ลำไยนอกฤดู ที่สามพันโบก อาชีพสร้างรายได้ของสาววัยเกษียณ มีพ่อค้าแม่ค้า มารับซื้อถึงสวน

อำเภอโพธิ์ไทร เป็นอำเภอหนึ่งที่อยู่ในอุบลราชธานี มีระยะทางห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 96 กิโลเมตร มีแหล่งท่องเที่ยวภายในอำเภอที่หลายๆ คนรู้จัก เช่น สามพันโบก ผาชัน หาดสลึง ฯลฯ และที่สำคัญเป็นอำเภอที่อยู่ริมแม่น้ำโขง

คุณวราภรณ์ วงศ์ประเสริฐ เกษตรอำเภอโพธิ์ไทร ให้ข้อมูลว่า การเกษตรหลักๆ ของเกษตรกรในพื้นที่นี้จะทำนาเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาเป็นมันสำปะหลัง และไม้ผล ซึ่งไม้ผลนับว่ายังเป็นพืชที่ยังไม่ปลูกมากนักของเกษตรกร โดยเกษตรกรบางรายได้ใช้ประโยชน์ของที่ดินที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขงมาช่วยในเรื่องของการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกลำไยให้ออกผลนอกฤดู จึงทำให้ได้ผลผลิตที่ดีสามารถจำหน่ายได้ราคา และเป็นต้นแบบให้กับเพื่อนเกษตรกรรายอื่นได้อีกด้วย

คุณปราณี เขียวสด อยู่บ้านเลขที่ 165 หมู่ที่ 1 ตำบลสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเกษตรกรผู้ปลูกลำไยที่ประสบผลสำเร็จมากว่า 30 ปี โดยเธอจะเน้นให้ผลผลิตออกนอกฤดูจึงทำให้ผลผลิตที่ได้เป็นที่ต้องการของตลาด นับว่าเป็นอาชีพแบบเลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

 

(คนที่ 3 จากขวา) คุณวราภรณ์ วงศ์ประเสริฐ

เตรียมทำสวน ก่อนเกษียณอายุราชการ

คุณปราณี สาววัยเกษียณอัธยาศัยยิ้มแย้มแจ่มใส เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเดิมทีรับราชการเป็นนักวิชาการสาธารณสุข ต่อมาได้มีโอกาสไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่อยู่จังหวัดลำพูน จึงได้พบเห็นสวนลำไยที่อยู่ในภูมิภาคนั้นเป็นที่นิยมกันมาก จึงได้ตัดสินใจอยากที่จะนำมาทดลองปลูกภายในที่ดินของครอบครัวที่ว่างอยู่

“ช่วงนั้นประมาณปี 27 พอเราเห็นเขาทำกันมากที่ภาคเหนือ ก็ติดต่อขอซื้อมาทดลองปลูกประมาณ 200 ต้น เป็นลำไยพันธุ์อีดอก้านยาว ก็ปลูกแบบให้เป็นไม้ผลทั่วไป ที่สามารถเจริญเติบโตได้ในอนาคต เพราะลำไยเป็นไม้ผลที่ต้องใช้เวลาเจริญเติบโตพอสมควร ก็ปล่อยไว้ประมาณ 5 ปี ก็จะเริ่มให้ผลผลิต ซึ่งช่วงนั้นเราก็ทำควบคู่ไปด้วยกับงานประจำที่เราทำอยู่” คุณปราณี เล่าถึงที่มาของการทำสวนลำไย

เมื่อลำไยที่ปลูกทั้งหมดเจริญเติบโตจนให้ผลผลิตได้แล้ว คุณปราณี บอกว่า จึงตอนกิ่งพันธุ์จากต้นเดิมที่มีอยู่ เพื่อขยายให้มีต้นลำไยมากกว่าเดิมที่มีเพียง 200 ต้น

ผลผลิตดกมาก

หลังเก็บผลผลิตแล้ว จะพักต้น 1 ปี

คุณปราณี อธิบายช่วงแรกที่นำต้นลำไยมาปลูกใหม่ๆ ว่า ปลูกให้แต่ละต้นมีระยะห่างอยู่ที่ 8×8 เมตร ภายในหลุมจะรองก้นด้วยปุ๋ยคอกและสารกำจัดปลวกผสมลงไปด้วยเล็กน้อย โดยก่อนที่ลำไยจะให้ผลผลิตได้นั้น ในช่วงนั้นเธอบอกว่าจะปลูกพืชแซมเข้ามาช่วยด้วยคือ มะละกอ เพราะใช้เวลาที่สั้นทำให้สามารถมีเงินมาหมุนเวียนก่อนที่ลำไยจะโตเต็มที่ได้ผล

“ช่วงที่รอผลผลิตโตเราก็ยังอยู่ในงานประจำนะ ยังไม่ได้ออกมาทำ เพราะไม้ผลพวกนี้มันต้องใช้เวลา เราก็เน้นขยายพื้นที่ปลูกเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นลำไย หรือมะขามหวานบ้าง จนทำให้สวนเรามีไม้ผลเยอะ สามารถเก็บผลผลิตขายได้หลากหลาย” คุณปราณี บอก

เนื่องจากพื้นที่สวนปลูกลำไยของคุณปราณีอยู่ใกล้กับแม่น้ำโขง เธอจึงไม่มีปัญหาในเรื่องน้ำที่ใช้รด โดยสามารถเน้นทำผลผลิตลำไยให้ออกนอกฤดูได้ จึงทำให้จำหน่ายได้ราคาดีและสินค้าไม่ล้นตลาด

พื้นที่ภายในสวน

โดยหลังจากที่เก็บผลผลิตจำหน่ายได้หมดทั้งต้นแล้ว คุณปราณี บอกว่า จะตัดแต่งกิ่งทันทีและรดน้ำเพื่อเป็นการพักฟื้นให้กับต้นลำไยประมาณ 1 ปี เมื่อครบระยะเวลาแล้วจึงสำรวจภายในสวนว่า ลำไยสามารถผลิตจำหน่ายได้กี่รุ่น เพื่อไม่ให้ผลผลิตออกซ้ำกันจึงทำให้ผลผลิตมีในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากจนเกินไป

“ช่วงที่เราพักต้นลำไยเป็นเวลา 1 ปี ช่วงนั้นเราก็จะมีการบำรุงต้น ด้วยการใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ในอัตราส่วน 2 กิโลกรัม ต่อต้น ทุก 2 เดือนครั้ง พอครบกำหนดที่เราจะทำให้ออกผลผลิตนอกฤดู เราก็จะเตรียมราดสารก่อนผลผลิตออกประมาณ 6 เดือน เช่น เราจะให้ผลผลิตออกจำหน่ายเดือนตุลาคม เราก็จะราดสารในช่วงเดือนเมษายน หลังจากราดสารได้ 1 เดือน ต้นลำไยก็จะเริ่มออกดอกเพื่อติดผลผลิต” คุณปราณี อธิบาย

ทำผลผลิตนอกฤดู

เมื่อต้นลำไยเริ่มออกดอกให้เห็นบนต้นมากขึ้น คุณปราณี บอกว่า จะดูแลด้วยการฉีดพ่นด้วยแคลเซียม ส่วนในเรื่องของการป้องกันแมลงจะใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่นเพื่อไล่แมลง เมื่อดอกของลำไยเริ่มแตกแขนงออกก็จะฉีดพ่นฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน เพื่อให้ช่อดอกของลำไยมีขนาดที่ยาวมากขึ้น ส่วนการบำรุงต้นก็จะใส่ปุ๋ยสูตรเสมอเหมือนเดิม เมื่อลำไยเริ่มติดลูกเข้าสู่เดือนที่ 4 จึงจะเปลี่ยนสูตรปุ๋ยเป็น 13-13-21 เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 5 ก็จะเปลี่ยนสูตรปุ๋ยอีกครั้งหนึ่งเป็นสูตร 8-24-24 และปุ๋ยสูตร 0-0-60

ออกผลทุกช่อ

เมื่อสามารถทำให้ผลผลิตออกในช่วงเดือนตุลาคมได้แล้ว ก็จะเก็บผลผลิตให้หมดภายใน 1 เดือน หลังจากนั้น ก็จะหมุนเวียนไปเก็บชุดต่อไปที่ทำแบบสลับไว้ให้เก็บผลผลิตให้ได้ 5 รุ่น รุ่นละ 100-150 ต้น ซึ่งแต่ละรุ่นจะให้ผลผลิตประมาณ 15-20 ตัน

การค้ำยันกิ่ง

คุณปราณี บอกว่า เมื่อต้นลำไยมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือโคนล้ม จะป้องกันด้วยการทำที่ค้ำยันให้กับต้นลำไย เพราะเวลาที่มีผลผลิตมากๆ ต้นจะรับน้ำหนักค่อนข้างมาก ดังนั้น ไม้ค้ำยันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยพยุงให้ต้นมีความแข็งแรง

 

มีพ่อค้าแม่ค้า มารับซื้อถึงสวน

ในเรื่องของการทำตลาดลำไยในช่วงแรกนั้น คุณปราณี เล่าว่า ยังไม่เป็นที่รู้จักของพ่อค้าแม่ค้ามากนัก จึงต้องขนผลผลิตที่ได้ใส่รถกระบะไปส่งจำหน่ายเองตามแหล่งรับซื้อ ต่อมาเมื่อเป็นที่รู้จักของพ่อค้าแม่ค้าก็จะมาติดต่อขอซื้อถึงสวนเอง จึงทำให้เวลานี้การจำหน่ายลำไยที่สวนเหมือนของเธอเป็นเสือนอนกินก็ว่าได้

“ผลลำไยที่เราจำหน่ายก็จะแบ่งเป็นหลายเกรด เป็นจัมโบ้กับขนาดใหญ่ ราคาส่งก็จะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 30-33 บาท บางช่วงก็ขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 35 บาท ส่วนเกรดที่ต่ำลงไปกว่านี้ก็จะเป็นไซซ์กลางอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาท ส่วนราคาปลีกที่มีคนมาซื้อก็จะจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท ซึ่งสวนเราก็อยู่ติดกับแหล่งท่องเที่ยวคือ สามพันโบก ก็สามารถจำหน่ายผลผลิตได้เช่นกัน ซึ่งผลผลิตที่ออกก็ยังถือว่าพออยู่ได้ เพราะช่วงแรกๆ เราก็ยังไม่ได้ออกมาดูแลเต็มที่ เพราะยังมีงานประจำที่ทำอยู่ และที่สำคัญเราทำให้ออกนอกฤดู ยังไงก็มีคนมารับซื้อ เพราะแม่ค้าต้องการ เขาก็มาติดต่อขอซื้อถึงสวน ครั้งละ 1 ตัน ก็จะมีให้เขาซื้อไปขายต่อ” คุณปราณี บอกถึงเรื่องราคา

สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการทำสวนลำไย คุณปราณี บอกว่า จะเป็นปัญหาเรื่องแรงงานที่จ้างเก็บและคัดผลผลิต เพราะเดี๋ยวนี้ปัญหาเรื่องแรงงานเป็นปัญหาสำคัญมากของภาคเกษตร โดยเฉพาะชาวสวน ซึ่งในตัวของไม้ผลเองโดยเฉพาะลำไยไม่มีปัญหาในเรื่องการปลูก ซึ่งถ้ามีการจัดการที่ดีก็ถือว่าเป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตดี โดยเฉพาะการบังคับให้ออกผลผลิตนอกฤดูก็สามารถที่จะจำหน่ายได้ราคาดีตามไปด้วย

เรื่องที่สำคัญของการทำให้ออกนอกฤดูคือ น้ำ ซึ่งลำไยจัดว่าเป็นไม้ผลที่ต้องการน้ำมากถ้าต้องการให้ออกนอกฤดู ดังนั้น ผู้ที่สนใจอยากจะปลูกนอกฤดู แต่ถ้าแหล่งน้ำมีไม่เพียงพอก็จะไม่สามารถทำเป็นนอกฤดูเหมือนอย่างเธอได้

“สำหรับคนที่อยากจะทำงานเกษตร ต้องบอกก่อนเลยว่า เรื่องของพื้นที่ก็สำคัญ ถ้ามีพื้นที่ดินกับแหล่งน้ำผลผลิตเราก็จะทำได้ดี โดยเฉพาะลำไยนี่ ถ้าอยากให้ออกนอกฤดู ต้องมีแหล่งน้ำที่เพียงพอ ซึ่งถือว่าสวนเราโชคดีที่อยู่ติดแม่น้ำโขง จึงสามารถนำน้ำมาใช้ได้ตลอดทั้งปี ส่วนคนที่จะทำเกษตรอีกอย่างที่สำคัญคือ เรื่องของใจรัก เพราะถ้าไม่มีใจรัก ก็จะทำออกมาได้ไม่ดีไม่เต็มที่ งานเกษตรจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก แต่ถ้าทำด้วยใจรัก ยังไงมันก็ประสบผลสำเร็จแน่นอน เพราะว่าใจเรามันไปเกินร้อยแล้วที่จะลงมือทำ” คุณปราณี กล่าวแนะนำ

จะเห็นว่างานเกษตรจึงเป็นสิ่งที่ไม่ยากหากเลือกสิ่งที่เหมาะสมให้เข้ากับพื้นที่และความถนัดของผู้ปลูก เหมือนเช่นคุณปราณี ที่ได้ดำเนินการปลูกลำไยเตรียมไว้ก่อนวัยเกษียณของเธอ เมื่อไม้ผลชนิดนี้เจริญเติบโตจึงทำให้เธอสามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายได้ ซึ่งเธอบอกว่าเป็นงานหลังชีวิตเกษียณราชการที่ทำแล้วมีความสุขมาก

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณปราณี เขียวสด หมายเลขโทรศัพท์ (081) 065-1133

ขอบพระคุณ คุณวราภรณ์ วงศ์ประเสริฐ เกษตรอำเภอโพธิ์ไทร พาลงพื้นที่ พบปะเกษตรกร