เกษตรกรรุ่นใหม่ เผยเทคนิคผลิตกล้วยหอมทองให้ต่างประเทศต้องการ

ตลาดต่างประเทศถือเป็นเป้าหมายใหญ่ที่สำคัญสำหรับผู้ปลูกกล้วยหอม ถึงแม้กล้วยหอมจะปลูกง่ายกว่าพืชหลายชนิด แต่คงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ปลูกกล้วยหอมทุกรายที่จะประสบความสำเร็จจนสามารถนำผลผลิตส่งออกไปขายต่างประเทศได้ เนื่องจากมีเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายประการที่ผู้ปลูกกล้วยส่งออกพึงปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้สารเคมี แมลงและโรคพืช การตรวจคุณภาพและตกแต่ง รวมถึงทางด้านจัดการสวนเป็นพิเศษ ฯลฯ เป็นต้น

งานสัมมนา “กล้วยหอมทอง-กล้วยน้ำว้า” ปลูกกินเองได้ ปลูกขายทำเงิน ครั้งนี้ได้เชิญบุคคลที่มีประสบการณ์แล้วประสบความสำเร็จในการปลูกกล้วยหอมทองจนสามารถส่งขายต่างประเทศ อย่าง คุณสมยศ คำเพ็ง ซึ่งถือว่าเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ใช้แนวคิดแบบภูมิปัญญาชาวบ้านมาประยุกต์เพื่อปลูกกล้วยจนทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศได้อย่างง่าย

ก่อนไปถึงตรงนั้น มาทำความรู้จักกับชายผู้นี้เสียก่อนว่าเป็นใครและมีประวัติเส้นทางการเข้าสู่วงการกล้วยหอมทองอย่างไร

คุณสมยศ คำเพ็ง

คุณสมยศ เรียนจบสายการตลาด จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เคยทำงานประจำอยู่โรงแรม ขณะเดียวกัน ทางครอบครัวพ่อแม่และญาติก็เคยมีอาชีพเกษตรกรรมต่างมีอายุเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนสุขภาพไม่ดีนักเนื่องจากคลุกคลีอยู่กับงานเกษตรกรรมที่เคยทำใช้สารเคมี ดังนั้น เมื่อคุณสมยศผ่านการทำงานได้สัก 10 ปี รู้สึกเบื่อจึงลาออกกลับมาอยู่กับบ้านครอบครัวเพื่อสืบทอดอาชีพเกษตรกรรมต่อเมื่ออายุได้ 28 ปี

ถึงแม้ครอบครัวจะอยู่สายเกษตร แต่ตัวคุณสมยศเองกลับไม่มีพื้นฐานด้านการเกษตรอย่างใด แต่เพราะใจชอบจึงหมั่นศึกษาหาความรู้ ก็เลยทำให้ต้องการเปลี่ยนมาเป็นอาชีพเกษตรกรรมตามที่ตั้งใจไว้

พืชชนิดแรกที่คุณสมยศลงมือคือปลูกมะนาว ได้ปลูกไว้จำนวน 2 ไร่ แต่เพราะความเป็นมือใหม่ ปรากฏว่าเสียหายหมด ขณะเดียวกัน โชคดีได้ปลูกกล้วยหอมแซมมะนาวไว้ จึงนำกล้วยไปขายบริเวณตลาดแถวบ้านทำให้พอมีรายได้บ้าง

การนำกล้วยมาขายที่ตลาดเกษตรทำให้ได้มีโอกาสได้รู้จักกับชาวบ้านอีกหลายคน พร้อมกับได้รับคำแนะนำจากชาวบ้านเหล่านั้นให้มาปลูกกล้วยหอมทองแบบปลอดสารเคมีเพื่อส่งขายที่ญี่ปุ่น เลยทำให้สนใจ แล้วตัดสินใจลงมือปลูกอย่างจริงจังทันที

พอทำชุดแรกปรากฏว่ามีกำไรทันที อีกทั้งการลงทุนปลูกกล้วยหอมไม่มีต้นทุนอะไรมากนัก เพราะเป็นการปลูกด้วยแนวทางแบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่ไม่ต้องใช้สารเคมี แต่เป็นการปลูกแนวอินทรีย์ อย่างไรก็ตาม การปลูกกล้วยหอมที่อำเภอท่ายาง มีลักษณะพื้นที่ราบและการให้น้ำของเกษตรกรมีทั้งแบบสปริงเกลอร์กับแบบขุดร่องแล้วปล่อยน้ำตามร่องที่ขุดเตรียมไว้ ซึ่งที่สวนเลือกการให้น้ำแบบร่องเพราะประหยัดต้นทุนได้มาก

ผู้เข้าสัมมนาต่างให้ความสนใจถ่ายรูปพันธุ์กล้วยที่นำมาแสดงหน้างาน

แปลงแรกปลูกส่งออกได้กำไรดี เพราะมีราคาประกันอยู่จึงทำให้สร้างแรงจูงใจกับชาวบ้าน เพราะสามารถคำนวณรายรับได้ล่วงหน้า ยิ่งถ้ามีการบริหารจัดการได้อย่างประหยัดเท่าไรก็สามารถสร้างผลกำไรได้มากขึ้น

หลังจากประสบความสำเร็จจากชุดแรก จากนั้นจึงลงมือปลูกชุดสองโดยใช้หน่อเดิมและไม่ต้องไถเตรียมดินชุดใหม่ก็ทำให้ช่วยลดต้นทุนได้อีก ฉะนั้น จากเดิมชุดแรกที่ได้กำไรแล้ว พอเข้าชุดสองสามารถทำกำไรได้เพิ่มเป็นเท่าตัว จึงถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ เพราะได้รับการสนับสนุนจากทางสหกรณ์ท่ายางได้เป็นอย่างดี

กล้วยหอมทองใช้พื้นที่ปลูกจำนวน 1 ไร่ สามารถปลูกได้จำนวน 400 ต้น แล้วในกอจะไว้เพียงต้นเดียว ส่วนหน่ออื่นจะตัดออกเพื่อขยายไปปลูกหรือนำไปขาย ขณะนี้ปลูกอยู่จำนวน 2 ไร่ และกำลังขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 5 ไร่

ผู้ร่วมสัมมนาภาคแรก

คุณสมยศ นับเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ปลูกกล้วยในแนวอินทรีย์ เป็นกล้วยหอมทองที่ปลูกแบบไร้สารเคมี เพราะทางลูกค้าที่ญี่ปุ่นจะเข้มงวดมาก คราวนี้มีหลายคนสงสัยว่าถ้าเช่นนั้นจะปลูกอย่างไร หรือถ้าไม่ใช้สารเคมีแล้วจะมีคุณภาพดีจริงหรือ

ต้องบอกว่าทางกลุ่มที่ปลูกกันไม่ได้เน้นขนาด แต่จะเน้นที่รสชาติมากกว่า แต่ที่ทางกลุ่มสามารถทำได้สำเร็จนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ เพราะเมื่อพิจารณาดูแล้วกล้วยหอมทองที่ปลูกแล้วมีคุณภาพดีเยี่ยมจะอยู่ในพื้นที่จำนวน 3 แห่ง คือ ที่ท่ายางเพชรบุรี ที่บ้านแพ้ว และที่เวียดนาม

สำหรับที่ท่ายางจะเกิดจากการที่แม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลมาจากเทือกเขาตะนาวศรีได้นำพาธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชหลายชนิดมาสะสมอยู่ในบริเวณนี้ ขณะเดียวกัน พื้นที่อำเภอท่ายางก็ไม่ใช่ว่าจะปลูกอะไรได้ดีทุกแห่ง เพราะมีบางจุดเท่านั้นที่ได้ประโยชน์เช่นนี้

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านที่รวมกลุ่มรวมทั้งตัวผมก็ได้ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมมาใช้ปลูกกล้วย อย่างหน่อพันธุ์จะใช้แบบแม่สู่ลูก ไม่ได้ใช้เนื้อเยื่อ อีกทั้งจะส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกเฉพาะกล้วยหอมทองเท่านั้น ทั้งนี้ สมาชิกทุกคนจะมีตลาดขายรองรับที่ชัดเจน พร้อมกับได้รับการประกันราคาจากสหกรณ์อีกด้วย

ระยะปลูก 1.50 เมตร คูณ 2 เมตร บริเวณโดยรอบแปลงปลูกจะต้องกำจัดวัชพืชออกให้หมด พอปลูกได้สัก 4 เดือน ใบจะแผ่คลุมดิน จึงทำให้หญ้าลดลง คราวนี้จะต้องตัดแต่งใบออกไปบ้าง เพื่อป้องกันโรคที่จะมาติดใบ ให้ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยอินทรีย์ ที่ทางกลุ่มและสมาชิกทุกรายทำเตรียมไว้ จะใส่เดือนละครั้ง หรือ 3 เดือนครั้ง ทั้งนี้ ปุ๋ยชีวภาพจะเลือกใช้ธาตุอาหารที่เหมาะสมกับกล้วยในแต่ละช่วง อย่างในตอนต้นเล็กต้องการบำรุงต้น ราก และใบให้แข็งแรง จะเลือกใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีไนโตรเจนมาก อย่างมูลวัว มูลหมูใส่รองก้นหลุม จากนั้นในเดือนที่ 4-5 จะใส่ธาตุอาหารที่มีตัว K, P อย่างมูลสัตว์ปีกเข้ามา

อีกประเด็นของการปลูกกล้วยหอมเพื่อลดต้นทุน คือว่าการใช้ไม้ค้ำยันทั้งผลและต้น ซึ่งหากดูแล้วเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้น แต่สำหรับที่สวนของผมจะปลูกไม้รวกไว้บริเวณพื้นที่ เพราะสามารถตัดมาใช้ได้ทันทีที่ต้องการโดยไม่ต้องลงทุนซื้อและจ้างรถบรรทุก ขณะเดียวกัน ยังสร้างความร่มรื่นให้ด้วย

“ที่สหกรณ์ท่ายางทำกล้วยหอมทองส่งขายประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2535 อีกทั้งสมาชิกกลุ่มทุกรายมีความสามารถและความชำนาญที่จะปลูกกล้วยหอมทองได้อย่างมีคุณภาพ พร้อมกันไปกับสมาชิกคนอื่นในกลุ่มที่ยังปลูกไม้ผลชนิดอื่นส่งขายต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ มีจำนวนสมาชิกทั้งหมดอยู่ 3,000 ราย แยกเป็นสมาชิกที่ปลูกกล้วยหอมทองจำนวน 300 ราย ขณะนี้ต้องบอกว่าเพียงแค่ปลูกขายในประเทศยังไม่ค่อยทัน เพราะฉะนั้น มองว่าตลาดกล้วยหอมทองยังก้าวไปได้อีกไกล” คุณสมยศ กล่าว

สอบถามรายละเอียดกล้วยหอมทองได้ที่ คุณสมยศ คำเพ็ง โทรศัพท์ (098) 864-3532

ในคราวหน้าท่านผู้อ่านยังคงพลาดไม่ได้อีก เพราะจะได้รับฟังเรื่องราวการปลูก การดูแล ตลอดจนปัญหา/อุปสรรคพร้อมแนวทางแก้ไขการปลูกกล้วยจากเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมพื้นที่ปทุมธานีมานานกว่า 30 ปี แล้วยังมีบทบาทด้านผู้จำหน่ายอีก ฉะนั้น ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง

หนังสือกล้วยและไม้ผลอื่นๆของสำนักพิมพ์มติชนยังขายดีเหมือนเดิม
ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม