เกษตรกรชุมพร ปลูกทุเรียนอินทรีย์ ทำตลาดออนไลน์ จำหน่ายได้ตลอดปี  

“ทุเรียนอินทรีย์หากเริ่มทำตั้งแต่เล็กจะง่าย เพราะสารชีวภัณฑ์ที่ใช้เป็นสิ่งมีชีวิต ยิ่งใช้ในระยะเวลานานสารเหล่านี้ก็จะแข็งแรงเปรียบเสมือนเป็นเกราะป้องกันโรคและแมลงให้แก่ทุเรียนได้ในระดับหนึ่ง”

คุณอาภรณ์ พรหมมาศ (พี่ภรณ์) เกษตรกรทำสวนทุเรียนอินทรีย์ เจ้าของ เขาอองฟาร์ม อาศัยอยู่ที่บ้านเขาออง อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เล่าว่า ก่อนหน้านี้ตนเองได้ทำสวนทุเรียนเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ การฉีดพ่นสารต่างๆ สามี คุณจเร พรหมมาศ จะเป็นผู้ฉีดพ่นด้วยตนเองทั้งหมด พออายุมากขึ้นเริ่มพบปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยง่ายหายใจหอบเหนื่อย เนื่องจากสารพิษเข้าไปสะสมในร่างกาย จึงมีแนวคิดชักชวนสามีให้ลองเปลี่ยนมาทำสวนทุเรียนอินทรีย์ อาศัยแสวงหาความรู้จากสวนทุเรียนอินทรีย์แปลงต่างๆ ที่เปิดให้เข้าชม ซึ่งกระบวนการทำของแต่ละสวนจะไม่เหมือนกัน บางวิธีเมื่อนำมาปรับใช้อาจไม่ได้ผลจึงต้องทดลองทำเพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสมกับสวนทุเรียนแปลงนี้มากที่สุด

ในช่วงแรกประสบปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากสามีมองว่าการทำเกษตรอินทรีย์ไม่น่าจะประสบความสำเร็จและไม่สามารถเลี้ยงปากท้องได้ กอปรกับทุเรียนภายในแปลงเป็นสายพันธุ์หมอนทองที่มีอายุกว่า 50 ปี ได้รับผลแล้ว ประมาณ 100 ต้น บนเนื้อที่ 17 ไร่ ขาดการดูแลภายหลังจากทำสาร (ทุเรียนนอกฤดู) ส่งผลให้ต้นทุเรียนโทรม ระบบรากเสียหาย เมื่อเปลี่ยนผ่านมาทำทุเรียนอินทรีย์ก็ไม่ได้ฟื้นฟูระบบรากด้วยสารทดแทนสารเคมีจึงพบทุเรียนยืนต้นตายไปส่วนหนึ่ง ผลผลิตในปีแรกแทบจะเสียหายทั้งหมด เพราะต้นทุเรียนยังไม่สามารถปรับตัวได้ ยังคงคุ้นชินกับสารเคมีที่เคยได้รับมาตลอด เพราะฉะนั้นสวนทุเรียนที่ใช้สารเคมีอย่างต่อเนื่องหากต้องการปรับเปลี่ยนเป็นสวนทุเรียนอินทรีย์จะต้องค่อยๆ ทยอยเปลี่ยนผ่านด้วยวิธีฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ทั้งทางใบและทางดิน ผสานกับการเติมปุ๋ยหมักเพิ่มอินทรียวัตถุภายในดินอยู่เสมอเพื่อให้ต้นทุเรียนสามารถปรับตัวได้

เสริมด้วยความเอาใจใส่ในการดูแลแปลงซึ่งยากกว่าการทำสวนทุเรียนเคมีกว่าเท่าตัว เพราะสวนทุเรียนที่เน้นใช้สารเคมีเป็นหลักสามารถหาซื้อสารต่างๆ ทั้งสารกำจัดแมลงและป้องกันโรคพืชยังร้านจำหน่ายเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรได้ทั้งหมด ส่วนการทำทุเรียนอินทรีย์ ตัวเกษตรกรเองจะต้องเตรียมสารชีวภัณฑ์ไว้ล่วงหน้าในการฉีดพ่นทุกครั้งด้วยตนเองทั้งหมด

แต่ก็มีข้อดีอยู่ที่สารชีวภัณฑ์เหล่านั้นไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต จึงสามารถใช้แรงงานภายในครอบครัวในการฉีดพ่นได้ อีกทั้งค่าใช้จ่ายในส่วนของปุ๋ยบำรุงดินก็น้อยลงเพราะทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง แทนที่ปุ๋ยเคมีนับเป็นข้อแตกต่างระหว่างสวนทุเรียนอินทรีย์และสวนทุเรียนเคมีที่เห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อเข้าใจกับกระบวนการผลิตสารชีวภัณฑ์รวมถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้ก็สามารถเริ่มต้นทำได้โดยง่าย ซึ่งหากนับย้อนไปก็เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่เลือกดำเนินชีวิตบนเส้นทางนี้

ปลูกทุเรียนอินทรีย์ ควรเริ่มต้นอย่างไร

ทำสวนทุเรียนอินทรีย์ ควรเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน เตรียมปุ๋ยหมัก หรือน้ำหมักให้พอใช้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะสารชีวภัณฑ์สำหรับฉีดพ่นทางใบจะต้องมีการทำเอาไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน เพื่อให้เพียงพอต่อการฉีดพ่นในแต่ละครั้ง

คุณอาภรณ์ กล่าวว่า ปลูกทุเรียนอินทรีย์ต้องขุดหลุมปลูกให้มีความกว้าง ประมาณ 60-80 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร ใช้กรรมวิธี “ห่มดิน” นำเศษใบไม้ หรือเศษวัชพืชใส่ลงไปในหลุมวางสลับชั้นกันกับมูลสัตว์จำพวกขี้วัว หรือขี้ไก่ และโรยเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าในชั้นบนสุดแล้วนำกระสอบปุ๋ยมาปิดคลุมปากหลุมเอาไว้ วิธีการนี้มีเทคนิคสำคัญอยู่ที่มูลสัตว์และเศษวัชพืชที่วางสลับชั้นกันในหลุมปลูกจะต้องทิ้งระยะเอาไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดจึงลองนำมือหยั่งลงไปในหลุมว่ามีความร้อนหรือไม่ หากพบว่ายังร้อนอยู่ก็ไม่สามารถปลูกได้ ต้องรอให้เย็นตัวลงก่อน หรืออาจใช้วิธีสังเกตวัชพืชบริเวณหลุมปลูกมีการงอกขึ้นมาหรือไม่ หากพบแสดงว่าดินเย็นเหมาะสำหรับการปลูก สามารถนำต้นกล้าทุเรียนลงปลูกได้ แต่ควรปลูกให้ระดับดินปากถุงพ้นจากระดับดินเดิมประมาณครึ่งถุงแล้วพูนดินเสริมเข้าไปให้เท่ากับระดับดินปากถุงก็เป็นอันเสร็จสิ้น

ส่วนการดูแลในช่วงแรกไม่เน้นใส่ปุ๋ยมากนัก เพราะมีการปรุงดินเอาไว้ก่อนแล้วซึ่งพืชจะกินแร่ธาตุจากจุดนี้ เสริมด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ฉีดพ่นเพื่อป้องกันแมลงจำพวกเพลี้ยมากัดกินใบอ่อนทุเรียน สำหรับสารชีวภัณฑ์ที่ใช้เป็นหลักสามารถจำแนกได้  2 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มควบคุมศัตรูพืช (แมลง) ได้แก่ บิวเวอเรีย, เมธาไรเซียม, บาซิลัสทูริงจิเอนซิส (BT) และพาซิโลมัยซิส
  2. กลุ่มป้องกันโรคพืช (เชื้อรา) ได้แก่ บาซิลลัสซับทีลิส (BS), คีโตเมียม และไตรโคเดอร์ม่า

สารชีวภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้นจะเป็นทั้งเชื้อราและแบคทีเรียโดยเฉพาะบิวเวอเรีย และเมธาไรเซียมจะใช้ฉีดพ่นป้องกันเพลี้ย ส่วนพาซิโลมัยซิสจะใช้ฉีดพ่นฆ่าไข่หนอน ตัวอ่อนหนอนทำให้ไข่ฝ่อ ถือเป็นกระบวนการกำจัดแมลงได้อย่างครบวงจร เปรียบเสมือนการตัดวงจรของแมลงศัตรูพืชตั้งแต่ระยะตั้งไข่ เพราะฉะนั้นการดูแลทุเรียนเล็กแบบอินทรีย์จึงไม่ได้ยากอย่างที่คิด อาจฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์กับสารอาหารทางใบในทุกๆ 10 วัน เมื่อต้นทุเรียนเริ่มแตกใบอ่อนให้เห็นแสดงว่ารากเดินต้องการอาหาร จึงเพิ่มธาตุอาหารทางดินเพื่อช่วยให้ต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์มากขึ้น

 

เผยเคล็ดลับ ผลิตน้ำหมัก

ทำสวนทุเรียนอินทรีย์นอกจากฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์เพื่อรักษาใบเป็นประจำแล้ว การเพิ่มธาตุอาหารก็เป็นส่วนสำคัญอีกประการหนึ่ง เขาอองฟาร์ม คิดค้นน้ำหมักสูตรเฉพาะตัวที่ผลิตจากเศษอาหารภายในครัวเรือนถือเป็นการลดต้นทุนในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดูแลต้นทุเรียนได้เป็นอย่างดี

คุณอาภรณ์ กล่าวว่า น้ำหมักที่ใช้ฉีดพ่นทั้งทางดินและทางใบจะเน้นใช้วัตถุดิบที่หาได้จากภายในครัวเรือน หรือ ภายในท้องถิ่นเป็นหลัก สำหรับน้ำหมักสูตรที่ใช้อยู่เป็นเป็นประจำ ได้แก่ น้ำหมักจาวปลวก, น้ำหมักสับปะรด, น้ำหมักปลา, น้ำหมักหน่อกล้วย, น้ำหมักสาหร่ายทะเล, น้ำหมักรกหมู-รกวัว และน้ำหมักมูลค้างคาว

ทั้งนี้ น้ำหมักในแต่ละสูตรอาจมีอัตราส่วนผสมและกำหนดเวลาหมักบ่มที่ไม่ตายตัว เพราะต้องผสมเพิ่มอยู่ตลอดเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานรวมถึงความสะดวกของตัวผู้ทำเอง เช่น น้ำหมักสับปะรด ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหมักสูตรต่างๆ เพื่อช่วยย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ ที่หมักบ่มเอาไว้มีกระบวนการทำไม่ยากนัก เพียงนำเนื้อและเปลือกสับปะรด 60 กิโลกรัม/กากน้ำตาล 20 กิโลกรัม มาใส่ถังขนาด 200 ลิตร เติมน้ำมะพร้าวแท้ หรือน้ำมะพร้าวเทียมพอเสมอขอบถังหมักทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน แล้วกรองเอากากออกเหลือแต่น้ำหมักเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

น้ำหมักปลา มีอัตราส่วนที่ไม่แน่นอนเนื่องจากปริมาณของเศษปลาที่ได้มาในแต่ละครั้งไม่เท่ากัน แต่เน้นใช้อัตราส่วนเศษปลา 60 กิโลกรัม/กากน้ำตาล 20 กิโลกรัม ผสมในถังขนาด 200 ลิตร หมักทิ้งไว้ประมาณ 3-6 เดือน เมื่อครบกำหนดจึงนำมากรองเอากากออก แล้วนำน้ำหมักปลาที่ได้มาผสมกับน้ำมะพร้าวแท้ หรือน้ำมะพร้าวเทียม ในถังขนาด 200 ลิตร อีกครั้งหนึ่ง ด้วยอัตราส่วนน้ำหมักปลา 1 ส่วน/น้ำมะพร้าว 3 ส่วน หมักทิ้งไว้ยิ่งนานยิ่งดี

น้ำหมักหน่อกล้วย ใช้อัตราส่วนผสมเดียวกันกับน้ำหมักปลาแต่จะแตกต่างที่กระบวนการทำ ต้องนำหน่อกล้วยมาสับให้ละเอียดผสมกับกากน้ำตาล พร้อมทั้งใช้น้ำหมักสับปะรดเข้ามาเป็นตัวช่วยในการย่อยสลายหน่อกล้วย

น้ำหมักมูลค้างคาว เหมาะสำหรับใช้ฉีดพ่นทางดิน มีกระบวนการทำไม่ยากนัก เพียงนำมูลค้างคาว จำนวน 50 กิโลกรัม มาใส่ในถังขนาด 200 ลิตร แล้วจึงเติมน้ำมะพร้าวและน้ำหมักสับปะรดลงไปให้เสมอขอบถังเพื่อเป็นตัวช่วยในการย่อยสลาย หมักทิ้งไว้ระยะหนึ่งก็สามารถนำมาใช้ได้

อัตราการใช้น้ำหมักสูตรต่างๆ จะใช้ในอัตราส่วนน้ำหมัก 2-5 ลิตร/น้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นทุเรียนเล็กทุก 3 เดือน ส่วนทุเรียนใหญ่อายุ 6 ปีขึ้นไป จะเน้นฉีดพ่นช่วงระยะทำใบ อย่างไรก็ตาม น้ำหมักที่ฉีดพ่นทางใบไม่ควรนำกากน้ำตาลเข้ามาเป็นส่วนผสม เนื่องจากมีสารบางชนิดที่ไม่ควรนำมาใช้กับใบ หรือผลทุเรียน หากใช้น้ำหมักในปริมาณที่มากเกินไปอาจก่อให้เกิดปัญหาใบเหลือง-ใบไหม้ได้เช่นกัน จึงควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม

ส่วนในกรณีใช้ฉีดพ่นลงดินสามารถใช้น้ำหมักที่มีส่วนผสมของกากน้ำตาลได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในทุกสูตรเพราะไม่เป็นอันตรายต่อต้นทุเรียน น้ำหมักเหล่านี้จะช่วยเร่งรากทุเรียนและช่วยให้ยอดเดินเร็ว เปรียบเสมือนการฉีดพ่นฮอร์โมนจิบเบอเรลลินที่นิยมใช้กันในการทำทุเรียนเคมี ซึ่งจะต้องฉีดพ่นน้ำหมักให้อยู่ตลอดไม่ควรหยุดฉีด เพราะหากหยุดไปทุเรียนจะขาดสารอาหารภายในทันที

 

เพิ่มธาตุอาหารทางดิน

คุณอาภรณ์ กล่าวว่า การเพิ่มธาตุอาหารทางดินช่วยให้พืชได้รับธาตุอาหารหลักอย่างครบถ้วน เขาอองฟาร์ม ได้ผลิตปุ๋ยหมักจากทะลายปาล์มหมุนเวียนไว้ใช้ตลอดปี ในอัตราส่วนทะลายปาล์ม 1 คันรถ 6 ล้อ/มูลไก่ 200 กระสอบ แล้วจึงนำทะลายปาล์มและขี้ไก่มาวางสลับชั้นกัน ใช้น้ำหมักสับปะรดและน้ำหมักปลาราดลงไปให้ชื้นเพื่อช่วยในการย่อยสลายและเพิ่มอินทรียวัตถุ ในกรณีไม่มีทะลายปาล์มก็สามารถใช้อินทรียวัตถุที่สามารถหาได้จากรอบตัว อาทิ เศษหญ้าแห้ง เศษใบไม้ ทางปาล์ม หรือทางมะพร้าว นำมากองรวมกันแล้วราดด้วยน้ำหมัก

เสริมด้วยการใส่มูลเป็ดที่หาได้จากภายในท้องถิ่น มีการโกยออกปีละ 1 ครั้ง ถือเป็นการหมักบ่มจนกลายสภาพเป็นปุ๋ยพร้อมใช้ไปในตัวอยู่แล้ว แนะนำให้ใส่ปุ๋ยทางดินทุกๆ 3 เดือน ด้วยวิธีใส่ปุ๋ยหมักก่อน เมื่อแล้วเสร็จจึงฉีดพ่นจุลินทรีย์เพื่อเป็นตัวช่วยในการย่อยสลายปุ๋ยหมักและเพิ่มอินทรียวัตุในดิน

สำหรับจุลินทรีย์ที่ใช้อยู่เป็นประจำมีขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก อาทิ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง สามารถหาวัตถุดิบได้จากภายในครัวเรือน เพียงนำไข่ไก่ 3 ฟอง, กะปิ 3 ช้อนโต๊ะ, น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ คนส่วนผสมให้เข้ากัน จากนั้นจึงตักแบ่งออกมา 1 ช้อนโต๊ะ เทใส่ลงในขวด ขนาด 1.5 ลิตร ตั้งตากแดดไว้ประมาณ 7 วัน ในระหว่างนี้ต้องคอยเขย่าขวดเพื่อให้จุลินทรีย์ตื่นตัวและคลายฝาขวดออกเพื่อระบายแก๊ส เมื่อครบกำหนดจะมีสีชมพูให้เห็นก็สามารถนำไปใช้ได้

จุลินทรีย์จาวปลวก นำจาวปลวกมาบดให้ละเอียด 1 กิโลกรัม คลุกกับข้าวสวย 5 กิโลกรัม ปั้นเป็นก้อนกลม มัดหุ้มด้วยตาข่ายไนล่อนให้แน่นหนาจากนั้นนำไปใส่ถังพลาสติก เผยอฝาปิดออกเล็กน้อยเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ ทิ้งระยะไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ จะพบฝ้าขาว (เชื้อรา) เกาะอยู่ทั้งก้อน สามารถแบ่งจุลินทรีย์จาวปลวกที่ได้ออกมา 1 กำมือ ไปขยายหัวเชื้อกับน้ำมะพร้าว จำนวน 50 ลิตร ได้อีก 1 รอบ เพื่อเพิ่มปริมาณ นับเป็นภูมิปัญญาในการผลิตสารทดแทนเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าขึ้นใช้เองด้วยจาวปลวกที่สามารถหาได้ทั่วไป

นอกจากนี้แล้วควรฉีดพ่นเชื้อราคีโตเมี่ยมควบคู่กันไปด้วยเพื่อป้องกันและกำจัดเชื้อราที่ส่งผลทำให้เกิดโรคพืชโดยเฉพาะโรครากเน่า-โคนเน่า (ไฟธอปทอรา) เนื่องจากเชื้อราคีโตเมี่ยมมีคุณสมบัติสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่พืชในการป้องกันเชื้อราในระยะยาว อีกทั้งยังสามารถซึมลงไปในดินเข้าทำลายเชื้อราได้ลึกถึง 50 เซนติเมตร อีกด้วย

 

ฉีดพ่นสาหร่ายทะเล เร่งติดดอก

เมื่อทุเรียนอินทรีย์อายุ 5-6 ปี สภาพใบมีความพร้อมสมบูรณ์เต็มที่สามารถเริ่มกระบวนการทำใบเอาลูกได้ด้วยกรรมวิธีฉีดพ่นน้ำหมักเพื่อเร่งให้ต้นทุเรียนแตกตาดอก

คุณอาภรณ์ กล่าวว่า ช่วงเร่งให้ต้นทุเรียนติดดอกเพื่อทำลูกจะเน้นใช้น้ำหมักสาหร่ายทะเลฉีดพ่นทางใบ ในระยะนี้ นับเป็นวัตถุดิบที่หาได้จากธรรมชาติ อาศัยช่วงลมขึ้น (คลื่นลมแรง) พัดพาเอาสาหร่ายทะเลขึ้นมาเกยตื้นบนชายหาดก็ไปเก็บรวบรวมนำมาหมักทิ้งไว้ในถัง ขนาด 200 ลิตร ด้วยกรรมวิธีเดียวกันกับการทำน้ำหมักชนิดอื่นแต่ไม่ต้องเติมน้ำ เนื่องจากน้ำในสาหร่ายทะเลจะซึมออกมาอยู่แล้ว ช่วงทำใบควรฉีดพ่นน้ำหมักสาหร่ายทะเล 3 ครั้ง ในอัตราส่วนน้ำหมักสาหร่ายทะเล 1 ลิตร/น้ำ 200 ลิตร เว้นระยะห่างกัน 5 วัน ก็เริ่มมีตาดอกออกมาให้เห็น ระหว่างนี้ควรบำรุงดินด้วยปุ๋ยหมัก ผสานกับฉีดพ่นจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงและน้ำหมักปลาในอัตราส่วนที่ลดความเข้มข้นลง เพราะหากฉีดพ่นในอัตราเท่าเดิมจะส่งผลให้ดอกทุเรียนฝ่อเหี่ยวหลุดร่วงได้

เมื่อทุเรียนติดลูกต้องฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ควบคุมแมลง 4 วัน/ครั้ง เพราะต้องป้องกันแมลงเข้าทำลายผลทุเรียนจนเสียหายทั้งหมด เนื่องจากสารชีวภัณฑ์เหล่านี้ไม่มีฤทธิ์ฆ่าแมลงในทันทีเหมือนดังเช่นสารเคมี แต่จะเข้าไปหยุดยั้งการเจริญเติบโตของแมลงจนตายลงในที่สุด พร้อมทั้งเพิ่มสารอาหารทางดินเพื่อช่วยบำรุงลำต้นและผลทุเรียนซึ่งจะกินระยะเวลาตั้งแต่ดอกทุเรียนบานจนผลทุเรียนแก่สามารถตัดจำหน่ายได้อยู่ในระยะเวลา 120 วัน

โดยอัตราการติดลูกในต้นทุเรียนอินทรีย์ในแต่ละครั้งอาจไม่สม่ำเสมอเหมือนสวนทุเรียนเคมี หรือการทำทุเรียนนอกฤดูที่สามารถกำหนดให้ต้นทุเรียนติดลูกและได้รับผลผลิตในช่วงระยะเวลาใด แต่ทุเรียนอินทรีย์ที่เขาอองฟาร์มจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดปีละกว่า 7 รุ่น เฉลี่ยคราวละ 2-3 ตัน ช่วยให้มีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปีจนมีคำกล่าวว่า “หากคุณท้องอยากกินทุเรียนให้มาที่เขาอองฟาร์มจะได้กิน” เพราะทุเรียนจากเขาอองฟาร์มได้รับความนิยมจากคุณแม่ที่ต้องการนำไปรับประทานบำรุงครรภ์และสามารถสั่งซื้อเข้ามาได้ตลอดทั้งปีนั่นเอง

 

ตลาดทุเรียนอินทรีย์ ดีหรือไม่

คุณอาภรณ์ กล่าวว่า ผลผลิตทุเรียนอินทรีย์ที่ออกสู่ตลาดในช่วงแรกไม่ได้รับผลตอบแทนเท่าไรนัก เนื่องจากไม่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคจึงประยุกต์นำไปแจกจ่ายให้แก่คนรู้จักและผู้สนใจจนได้กระแสตอบรับที่ดีจากการสื่อสารกันแบบปากต่อปากถึงรสชาติของทุเรียนอินทรีย์ที่มีจุดเด่น คือ ผลกลม แป้นท้ายไม่แหลม เมล็ดลีบ เนื้อเนียนแน่น รสชาติหวานแกมมัน กลิ่นไม่แรง ลูกค้ากลุ่มหลักๆ ที่สั่งซื้อเข้ามา คือ กลุ่มรักสุขภาพ และกลุ่มทั่วไปนิยมซื้อเป็นของฝากให้พ่อแม่-เจ้านาย ผ่านช่องทางออนไลน์เฟซบุ๊ก : เขาอองฟาร์ม/อาภรณ์ พรหมมาศ, ไลน์ : อาภร พรหมมาศ ในสนนราคาเพียงกิโลกรัมละ 250 บาท ยกเว้นทุเรียนหนอนตายผิวจะถูกนำมาแปรรูปเป็นทุเรียนอินทรีย์ทอดเกรดพรีเมี่ยม จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 1,200 บาททุกลูก นับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าอีกช่องทางหนึ่ง

นอกจากนี้แล้วเขาอองฟาร์มยังมีผลผลิตมังคุด ลองกอง รวมถึงพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษไว้คอยให้ผู้สนใจได้เลือกซื้อ การันตีด้วยการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ SDGs PGS จังหวัดชุมพร และรับรองอาหารปลอดภัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดทางการขนส่งในช่วงสถานการณ์โควิด ผนวกกับทุเรียนอินทรีย์นิยมตัดผลสุกที่ 90-95 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ผู้สั่งซื้อสามารถแกะรับประทานได้ภายในทันที หากมีทุเรียนออกมากและไม่มีผู้ซื้อย่อมมีความเสี่ยงต่อการเน่าเสีย สุกหล่นคาต้น ปัจจุบันจึงได้มีการจัดตั้ง “กลุ่มครอบครัวออร์แกนิก” เพื่อรวบรวมสมาชิกเกษตรกรทำสวนทุเรียนอินทรีย์ในจังหวัดชุมพรเข้ามาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน และช่วยกระจายสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ ไปสู่กลุ่มผู้บริโภค

คุณอาภรณ์ ฝากทิ้งท้ายถึงผู้สนใจปลูกทุเรียนอินทรีย์ ว่า

“ทำเกษตรอินทรีย์ให้สำเร็จต้องเริ่มต้นจากปลูกอินทรีย์ในใจเสียก่อน เพราะตราบใดที่ไม่ปลูกอินทรีย์ในใจ เมื่อลงมือทำย่อมล้มเหลวทั้งหมด”

ติดต่อเกษตรกร คุณอาภรณ์ พรหมมาศ (พี่ภรณ์) บ้านเลขที่ 211 หมู่ที่ 8 ตำบลหาดยาย อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร 86110 โทร 084-848-8024, 063-078-8613