หนุ่มไอทีหัวใจเกษตร ปลูกเมล่อนญี่ปุ่น มะเขือเทศยุโรป ป้อนตลาดออร์แกนิก

“เป้” หรือ คุณภัทรพงษ์ เรียบร้อยเจริญ หนุ่มไอทีวัย 37 ปี ทำงานประจำที่กรุงเทพฯ มานานนับสิบปี ตัดสินใจแบ่งเวลาว่าง มาเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรตามรอยพ่อแม่ ในชื่อ Oppa Farm ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งทอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี คุณเป้ ปลูกเมล่อนญี่ปุ่น มะเขือเทศยุโรป ผักสลัดในระบบเกษตรอินทรีย์ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) และมาตรฐาน Q อาหารปลอดภัยจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรียบร้อยแล้ว สินค้าทุกชนิดขายดีจนผลิตไม่ทันกับความต้องการตลาด

คุณภัทรพงษ์ กับโรงเรือนปลูกผักอินทรีย์แบบยกแคร่

สมัครเข้าโครงการ YSF

“เมื่อ 3 ปีก่อนผมตั้งใจกลับบ้านมาช่วยครอบครัวทำอาชีพเกษตร เพื่อจะมีเวลาว่างดูแลพ่อแม่อย่างใกล้ชิด แต่ผมไม่มีพื้นฐานความรู้เรื่องการทำเกษตรเลย จึงเริ่มต้นขอความรู้เรื่องการทำเกษตรจากพ่อแม่ก่อน หลังจากนั้นเดินเข้ากรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อขอคำแนะนำจากนักวิชาการเกษตรโดยตรง ต่อมาผมสมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer (YSF) ปี 2564 จังหวัดกาญจนบุรี ได้แลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเครือข่ายด้านการตลาดร่วมกับเพื่อนเกษตรกรในท้องถิ่น” คุณเป้ กล่าว

คุณกวินทรากานต์ มาลัยทองแก้วสุภา เกษตรอำเภอท่าม่วง

นางสาวกวินทรากานต์ มาลัยทองแก้วสุภา เกษตรอำเภอท่าม่วง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดโอกาสให้เกษตรกรรุ่นใหม่อายุระหว่าง 17-45 ปี ที่เริ่มต้นทำการเกษตร มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำการเกษตร ต้องการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตตนเอง เข้าร่วมโครงการ Young Smart Farmer เพื่อได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และการสร้างเครือข่าย โดยให้เกษตรกรเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้และออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง” และมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็น “ผู้จัดการเรียนรู้” มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีความสามารถด้านการเกษตร ทดแทนเกษตรกรผู้สูงอายุ และสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาด จนเป็นเกษตรกรมืออาชีพที่เป็นผู้นำทางการเกษตรในท้องถิ่น และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในทุกระดับ ขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรและองค์กรเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง และดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“คุณเป้ เป็นหนึ่งใน YSF ต้นแบบของอำเภอท่าม่วงที่ประสบความสำเร็จในด้านการผลิตและการตลาด โดยเปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ ถ่ายทอดความรู้เรื่องการปลูกผักอินทรีย์ การตลาดและการแปรรูปผักอินทรีย์แก่เกษตรกรและผู้สนใจ รวมทั้งสร้างเครือข่ายเกษตรรุ่นใหม่ที่พร้อมจะก้าวหน้าและพัฒนาอาชีพการเกษตรสู่ความยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน” เกษตรอำเภอท่าม่วง กล่าว

เมล่อนญี่ปุ่น New Orange

ปลูกเมล่อนญี่ปุ่น ในโรงเรือน

เดิมทีครอบครัวคุณเป้ ปลูกผักคะน้า ผักชี กุยช่าย โดยใช้สารเคมี แต่คุณเป้สนใจในการทำเกษตรยุคใหม่ ในรูปแบบผักปลอดสารเคมี หวังให้ลูกค้าได้บริโภคพืชผัก Organic เพื่อสุขภาพที่ดี ภายใต้สโลแกน “อยู่ดี – กินดี – ทำดี – สุขภาพดี”

คุณเป้ ชื่นชอบการบริโภคเมล่อนญี่ปุ่น จึงเริ่มต้นด้วยการปลูกเมล่อนสายพันธุ์ญี่ปุ่น New Orange เนื้อส้ม หวาน กรอบ และเมล่อนพันธุ์กรีนแมน เนื้อสีเขียว รสชาติหวาน ประมาณ 16 บริกซ์ หลังจากผสมเกสรต้นเมล่อนได้ 5 วัน จะคัดลูกเมล่อนที่มีสภาพสมบูรณ์ให้เหลือแค่ 1 ผล ต่อต้น ภายในโรงเรือนติดตั้งระบบการให้น้ำแบบตั้งเวลา ที่นี่ไม่ใช้ปุ๋ยเร่งความหวาน แต่ใช้วิธีการลดน้ำ กระตุ้นให้พืชเปลี่ยนจากแป้งเป็นน้ำตาล ทำให้ผลเมล่อนมีรสหวานโดยวิธีการทางธรรมชาติ ทานไปแล้วไม่รู้สึกหวานแสบคอเหมือนกับการใช้ปุ๋ยเร่งความหวาน

มะเขือเทศสายพันธุ์ยุโรป Solarino

ปลูกมะเขือเทศยุโรป

นอกจากนี้ Oppa Farm ยังปลูกมะเขือเทศสายพันธุ์ยุโรป โดยนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากประเทศเนเธอร์แลนด์ เช่น มะเขือเทศสายพันธุ์ Solarino and Fortesa ซึ่งต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์อย่างเดียวตกเมล็ดละ 15-30 บาทแล้ว หลังจากย้ายต้นกล้าอายุ 1 เดือน เข้ามาปลูกในโรงเรือนซึ่งใช้กาบมะพร้าวเป็นวัสดุปลูก พร้อมติดตั้งระบบน้ำหยด ตั้งเวลาให้น้ำวันละ 6 รอบ ส่วนปุ๋ยให้ตามระยะการเติบโตของพืช

Advertisement

หลังปลูกต้นกล้ามะเขือเทศในโรงเรือนไปได้ 45 วัน ต้นมะเขือเทศเริ่มติดผลสีแดง รอไป 2 สัปดาห์ ก็เริ่มเก็บผลผลิตออกขายในราคากิโลกรัมละ 300 บาท สำหรับต้นมะเขือเทศยุโรปที่ปลูกให้ผลผลิตเฉลี่ยต้นละ 2 กิโลกรัม หากมีการดูแลบำรุงต้นอย่างเหมาะสม สามารถเก็บผลผลิตออกขายได้ต่อเนื่อง 4-5 เดือน ปัจจุบัน มะเขือเทศยุโรปขายดีจนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด เพราะมะเขือเทศสายพันธุ์นี้รสชาติ หวาน อร่อย กินเล่นเพลินๆ เหมือนกินผลไม้ บำรุงผิวพรรณและบำรุงสุขภาพที่ดีทั้งร่างกาย

คุณแม่ของคุณภัทรพงษ์ กำลังเตรียมต้นกล้ามะเขือเทศ

ปลูกผักสลัดยกแคร่

เดิมคุณเป้ปลูกผักสลัดอินทรีย์บนดิน แต่ดูแลจัดการยาก จึงปรับเปลี่ยนมาปลูกผักยกแคร่ในโรงเรือนแทน ปัจจุบันมีโรงเรือนปลูกผักสลัดอินทรีย์ จำนวน 10 โรงเรือน สามารถปลูกผักได้ 30 กิโลกรัม ต่อโรงเรียน ที่นี่ปลูกผักสลัดจำนวน 10 ชนิด โดยผักสลัดที่ขายดีและปลูกจำนวนมาก ได้แก่ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ผักคอส ผักสลัดฟิลเลย์ และผักกาดหอมบัตเตอร์เฮด ขายในราคากิโลกรัมละ 120 บาท สินค้าขายดีจนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด เพราะผัดสลัดอินทรีย์ของ Oppa Farm สด สะอาด ปลอดภัย มีรสหวาน กรอบ อร่อย

Advertisement

“หัวใจของการปลูกผักสลัดอินทรีย์ มีเคล็ดลับสำคัญอยู่ที่การเตรียมดิน ฟาร์มของผมจะปรุงดินขึ้นมาใช้เอง โดยนำต้นกล้วยมาสับหมักกับมูลวัว ปุ๋ยไส้เดือน ผสมกับดินที่เตรียมไว้ พักดินก่อนปลูก 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นรดน้ำหมักผลไม้และปุ๋ยน้ำหมักจากปลา เพื่อปรับปรุงสภาพดินและราดหัวเชื้อไตโคเดอร์ม่าเพื่อป้องกันเชื้อราในดินก่อนนำไปใช้เป็นวัสดุปลูกในโรงเรือน”  คุณเป้ กล่าว

เกษตรอำเภอท่าม่วง เยี่ยมชมโรงเรือนปลูกมะเขือเทศ Oppa Farm

หลังจากนั้นนำต้นกล้าผักสลัดมาปลูกบนแคร่ในโรงเรือนในระยะห่างระหว่างต้น 15 เซนติเมตร ช่วง 7 วันแรกของการปลูก จะติดแผ่นซาแรนช่วยพรางแสงให้กับต้นกล้าก่อน เมื่อต้นกล้าตั้งตัวได้ก็เอาแผ่นซาแรนออกได้ให้พืชได้รับแสงแดดสำหรับใช้สังเคราะห์อาหาร เปิดให้น้ำวันละ 3-4 รอบ ดูจากสภาพอากาศเป็นหลัก

โรงเรือนปลูกมะเขือเทศ

ช่วงเช้าจะฉีดปุ๋ยสังเคราะห์แสงและรดปุ๋ยน้ำหมักจากเหง้ากล้วย ตอนกลางวันจะฉีดปุ๋ยผลไม้ ส่วนตอนเย็นจะฉีดพ่นน้ำหมักสะเดา หรือน้ำหมักหัวหอมเพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืช แปลงปลูกผักสลัดมักเจอปัญหาหนอนผีเสื้อมาวางไข่ ก็จะใช้วิธีเดินสำรวจหาหนอนตอนช่วงกลางคืน เพื่อนำไปทำลาย หากเจอปัญหาเชื้อราจะใช้วิธีฉีดพ่นเชื้อไตโคเดอร์ม่าเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อรา

โรงเรือนปลูกเมล่อนญี่ปุ่น

ทุกวันนี้ มีลูกค้าแวะเวียนเข้ามาซื้อผักสลัดอินทรีย์ถึงหน้าฟาร์ม นอกจากนี้ คุณเป้ยังจำหน่ายสินค้าผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊ก “Oppa Farm” และส่งขายห้างโรบินสัน กาญจนบุรี ตลาดเกษตรของจังหวัดกาญจนบุรี ทุกวันจันทร์-พุธ-ศุกร์

เกษตรอำเภอท่าม่วง นำมวนตัวห้ำมาให้ใช้กำจัดศัตรูพืชในแปลงผักสลัดอินทรีย์
Oppa Farm ผ่านการรับรองมาตรฐาน Q อาหารปลอดภัยจากกระทรวงเกษตรฯ

คุณเป้ ยังร่วมมือกับกลุ่มเพื่อน YSF ตั้งเพจขายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์ จำหน่ายผลผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกรในเครือข่ายอีกด้วย คุณเป้วางแผนขยายกำลังการผลิตมะเขือเทศ เมล่อน และผักสลัดอินทรีย์ เพื่อรองรับความต้องการของตลาด รวมทั้งเปิดร้านค้าจำหน่ายผลผลิตหน้าฟาร์มและพัฒนาฟาร์มแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของท้องถิ่นในอนาคต

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ.2565