“โลกร้อน” โจทย์ใหญ่ ส่งผลวงจรไหมอีรี่

หลังจากที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พาสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไหม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ปรากฏว่ามีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ให้ความสนใจในการเลี้ยงไหมอีรี่เป็นอาชีพเสริมมากขึ้น และเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมอีรี่เดิม มียอดการผลิตไหมอีรี่เพิ่มขึ้น เช่น ในเขตพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ มีปริมาณไหมอีรี่มาส่งให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 750 กิโลกรัม ในรอบ 1 เดือนครึ่ง จากเดิมจะมีปริมาณไหมอีรี่ส่งเพียง 200-300 กิโลกรัม

ผศ.ดร. อุไรวรรณ นิลเพ็ชร์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไหม เล่าว่า ขณะนี้มีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังได้สนใจอาชีพเสริมเลี้ยงไหมอีรี่เพิ่มขึ้น โดยมีการขอตัวหนอนไหมอีรี่เพื่อไปเพาะเลี้ยง ซึ่งบางพื้นที่เกษตรกรจะไปขอรับพันธุ์หนอนไหมโดยตรงกับกรมหม่อนไหม อาทิ พื้นที่จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดร้อยเอ็ด เพราะกรมหม่อนไหมจะผลิตไข่ไหมสำหรับแจกเกษตรกร ส่วนพื้นที่ภาคกลางที่ใกล้เคียงจังหวัดนครปฐมก็สามารถขอรับพันธุ์หม่อนไหมได้ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

“ปกติเกษตรกรจะสามารถมาขอรับพันธุ์หม่อนไหมได้โดยเริ่มต้นครั้งแรกของการเลี้ยงหนอนไหมอีรี่ จะให้ไปก่อนราว 10,000 ตัว เพื่อให้เป็นอาชีพเสริมสำหรับเกษตรกรที่เพาะปลูกมันสำปะหลังอยู่แล้ว” ผศ.ดร. อุไรวรรณ เล่า

ความสนใจที่เพิ่มขึ้นในการเลี้ยงไหมอีรี่ของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังนั้นเป็นทิศทางที่ดี ซึ่งเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ แต่ถึงกระนั้นปัญหาและอุปสรรคของไหมอีรี่มีหรือไม่ ทาง ผศ.ดร. อุไรวรรณ บอกว่า มี แต่เป็นปัญหาที่ทางศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไหม ได้เริ่มทำการวิจัยและศึกษาแล้ว

ไข่ไหมอีรี่

ผลประชุมระดับเอเชีย  ภาวะโลกร้อน ส่งผลต่อไหมอีรี่

ปัญหาที่ว่านั้นคือ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลต่ออาหารของหนอนไหมอีรี่ ซึ่งจะกินใบมันสำปะหลัง และใบละหุ่ง เป็นอาหาร แต่ปรากฏว่า เมื่อปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สภาพภูมิอากาศของโลกร้อนขึ้น ส่งผลให้ใบมันสำปะหลังมีใบค่อนข้างแข็งและแห้ง ทำให้ทางศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไหม เริ่มทำการวิจัยถึงใบมันสำปะหลังในช่วงสภาพอากาศร้อนจัด โดยเริ่มในปีนี้เป็นปีแรก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากงาน “การประชุมทางวิชาการด้านหม่อนไหม ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก” เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

ผศ.ดร. อุไรวรรณ เล่าว่า ได้มีโอกาสพบกับนักวิจัยชาวอินเดียและญี่ปุ่น ซึ่งได้ความรู้ว่า หนอนไหมอีรี่มีคุณสมบัติพิเศษคือ หนอนไหมตัวผู้ จะมียีนที่ต้านทานความร้อนได้สูงกว่าหนอนไหมตัวเมีย ส่งผลให้หนอนไหมตัวเมียวางไข่ได้น้อยลงในช่วงฤดูร้อน

“ช่วงฤดูร้อนของทุกปี หนอนไหมอีรี่ตัวผู้จะให้ผลผลิตเยอะเหมือนเดิม แต่หนอนไหมอีรี่ตัวเมียจะมีพฤติกรรมเปลี่ยน คือไม่ค่อยฟักไข่ หรือไม่ค่อยวางไข่ ซึ่งปีนี้ช่วงฤดูร้อนยังพอมีฝนตกให้สภาพอากาศเย็น แต่ต้องรอดูอีกทีในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ โดยทุกๆ ปี มีข้อสังเกตว่า หนอนไหมอีรี่จะอยู่ได้ในสภาพอากาศที่ไม่ร้อนจัด ซึ่งอย่างปีที่แล้ว มีการจัดพื้นที่ให้หนอนไหมอีรี่อยู่ในอุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส” ผศ.ดร. อุไรวรรณ เล่าให้ฟัง

นอกจากนี้ ยังพบว่า ไหมอีรี่ที่เริ่มตั้งแต่เป็นตัวหนอน กินอาหาร จนกระทั่งคายไหมเพื่อให้ผลผลิต และกลายเป็นดักแด้นั้น จากเดิมมีวงจรชีวิต 21 วัน เมื่อเจอสภาพอากาศร้อนจัด วงจรชีวิตเหลือเพียง 17-19 วัน เท่านั้น เพราะฉะนั้นสภาพอากาศที่ร้อนส่งผลให้วงจรชีวิตไหมอีรี่สั้นลง เฉลี่ย 1-2 วัน แต่ในระหว่างวงจรที่สั้นลง ก็พบว่า ไหมอีรี่มีการเติบโตเร็วขึ้นเช่นกัน

เพราะฉะนั้นงานวิจัยด้านไหมอีรี่ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อไป เมื่อต้องเจอโจทย์ใหญ่ โจทย์สำคัญที่ทั่วโลกประสบอยู่ในเวลานี้คือ ภาวะโลกร้อน ที่มีตัวแปรหลักในเรื่องของ “สภาพอากาศ” ของโลกที่ร้อนขึ้นนั่นเอง

ตัวหนอนดักแด้ไหมอีรี่
ไหมอีรี่ กำลังกินใบมันสำปะหลัง

ภาคเอกชนทยอยหนุนไหมอีรี่  สร้างระบบต่อยอดภาคอุตสาหกรรม   

ระหว่างที่งานวิจัยไหมอีรี่ต้องพบกับโจทย์ใหม่ๆ อยู่ในเวลานี้ ก็ปรากฏว่ามีภาคเอกชนรายใหม่ให้ความสนใจนำไหมอีรี่ต่อยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีเพียงบริษัทเดียวในประเทศไทย คือ บริษัท สปันซิลค์ เวิลด์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยมี ดร. ปาจรีย์ คิวเจริญวงษ์ กรรมการผู้จัดการของ บริษัท สปันซิลค์ฯ ทายาท รุ่นที่ 2 ของครอบครัวคิวเจริญวงษ์ นั่งเป็นผู้บริหารดูแลด้านการตลาด

ดร. ปาจรีย์ คิวเจริญวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สปันซิลค์ เวิลด์ จำกัด

ล่าสุดมี 2 บริษัทใหญ่ ร่วมมือกันที่จะผลักดันไหมอีรี่ให้แข็งแกร่งตั้งแต่ภาคการเกษตรไปจนถึงภาคอุตสาหกรรม โดย ผศ.ดร. อุไรวรรณ เล่าว่า ทาง บริษัท จุลไหมไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่จะส่งเสริมการเลี้ยงไหม ให้การสนับสนุนเกษตรกรเลี้ยงไหม และทำสัญญากับ บริษัท จุลไหมไทย ว่าจะมีการส่งไหมให้ ซึ่งจะเป็นการรับประกันความมั่นใจให้กับเกษตรกรไปในตัว และทางภาคเอกชนก็มั่นใจในเกษตรกรว่าจะมีไหมส่งให้แน่นอน จากนั้นเมื่อได้ไหมอีรี่มาแล้ว ทาง บริษัท จุลไหมไทย จะนำไหมอีรี่ที่ได้ส่งต่อให้กับบริษัทอีกแห่ง ซึ่งจะมีโรงงานทอเส้นไหมอีรี่

ไหมอีรี่ต่อยอดในภาคอุตสาหกรรม

“ทาง บริษัท จุลไหมไทย เริ่มส่งพนักงานของบริษัทมาเรียนรู้การเลี้ยงไหมอีรี่ตั้งแต่เริ่มต้น ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อเตรียมสร้างเครือข่ายด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมอีรี่ และนำผลผลิตไปต่อยอดยังภาคอุตสาหกรรม” ผศ.ดร. อุไรวรรณ กล่าว

ใบมันสำปะหลัง

เพราะฉะนั้นเรื่องของไหมอีรี่ยังมีภาคต่อๆ ไปให้ติดตาม ทั้งในแง่ที่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จะได้พี่เลี้ยงจากศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไหม นำตัวหนอนไหมอีรี่ไปเลี้ยงเพื่อให้เกิดรายได้เสริม ขณะที่นักวิจัยเองก็มีเรื่องจะต้องวิจัยกันต่อ โดยเฉพาะผลกระทบเรื่องโลกร้อนที่มีผลต่อวงจรชีวิตของตัวหนอนไหมอีรี่ และลักษณะของใบมันสำปะหลังซึ่งเป็นอาหารสำคัญของไหมอีรี่

เกษตรกรที่สนใจข้อมูล หรือขอพันธุ์หนอนไหมอีรี่ไปเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม ติดต่อได้โดยตรงที่ ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไหม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม