด ฝรั่ง ข่า ฯลฯ

– แก้ปัญหาเรื่องการขาดความชุ่มชื้นภายในสวนกระท้อน ด้วยการติดระบบสปริงเกลอร์ใต้โคนต้นทุกต้น และการขุดคลองไส้ไก่ การใช้เศษใบ กิ่งเล็กหลังการแต่งกิ่ง ทำสาวคลุมใต้โคนต้น เพื่อรักษาความชุ่มชื้นภายในสวน

สํานักงานเกษตรจังหวัดลพบุรีส่งเสริมนำสินค้าตกเกรด แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นกระท้อนอบแห้งและกระท้อนหยี

หากผู้อ่านท่านใดสนใจเรื่องการปลูกกระท้อน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กับ คุณถาวร ค้ำคูณ เจ้าของสวนกระท้อนป้าทองสุข หมู่ที่ 13 ตำบลตะลุง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี โทร. 089-008-9207 หรือ สํานักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี ถนนนารายณ์มหาราช อําเภอเมือง จังหวัดลพบุรี โทร. 036-421-191

ขอขอบคุณสํานักงานเกษตรจังหวัดลพบุรีที่เอื้อข้อมูลและภาพประกอบข่าว 

 

วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2564